posttoday

สำหรับสหรัฐ การละเมิดสิทธิมนุษยชนไม่เคยเกิดขึ้นในอิสราเอล

12 พฤษภาคม 2564

แม้ว่าชาวโลกจะประณามว่าอิสราเอลละเมิดสิทธิมนุษยชนชาวปาเลสไตน์ ทว่าแต่ละปีสหรัฐยังให้เงินช่วยเหลือด้านการทหารให้อิสราเอลหลายพันล้านเหรียญสหรัฐโดยไม่สนคำครหา

โจ ไบเดนมีประวัติสนับสนุนอิสราเอลมาตลอดและเคยประกาศตนชัดเจนว่าตนเป็นไซออนิสต์ (Zionism ผู้สนับสนุนให้ชาวยิวไปตั้งถิ่นฐานในปาเลสไตน์) 

“ผมเป็นไซออนิสต์ คุณไม่จำเป็นต้องเป็นชาวยิวก็สนับสนุนไซออนิสต์ได้” ไบเดนกล่าวเมื่อเดือนเมษายน ปี 2007 ไม่นานก่อนที่เขาจะได้เป็นรองประธานาธิบดีของบารัค โอบามาในปีถัดมา

“ผมชื่อโจไบเดนและทุกคนรู้ว่าผมรักอิสราเอล” และนี่คือประโยคที่ไบเดนเริ่มกล่าวสุนทรพจน์ในงานเฉลิมฉลองวันประกาศอิสรภาพของอิสราเอลประจำปีครั้งที่ 67 ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงเยรูซาเล็มในเดือนเมษายน 2015

"เรารักกัน" เขากล่าวเสริม “และเราปกป้องกันและกัน อย่างที่คุณหลายคนเคยได้ยินผมพูดว่าถ้าไม่มีอิสราเอล อเมริกาจะต้องสร้างขึ้นมาใหม่ เราต้องคิดค้นขึ้นมาเพราะ ... คุณปกป้องผลประโยชน์ของเราเหมือนกับที่เราปกป้องคุณ”

แต่ตอนนี้โจ ไบเดนไม่กล้าแสดงท่าทีอะไรชัดเจนเกี่ยวกับอิสราเอลทั้งๆ ที่สถานการณ์การปะทะระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์รุนแรงถึงขนาดที่จะกลายเป็นสงครามเต็มรูปแบบแล้ว

ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น?

ก่อนอื่นเรามาสรุปความเป็นไปที่เกิดขึ้นกันก่อน คู่แค้นอย่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาสในปาเลสไตน์กลับมาปะทะกันรุนแรงที่สุดอีกครั้งนับตั้งแต่การรบที่ฉนวนกาซาเมื่อปี 2014 โดยชนวนเหตุครั้งนี้มาจากข้อพิพาทที่มีมายาวนานเกี่ยวกับการฟ้องไล่ที่ชาวปาเลสไตน์ที่อาศัยอยู่ในย่านชีค จาร์ราห์ (Sheikh Jarrah) ของเยรูซาเล็มตะวันออก

พื้นที่ย่านชีค จาร์ราห์เป็นพื้นที่ที่ก่อให้เกิดความตึงเครียดระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์หลายครั้ง ฝั่งอิสราเอลมองว่าเยรูซาเล็มทั้งหมดเป็นเมืองหลวงชั่วนิรันดร์และแบ่งแยกไม่ได้ โดยอิสราเอลเข้ายึดพื้นที่เยรูซาเล็มตะวันออก รวมทั้งย่านเมืองเก่า (Old City) เขตเวสต์แบงก์ และฉนวนกาซาในช่วงสงครามอาหรับ-อิสราเอลในปี 1967

ส่วนชาวปาเลสไตน์ต้องการให้พื้นที่เยรูซาเล็มตะวันออกเป็นเมืองหลวงของรัฐในอนาคต แต่การผนวกรวมเยรูซาเล็มตะวันออกของอิสราเอลไม่ได้รับการยอมรับในระดับสากล

