posttoday

รู้หรือไม่ว่าเฟซบุ๊คส่งข้อมูลผู้ใช้ให้รัฐบาลสหรัฐ

25 สิงหาคม 2563

และรัฐบาลสหรัฐก็เป็นประเทศที่ขอให้เฟซบุ๊คส่งข้อมูลผู้ใช้ให้มากที่สุดในโลก

แน่นอนว่าบรรดาบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่อย่าง กูเกิล เฟซบุ๊ค ทวิตเตอร์ เก็บข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้ไว้ปริมาณมหาศาล และหากจะกล่าวว่าบริษัทเหล่านี้มีข้อมูลอยู่ในมือมากกว่าระบบสอดแนมไหนๆ ของรัฐบาลก็ไม่ผิดนัก

ด้วยเหตุนี้จึงไม่แปลกที่รัฐบาลจะขอความร่วมมือให้บริษัทเทคโนโลยีส่งมอบข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้ให้ ทั้งที่ผู้ให้ข้อมูลอาจจะอนุญาตเพียงให้กูเกิลหรือเฟซบุ๊คใช้ข้อมูลของตัวเองเพื่อประโยชน์ในการโฆษณาเท่านั้น แต่อาจไม่ทราบว่าสุดท้ายแล้วรัฐบาลก็อาจเข้าถึงข้อมูลของตัวเองเช่นกัน

และเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจกับผู้ใช้ หลังมีการเปิดโปงว่าทางการสหรัฐมีโครงการเก็บข้อมูลของชาวอเมริกันจากโซเชียลมีเดียต่างๆ เฟซบุ๊คได้เปิดเผยรายงานความโปร่งใสในการส่งข้อมูลของผู้ใช้ให้รัฐบาลนานาประเทศนับตั้งแต่ปี 2013

ล่าสุดปี 2019 เฟซบุ๊คเผยว่า ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2019 รัฐบาลขอให้เฟซบุ๊คส่งข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้มากที่สุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่มีการรายงานครั้งแรกในปี 2013 โดยเพิ่มขึ้น 16% เป็น 128,617 ครั้ง หรือเพิ่มขึ้นจากปี 2013 ถึง 364%

ในจำนวนคำขอทั้งหมดนี้ รัฐบาลสหรัฐขอมากที่สุด คือ 50,714 ครั้ง เป็นการขอข้อมูลจากผู้ใช้/บัญชี 82,461 คน/บัญชี และ 2 ใน 3 ของคำขอนี้เป็นคำสั่งที่ระบุไม่ให้เฟซบุ๊คแจ้งเจ้าของบัญชีก่อน

ขณะที่เฟซบุ๊คปฏิบัติตามคำขอของรัฐบาล 88% ของคำขอทั้งหมด โดยส่วนใหญ่ (47,457 คำขอ) เป็นการปฏิบัติตามหมายค้น หมายเรียก และคำสั่งศาล

อย่างไรก็ดี ทางเฟซบุ๊คยืนยันว่าไม่มีการอนุญาตให้รัฐบาลเข้าถึงประตูลับ (Back Door) หรือช่องทางที่สร้างไว้เพื่อให้เข้าถึงระบบหรือเครื่องคอมพิวเตอร์โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการตรวจสอบของระบบ

ถามว่าเฟซบุ๊คจะเลือกปกป้องความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้แล้วไม่ส่งข้อมูลให้รัฐบาลสหรัฐได้หรือไม่ 

เมื่อปี 2008 บริษัทยาฮู! เคยปฏิเสธคำขอให้ส่งข้อมูลของผู้ใช้จากรัฐบาลสหรัฐ โดยระบุว่าคำสั่งดังกล่าวฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ รัฐบาลสหรัฐจึงขู่ว่าจะปรับเงินยาฮู! วันละ 250,000 เหรียญสหรัฐ หรือราว 7,864,000 บาท จนมีการฟ้องร้องดำเนินคดีกัน แต่ปรากฏว่ายาฮู! แพ้คดีและกลายเป็นบริษัทเทคโนโลยีแห่งแรกๆ ที่ต้องส่งข้อมูลผู้ใช้ให้รัฐบาล