posttoday

'สิงคโปร์โมเดล' ที่ไทยจะตามรอย มันเวิร์กไหม?

21 ธันวาคม 2563

โมเดลที่สิงคโปร์ใช้ในการรับมือกับการระบาดของโควิด-19 จากกลุ่มแรงงานต่างด้าว

เมื่อวันที่ 21 ธ.ค. นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) กล่าวว่าการดูแลแรงงานชาวเมียนมาที่ติดเชื้อไวรัสโคโรนาในประเทศไทยโดยการจำกัดพื้นที่นั้นเป็นโมเดลที่ประเทศสิงคโปร์ก็ใช้ในการควบคุมโรคเช่นกัน ดังนั้นเรามาดูกันว่าโมเดลสิงคโปร์เป็นอย่างไรและได้ผลได้ผลในการควบคุมโรคหรือไม่

1. สิงคโปร์พบการระบาดแบบกลุ่มก้อนในกลุ่มแรงงานข้ามชาติในเดือนเมษายน และรัฐบาลประกาศให้เฝ้าระวังกลุ่มแรงงานข้ามชาติ พยายามที่จะติดตามและคัดแยกผู้ติดเชื้อทั้งหมดโดยมีการจำกัดพื้นที่และการเดินทางให้แรงงานข้ามชาติทั้งหมดกักตัวอยู่ในหอพักแรงงาน

2. ทอมมี โคห์ ทนายความและอดีตนักการทูตของสิงคโปร์โพสต์ลงบนเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า "วิธีที่สิงคโปร์ปฏิบัติต่อแรงงานข้ามชาติไม่ใช่ประเทศโลกที่หนึ่ง แต่เป็นโลกที่สาม รัฐบาลให้นายจ้างขนส่งพวกเขาด้วยรถบรรทุกเตียงเรียบไม่มีที่นั่ง พวกเขาอยู่ในห้องพักที่แออัด และเบียดกันเหมือนปลากระป๋อง 12 คนในห้องพัก 1 ห้อง หอพักไม่สะอาด ไม่ถูกสุขอนามัย เป็นเหมือนระเบิดเวลาที่รอวันระเบิด และตอนนี้พวกเขาได้ระเบิดคนงานที่ติดเชื้อหลายคน ผมรู้สึกโกรธเมื่อเห็นคนงานนั่งกินอาหารกลางวันที่พื้น และเห็นพวกเขานอนอย่างเหนื่อยล้า"

3. จนถึงต้นเดือนสิงหาคมพบว่ามากกว่า 94% ของผู้ป่วยทั้งหมดกว่า 53,000 รายในประเทศสิงคโปร์เป็นแรงงานข้ามชาติ

4. ในเดือนกันยายน หน่วยงานด้านสาธารณสุขของสิงคโปร์ตรวจพบการระบาดในหอพักแรงงานข้ามชาติ 3 แห่ง ซึ่งเชื่อมโยงกับจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่เพิ่มขึ้น โดยพบว่ามีแรงงานส่วนหนึ่งติดเชื้อเป็นรอบที่ 2 และจากจำนวนผู้ติดเชื้อทั้งหมดทั่วประเทศ ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มแรงงานข้ามชาติที่อาศัยในหอพักแออัด

5. จนกระทั่งวันที่ 14 ธ.ค. ทางการกล่าวว่าการระบาดในหอพักสามารถควบคุมได้แล้ว และข้อจำกัดต่างๆ จะคลี่คลายลง โดยในไตรมาสแรกของปี 2021 แรงงานบางส่วนจะได้รับอนุญาตให้เข้าสู่ชุมชนได้เดือนละครั้ง โดยยังต้องปฏิบัติตามมาตรการรักษาความปลอดภัย

6. เมื่อวันที่ 16 ธ.ค. ที่ผ่านมา อเล็กซ์ ออ ตัวแทนองค์กรสิทธิแรงงานในสิงคโปร์กล่าวว่า "เรามีความกังวลมากขึ้นที่สิงคโปร์ยังคงปฏิบัติต่อแรงงานในฐานะนักโทษ แม้ว่ากระทรวงสาธารณสุขจะระบุว่าไม่มีการตรวจพบผู้ป่วยรายใหม่หลายวันนับตั้งแต่เดือนตุลาคม" จนถึงขณะนี้แรงงานที่มีสุขภาพแข็งแรงยังได้รับอนุญาตให้ไปทำงานและซื้อของที่ร้านค้าเป็นครั้งคราวเท่านั้น และแรงงานยังคงถูกขังและปฏิบัติเหมือนนักโทษ

7. นอกจากนี้ยังระบุว่าแรงงานข้ามชาติ 47% หรือ 152,794 คนจากทั้งหมด 323,000 คน ติดโควิด-19 ในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา โดยแรงงานที่ติดเชื้อเผยว่าพวกเขายังคงพักอยู่กับเพื่อนคนงานคนอื่นๆ ในหอพัก โดยเจ้าหน้าที่สาธารณสุขไม่ได้แยกแรงงานที่ป่วยไปอยู่ในสถานกักกัน โดยจากการทดสอบไวรัสทั้งหมด 58,341 เคสทั่วประเทศจนถึงปัจจุบัน พบว่า 93% อยู่ในกลุ่มแรงงานข้ามชาติ