เมื่ออิสราเอลผนวกรวมเยรูซาเล็มตะวันออกแล้วก็กำหนดนโยบายที่แบ่งแยกชนชาติอย่างชัดเจน โดยชาวยิวที่เกิดในเยรูซาเล็มตะวันออกถือเป็นพลเมืองของอิสราเอล ขณะที่ชาวปาเลสไตน์ได้สิทธิ์เพียงผู้พำนักถาวรซึ่งจะถูกเพิกถอนหากบุคคลดังกล่าวอาศัยอยู่นอกเยรูซาเล็มตะวันออกเกินกำหนด ซึ่งไม่ต่างจากการจำกัดการเดินทางของชาวปาเลสไตน์

แม้ว่าชาวปาเลสไตน์กลุ่มนี้จะขอสิทธิ์เป็นพลเมือง แต่ส่วนใหญ่เลือกไม่ขอดีกว่า เนื่องจากต้องใช้เวลานานและมีขั้นตอนที่ไม่แน่นอน และไม่ต้องการอยู่ภายใต้การปกครองของอิสราเอล

นอกจากนี้ อิสราเอลยังบีบชาวปาเลสไตน์ด้วยการก่อตั้งชุมชนชาวยิวในเยรูซาเล็มตะวันออกสำหรับเป็นที่อาศัยของชาวยิว 220,000 คน ทำให้ชาวปาเลสไตน์ไม่สามารถขยับขยายชุมชนของตัวเอง และต้องอยู่ในพื้นที่นั้นด้วยความแออัด ส่วนบ้านหลายหลังก็ก่อสร้างโดยไม่ได้รับอนุญาตซึ่งเสี่ยงต่อการถูกรื้อถอน

ละเมิดสิทธิมนุษยชน?

การปฏิบัติต่อชาวปาเลสไตน์ในเยรูซาเล็มตะวันออกของอิสราเอลถูกองค์กรสิทธิมนุษยชน Human Rights Watch ประณามว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

แม้แต่ ฟาตู เบนดูซา (Fatou Bensouda) หัวหน้าอัยการของศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) ยังกล่าวว่าอาจมีการก่ออาชญากรรมภายใต้นิยามของธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ คือ การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์, อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ, อาชญากรรมสงครามและอาชญากรรมการรุกราน

เขาไม่ได้บอกว่าว่าอาชญากรรมที่ว่านั้นคืออะไรและใครทำ แต่จะเป็นอิสราเอลได้หรือไม่ เพราะเมื่อวันที่ 3 มีนาคม หัวหน้าอัยการของ ICC รายนี้เพิ่งเปิดการสอบสวนอาชญากรรมของอิสราเอลต่อชาปาเลสไตน์ในพื้นที่อิสราเอลไปยึดครอง การสอบสวนครั้งนี้ทำให้อิสราเอลโกรธเคืองมาก

อนึ่ง อิสราเอลไม่ได้เป็นภาคีสมาชิกของ ICC แต่รัฐปาเลสไตน์เป็นสมาชิก และสหรัฐก็ไม่ได้เป็นสภาคเช่นกัน 

แต่ถึงอย่างนั้นสหรัฐที่มักจะประณามประเทศอื่นว่าละเมิดสิทธิมนุษยชนกลับยังสนับสนุนอิสราเอลที่มีพฤติกรรมไม่ต่างจากประเทศอื่นที่สหรัฐประณาม

นอกจากจะไม่ประณามอิสราเอลแล้ว สหรัฐยังจัดสรรงบประมาณสนับสนุนให้อิสราเอลมากที่สุดในบรรดาประเทศที่ได้รับความช่วยเหลือนับตั้งแต่ปี 1976-2004 และมีมูลค่ารวมกันมากที่สุดนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 (หากไม่คำนวณอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ที่ 146,000 ล้านเหรียญสหรัฐ)

หรืออย่างในปีงบประมาณ 2019 สหรัฐให้ความช่วยเหลือทางการทหารแก่อิสราเอลถึง 3,800 ล้านเหรียญสหรัฐ และยังได้ประโยชน์จากการค้ำประกันเงินกู้โดยสหรัฐอีก 8,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

