posttoday

พลังงานไฟฟ้า ความฝันของนักลงทุนไทย

29 กุมภาพันธ์ 2563

โดย กริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

ในช่วงปีที่ผ่านมา ผมมักจะได้รับคำบอกเล่าและคำปรึกษาเรื่องการเข้าไปทำธุรกิจด้านพลังงานไฟฟ้าหรือ สร้างโรงไฟฟ้าในเมียนมาเพื่อนผู้ประกอบการไทยหลายราย แต่สุดท้ายจะเห็นคนที่ได้เข้าไปทำอย่างจริงๆจังๆแค่ไม่กี่รายเลยครับ

ในนั้นมีบางท่านที่ได้รับใบอนุญาตและได้รับการส่งเสริมจาก MIC หรือถ้าอยู่ในประเทศไทยก็เรียกว่า BOI นั่นแหละครับ แต่สุดท้ายหาผู้ร่วมทุนไม่ได้ ก็เลยต้องยกเลิกโครงการไป ยังมีอีกบางท่านที่มีการทำโครงการส่งขอใบอนุญาตแล้ว แต่สุดท้ายก็ไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งผมเองก็มิอาจคาดคะเนได้ว่าเกิดจากอะไร เพียงแต่รู้สึกเสียดายที่เราไม่ได้โครงการเท่านั้นเองครับ

ในขณะเดียวกันนั้นเรามาดูทางด้านบริษัทของฮ่องกงและบริษัทของจีนบ้าง เราเองมาทราบว่ามีบริษัทพลังงานของเขา ได้รัฐสัมปทานและเข้ามาดำเนินการไปแล้วตั้งแต่ปี 2015 แล้ว

ถ้าสังเกตุให้ดีนับตั้งแต่ปีดังกล่าวเป็นต้นมา ไฟฟ้าที่กรุงย่างกุ้งเริ่มไม่ค่อยดับๆติดๆเหมือนในอดีตแล้ว ในอดีตช่วงก่อนปี 2000การจ่ายไฟฟ้าในกรุงย่างกุ้ง จะจ่ายกันเป็นเขตๆ และจะจ่ายในแต่ละวันไม่เกินสามสี่ชั่วโมง แต่หลังจากนั้นก็จะดีขึ้นมาเรื่อยๆจนกระทั้งในปี 2015 จึงจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปแล้วครับ

ทุกอย่างเปลี่ยนไปหมดแล้วครับ

ซึ่งบริษัทที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงประเทศเมียนมานั้นคือบริษัท VPower ของฮ่องกง และต่อมาเขาก้ได้จับมือกับ China National Import & Export Corporation (CNTIC) ซึ่งบริษัทนี้เป็นรัฐวิสาหกิจของรัฐบาลจีนเขาครับ เขาได้เข้ามาดำเนินธุรกิจด้านพลังงานโดยเฉพาะครับ ประเทศเมียนมาต้องจารึกชื่อใว้เลยครับ

ล่าสุดในต้นปีนี้เอง ทางกลุ่มนี้ได้ใช้บริษัทย่อยในเครือชื่อว่า China General Technology Group Holding Ltd ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทที่ดำเนินธุรกิจด้านพลังงานผลิตเครื่องจักร ผลิตยา การก่อสร้าง อสังหาริมทรัพย์ และที่ปรึกษาด้านเทคนิค

เขาได้รับสัมปทานโรงไฟฟ้าใหม่อีกสามแห่ง ซึ่งมูลค่าของโครงการทั้งหมดร่วม 800 ล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งหมด 900 MWซึ่งจะดำเนินโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่ใช้แก๊สธรรมชาติ ที่ทางเมียนมามีแหล่งบ่อแก๊สอยู่ที่เมืองท่าเรือเจ้าผิ่วนั่นเองครับ เรียกว่าเป็นการชงเองกินเองละครับงานนี้

อีกทั้งในนั้นยังมีโครงการที่สร้างเพื่อชาวเมืองเจ้าผิ่วได้ใช้ไฟฟ้าอย่างเพียงพอ เพราะเขาผลิตไฟฟ้าทั้งหมด 150 MW โดยจะจ่ายไฟฟ้าให้ชาวเมืองเจ้าผิ่วเพียง 20% ส่วนอีก 80% จะจ่ายกระแสไฟฟ้าให้แก่รัฐยะไข่ทั้งหมด