โดยขณะนี้เงินช่วยเหลือจากสหรัฐส่วนใหญ่อยู่ในรูปแบบของความช่วยเหลือทางการทหาร โดยทั้งหมดนี้ได้อานิสงส์มาจากแรงสนับสนุนอิสราเอลจากสภาคองเกรสที่แข็งแกร่ง ซึ่งทำให้อิสราเอลได้รับประโยชน์ที่หลายๆ ประเทศไม่ได้

แล้วเหตุใดสหรัฐจึงยังให้เงินช่วยเหลือด้านการทหารแก่อิสราเอล และขัดขวางมติของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติที่จะประณามอิสราเอล ทั้งที่ประเทศนี้ละเมิดทั้งกฎหมายระหว่างประเทศและสิทธิมนุษยชน

คำตอบสั้นๆ ก็คือ เพื่อผลประโยชน์ของสหรัฐเอง

ความพัวพันยิว-อเมริกัน

อิสราเอลมีประโยชน์กับผลประโยชน์ของสหรัฐในตะวันออกกลางในหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการช่วยคุมไม่ให้กลุ่มชาตินิยมหัวรุนแรงในเลบานอน จอร์แดน และปาเลสไตน์ผงาดขึ้นมา ช่วยควบคุมซีเรียซึ่งเป็นพันธมิตรของสหภาพโซเวียตคู่แข่งของสหรัฐ อีกทั้งสงครามในอิสราเอลที่เกิดขึ้นเนืองๆ ยังเป็นสนามทดสอบอาวุธยุทธปกรณ์ใหม่ๆ ของสหรัฐได้อย่างดี

นอกจากนี้ สหรัฐยังผูกมิตรกับอิสราเอลเพื่อข้อมูลข่าวกรอง ไมเคิล โคโพล ผู้เชี่ยวชาญด้านตะวันออกกลางจาก Israel Policy Forum เผยกับ Business Insider ว่า ข่าวกรองและข้อมูลวงในเกี่ยวกับความเป็นไปในตะวันออกกลางของอิสราเอล โดยเฉพาะหน่วย 8200 (Unit 8200) อยู่ในระดับที่หาตัวจับยากและเป็นประโยชน์กับสหรัฐในทุกทาง และหน่วยนี้ยังทำงานร่วมกับสำนักงานความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐ (NSA) อย่างใกล้ชิด

ยกตัวอย่างเช่น ในปี 2010 สหรัฐกับอิสราเอลจับมือกันสร้างระบบมัลแวร์ที่ยอดเยี่ยมที่สุดเท่าที่เคยมีมาครั้งหนึ่งของโลกที่ชื่อว่า Stuxnet เพื่อแทรกซึมโครงสร้างพื้นฐานทางไซเบอร์ของอิหร่าน ภารกิจนี้ทำให้โครงการอาวุธนิวเคลียร์ของอิหร่านช้าลงโดยไม่ต้องยิงปืนสักนัด

อุตสาหกรรมผลิตอาวุธของสหรัฐซึ่งทำเงินให้กับแคมเปญเฟ้นหาผู้สมัครรับเลือกตั้งได้มากกว่าที่ได้จากกลุ่มโปรอิสราเอลอื่นๆ ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่สหรัฐยังส่งอาวุธไปยังอิสราเอลและพันธมิตรอื่นๆ ในตะวันออกกลาง

เพราะสำหรับคองเกรส การคัดค้านการทำสัญญาขายอาวุธมูลค่า 60 ล้านเหรียญสหรัฐกับอินโดนีเซียง่ายกว่าการคัดค้านสัญญามูลค่า 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐกับอิสราเอล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตเลือกตั้งที่มีโรงงานผลิตอาวุธ

นอกจากนี้ ยังเกี่ยวข้องกับการเมืองภายในของสหรัฐเอง การลงมติของสภาคองเกรสในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับอิสราเอลมักจะผ่านฉลุยด้วยมติเอกฉันท์ และแต่ละปีสภาคองเกรสยังอนุมัติเงินช่วยเหลือทางการทหารและเศรษฐกิจให้อิสราเอลกว่า 3,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

เหตุผลง่ายๆ ที่อธิบายปรากฏการณ์นี้ก็คือ การสนับสนุนอิสราเอลเป็นเรื่องที่ทำให้ได้คะแนนเสียงจากชาวอเมริกัน ผลสำรวจความคิดเห็นโดย Gallup Poll พบว่า นับตั้งแต่ปี 1988 ชาวอเมริกันเห็นอกเห็นใจชาวอิสราเอลมากกว่าชาวปาเลสไตน์ในการทำสงครามสู้รบกัน

ดังนั้น จึงไม่แปลกที่บรรดาสมาชิกสภาคองเกรสจะแสดงท่าทีหนุนอิสราเอลเพื่อเอาใจชาวอเมริกันที่จะชี้ชะตาว่าพวกเขาจะได้นั่งเก้าอี้ในสภาหรือไม่

อเมริกันต้องหนุนยิว?

ส่วนเหตุผลว่าทำไมชาวอเมริกันจึงชอบอิสราเอล เหตุผลใหญ่ๆ เลยคือความรู้สึกร่วม ไมเคิล บาร์เน็ตต์ นักรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยจอร์จวอชิงตันเผยว่า ภาพลักษณ์ของอิสราเอลที่เป็นประเทศประชาธิปไตยเพียงหนึ่งเดียวในตะวันออกกลางในสายตาของชาวอเมริกัน เป็นรากฐานของความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับอิสราเอล

แต่ความเห็นนี้ผิวเผินเกินไป เมื่อดูบริบทประวัติศาสตร์และสังคมแล้วจะพบว่า สหรัฐและผู้นำสหรัฐสนับสนุนลัทธิไซออน (Zionism) มานับร้อยปีแล้ว เช่น จอห์น อดัมส์ หนึ่งในบิดาผู้ก่อตั้งประเทศสหรัฐและประธานาธิบดีคนที่สองเขียนว่า "ผมอยากให้ชาวยิวในยูเดีย (ปาเลสไตน์/อิสราเอล) เป็นประเทศเอกราชอีกครั้ง" - จอห์น อดัมส์ ไม่ใช่ประธานาธิบดีสหรัฐคนเดียวที่คิดแบบนี้ จนกระทั่งมหาอำนาจตะวันตกมีส่วนร่วม "ยึด" ดินแดนปาเลสไตน์มาให้ชาวยิวกันจริงๆ จังๆ 

การก่อตั้งรัฐของชาวยิวเริ่มต้นจากการที่ลอร์ดบัลโฟร์นายกรัฐมนตรีอังกฤษได้ส่งจดหมายถึงลอร์ดรอธไชลด์ (สกุลชาวยิวบรรดาศักดิ์ผู้ทรงอิทธิพลทางการเมืองและการเงินของโลก) ประธานสหพันธ์ไซออนิสต์อังกฤษโดยระบุว่ารัฐบาลอังกฤษจะอำนวยความสะดวกในการจัดตั้งรัฐสำหรับชาวยิวในปาเลสไตน์ ประธานาธิบดีวิลสันของสหรัฐแสดงการสนับสนุนแถลงการณ์บัลโฟร์โดยกล่าวว่า  "ประเทศพันธมิตรที่มีความเห็นพ้องต้องกันอย่างเต็มที่ของรัฐบาลและประชาชนของเรา ตกลงกันว่าในปาเลสไตน์จะถูกวางรากฐานในฐานะเครือจักรภพยิว"

เราจะเห็นได้ว่าการถือกำเนิดของรัฐอิสราเอลคือการ "สมคบ" กันของจักรวรรดิตะวันตก

และมันก็ยังเป็นอยู่เช่นนั้น ดังที่เจฟ ฮาล์เปอร์ นักวิชาการชาวอิสราเอลเชื้อสายอเมริกันกล่าวว่า "อิสราเอลสามารถยึดครอง (เขตต่างๆ ของปาเลสไตน์) ได้เพียงเพราะความเต็มใจที่จะรับใช้ผลประโยชน์ของจักรวรรดิตะวันตก (ส่วนใหญ่เป็นสหรัฐ)" - ฮาล์เปอร์ถือสัญชาติอิสราเอล/อเมริกันแต่เขาต่อต้านการยึดครองปาเลสไตน์ของอิสราเอลและส่งเสริมการอยู่กันอย่างสันติของสองเชื้อชาติ