นั่นหมายความว่ารัฐยะไข่ทั้งรัฐจะมีไฟฟ้าใช้อย่างเหลือเฟือเลยครับ เพราะนอกจากเมืองเจ้าผิ่วที่มีนิคมอุตสาหกรรมแล้ว จะมีเพียงเมืองท่องเที่ยวชายทะเลอีกสองสามแห่งเท่านั้น เช่นเมือง งาปาลี (Ngapali) เมืองช่องตา เมืองง่วยซอง และเมืองชิตท่วย เมืองหลวงของรัฐยะไข่ เท่านั้นที่ใช้ไฟฟ้าเยอะหน่อย

นอกนั้นก็เป็นเมืองเล็กๆทั้งนั้นครับ ยังมีโรงไฟฟ้าที่นิคมอุตสาหกรรมติลาว่า จ้าวตาน ทางเขายังได้รับใบอนุญาตอีก 350 MW มูลค่าลงทุนอีก 290.39 ล้านเหรียญสหรัฐ ที่นี่ปัจจุบันนอกจากมีนิคมอุสาหกรรมของญี่ปุ่นแล้ว ยังมีนิคมอุตสาหกรรมของจีนและนิคมอุตสาหกรรมของเมียนมาด้วย

ซึ่งทั้งหมดนี้ยังต้องการกระแสไฟฟ้ามาใช้ในอุตสาหกรรมอีกเยอะครับ นอกจากนี้ยังได้โครงการโรงไฟฟ้าที่นิคมอุตสาหกรรมเจ้าสี่ มัณฑะเลย์อีก 145 MW อีกด้วย เรียกว่าเรียบร้อยโรงเรียนจีนเลยครับงานนี้ ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงมาทีเดียวกวาดเรียบหมดโต๊ะเลย ไม่เหลือให้ไทยเราเล้ยยยย........

ในขณะที่เมียนมาเองท่านรัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน U Win Khaing ท่านออกมาให้ข่าวเมื่ออาทิตย์แรกของเดือนกุมภาพันธ์ว่า ภายในปีนี้ จะทำให้ประชาชนชาวเมียนมาทั้งประเทศมีไฟฟ้าใช้ให้ได้ 55% และภายในปี 2025 ท่านจะให้มีไฟฟ้าใช้ 75% และสุดท้ายในปี 2030 จะทำให้ชาวเมียนมามีไฟฟ้าใช้ครบ 100% ให้ได้

เราคนไทยในยุคปัจจุบัน ไม่เคยได้จุดตะเกียงเจ้าพายุใช้ เด็กรุ่นใหม่ก็ไม่เคยใช้ไฟฉายมาก่อน ยิ่งไม่ต้องพูดถึงตะเกียงน้ำมันก๊าส ดังนั้นอาจจะไม่เห็นความสำคัญว่าไฟฟ้านั้นมีความหมายกับชีวิตอย่างไร เพราะไม่เคยขาดไฟฟ้ามาก่อน แต่คนรุ่นผมนั้นที่กล่าวมาทั้งหมดได้ผ่านมาหมดแล้วครับ จึงทราบซึ้งดีว่าเป็นอย่างไร

คนเมียนมาในปัจจุบันก็เช่นกัน ในต่างจังหวัดก็ใช้ชีวิตเหมือนผมเมื่อห้าสิบปีก่อน พอได้ยินได้ฟังท่านรัฐมนตรีกระทรวงพลังงานเมียนมาพูดเช่นนี้ ย่อมดีใจตื่นเต้นแน่นอนครับ

ทีนี้เรามาดูว่าแล้วผู้ประกอบการไทยจะมีโอกาสแทรกเข้าไปเก็บโครงการขนาดกลางหรือขนาดเล็กได้หรือไม่ ผมคิดว่ายังมีนะครับ เราก็เข้าไปเมืองรองๆลงไปซิครับ เขายังมีความต้องการสูงมาก

วันนี้เมียนมาเปิดทางให้แล้วทั้งด้านกฎหมาย ด้านสิทธิต่างๆ ล้วนแล้วแต่เปิดกว้างมาก รีบๆเข้าไปดู แล้วหาโอกาสจับจองก่อนก่อนที่คนบ้านไกลที่ข้ามน้ำข้ามทะเลจะมาคว้าเอาพุงปลามันไปกินหมดนะครับ

เดี๋ยวจะหาว่าหล่อไม่เตือน............