ความหมายของคำพูดของฮาล์เปอร์ก็คือ อิสราเอลทำตามใจชอบได้ก็เพราะสนองผลประโยชน์ของสหรัฐ อิสราเอลไม่ได้ใหญ่ขนาดมีอิทธิพลเหนือสหรัฐได้ ตรงกันข้ามอิสราเอลเป็นแค่ "ลูกหาบ" เท่านั้น

ดังนั้น หากเมื่อใดที่กิจการในอิสราเอลไม่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของสหรัฐ ผู้นำสหรัฐก็ไม่เอาด้วย ทั้ง รัฐบาล จอร์จ ดับเบิลยู. บุช รัฐบาล บารัก โอบามา ล้วนสนับสนุนทางการทหารและการเมืองอิสราเอล แต่ทั้งคู่กลับเมินอิสราเอลเมื่อสหรัฐไม่ได้ประโยชน์  โดยบุชไม่ยอมสนับสนุนการโจมตีอิหร่านของอิสราเอล และโอบามามักจะขัดแย้งกับผู้นำอิสราเอลกรณีเวสต์แบงก์

ไบเดนไม่กล้าออกตัวแรง

กลับมาที่ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ผู้ลั่นวาจาว่า “ผมเป็นไซออนิสต์" เขาจะหนุนหลัง "สงคราม" ของอิสราเอลหรือไม่

ไบเดนกำลังถูกกดดันอย่างหนักจากทั้งพรรครีพับลิกันและพรรคเดโมแครตหลังจากความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์รุนแรงขึ้น เนื่องจากนักการเมืองเริ่มเสียงแตก

บิลล์ เฮเกอร์ตี วุฒิสมาชิกพรรครีพับลิกันจากรัฐเทนเนสซี เรียกร้องให้รัฐบาลไบเดนประณามกลุ่มฮามาสที่ยิงจรวดใส่กรุงเยรูซาเล็ม ส่วน ไมเคิล วอลซ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรครีพับลิกันจากรัฐฟลอริดาวิจารณ์ว่าไบเดนใช้เงินหลายร้อยล้านเหรียญสหรัฐแก้ปัญหาโดยไม่มีเงื่อนไขแก่อิสราเอล แทนที่จะให้เงินช่วยปาเลสไตน์ให้ช่วยปราบปรามกลุ่มฮามาส

ส่วนอีกฝั่งหนึ่ง ราชิดา ทลิบ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคเดโมแครตจากรัฐมิชิแกน ที่สนับสนุนการบอยคอตอิสราเอลเผยว่า สหรัฐส่งเสริมให้เกิดความรุนแรงในตะวันออกกลางด้วยการให้เงินช่วยเหลืออิสราเอล และวิจารณ์รัฐบาลไบเดนว่าไม่ยอมประกาศว่าอิสราเอลกำลังใช้เงินช่วยเหลือจากสหรัฐในการละเมิดสิทธิมนุษยชน

ความเห็นที่แตกต่างกันนี้อาจทำให้ไบเดนไม่อยากจะแสดงออกชัดเจน เขาอาจจะต้องรักษาภาพลักษณ์ Mr. Nice Guy ต้องหาทางที่อะลุ่มอล่วยกับทุกฝ่ายในประเทศให้มากที่สุด

ไบเดนและผู้นำสหรัฐคนใดก็ตามไม่ได้แยแสหรอกว่าชาวโลกจะคิดกับสหรัฐอย่างไรที่สนับสนุนอิสราเอล อิสราเอลที่ถูกกล่าวหาว่าละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือแม้แต่การกระทำที่อาจเข้าข่ายอาชญากรรมระหว่างประเทศ

อย่าลืมว่าทั้งอิสราเอลและสหรัฐไม่ได้เป็นภาคสมาชิก ICC ด้วยซ้ำ และพวกเขามีนิยามของการละเมิดสิทธิมนุษยชนของตัวเอง

การต่อต้านลัทธิไซออน

เรารู้ว่าไบเดนลั่นวาจาว่า “ผมเป็นไซออนิสต์" แต่ไซออนิสต์คืออะไร?

ลัทธิไซออนเป็นทั้งอุดมการณ์และกระแสชาตินิยมในหมู่ชาวยิวที่ต้องการหยุดชีวิตที่เร่ร่อนในดินแดนของชาติอื่นๆ หลังจากที่พวกเขาถูกขับไล่ออกจากอิสราเอลโบราณในยุคโรมัน กลังจากเร่ร่อนในประชาชาติต่างๆ โดยเฉพาะในยุโรปต้องเผชิญกับการเหยียดหยามสารพัดมานานนับพันปี พวกเขาก็เริ่มคิดที่จะตั้งรัฐยิวที่มีศูนย์กลางอยู่ในพื้นที่คานาอันและดินแดนศักดิ์สิทธิ์หรือภูมิภาคของปาเลสไตน์

ลัทธิไซออนกลายเป็นจริงขึ้นมาได้โดยมหาอำนาจตะวันตกช่วยกันหนุนหลัง แต่มันก็มีคนต่อต้านเช่นกัน โดยชี้ว่ามันคือการล่าอาณานิคมอย่างหนึ่ง เพราะชาวยิวกลุ่มใหญ่ไม่ได้อยู่ในดินแดนปาเลสไตน์มานับพันปีแล้ว ผู้ครอบครองปัจจุบันคือชาวอาหรับหรือที่เรียกกันว่าชาวปาเลสไตน์

การต่อต้านลัทธิไซออน (Anti-Zionism) เป็นคนละเรื่องกับการเหยียดชาวยิว (Antisemitism) อันเป็นอาชญากรรมในหลายประเทศทางตะวันตก แต่ถึงกระนั้นการต่อต้านการยึดครองปาเลสไตน์และต่อต้านลัทธิไซออนมักถูกบางกลุ่มบางพวกโยงว่าเป็นการเหยียดชาวยิว และเป็นการเหยียดชายิวแบบซ่อนรูป หรือถึงขั้นบอกว่าเป็นการอำพรางความเกลียดชังชาวยิว

อย่าลืมว่าแม้แต่ชาวยิวจำนวนหนึ่งก็ต่อต้านลัทธิไซออนเช่นกัน และกลุ่มหลักที่ต่อต้านก็อยู่ในสหรัฐเสียด้วย ดังเช่น ชาวยิวเคร่งศาสนา (Hasidic) โดยมีรับไบ โจเอล ไทเทลบอม ผู้นำกลุ่มเคร่งศาสนาในนิวยอร์กที่ทรงอิทธิพลต่อต้านการกลับไปปักหลักที่ปาเลสไตน์ และเรียกร้องให้ชาวยิวเคร่งศาสนาที่อยู่ในปาเลสไตน์อยู่แล้วอย่าได้ร่วมมือกับรัฐบาลอิสราเอลที่ถือเป็นพวกไซออนิสต์

รับไบไทเทลบอมอ้างหลักฐานคัมภีร์โบราณเรื่อง "คำสาบานทั้งสาม" ที่ชาวยิวมีให้กับพระเป็นเจ้าช่วงเวลาที่ชาวยิวถูกเนรเทศออกจากอิสราเอลโบราณ คำสาบานนั้นคือ 1) อิสราเอลไม่ควรกลับสู่แผ่นดินเดิมด้วยกันโดยการบังคับ 2) อิสราเอลไม่ควรกบฏต่อชาติอื่นๆ และ 3) ชาติต่างๆ ไม่ควรปราบอิสราเอลอย่างรุนแรงเกินไป

รับไบไทเทลบอมเห็นว่าต่อต้านลัทธิไซออนิสต์ของเขาเป็นวิธีการปกป้องชาวยิวและป้องกันการนองเลือดนั่นเอง และดูเหมือนความเชื่อของรับไบจะมีส่วนถูกต้องเสียด้วย

โดย ทีมข่าวต่างประเทศโพสต์ทูเดย์ 

Photo by ahmad gharabli / AFP