posttoday

แก้ "ทารุณกรรมเด็ก" ล้มเหลว ด้านมืดกลืนสังคมญี่ปุ่น

17 กุมภาพันธ์ 2562

ปัญหาการทารุณกรรมเด็กในสังคมญี่ปุ่นกำลังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องด้วยสารพัดช่องโหว่ของกฎหมาย และคำถามที่ว่ารัฐบาลใส่ใจแก้ปัญหานี้อย่างจริงจังหรือไม่?

ปัญหาการทารุณกรรมเด็กในสังคมญี่ปุ่นกำลังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องด้วยสารพัดช่องโหว่ของกฎหมาย และคำถามที่ว่ารัฐบาลใส่ใจแก้ปัญหานี้อย่างจริงจังหรือไม่?

*********************************

โดย...จุฑามาศ เนาวรัตน์

กลายเป็นเรื่องราวที่สร้างความสะเทือนใจอย่างมากให้แก่สังคมญี่ปุ่นในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา เมื่อมีการพบร่างไร้ลมหายใจของ มิอะ คูริฮาระ เด็กหญิงวัยเพียง 10 ขวบ ที่ถูกพ่อแท้ๆ ของตัวเองทำร้ายร่างกายจนเสียชีวิต ซ้ำร้ายไปกว่านั้นคือ คูริฮาระเคยขอความช่วยเหลือไปยังโรงเรียนและหน่วยงานท้องถิ่นแล้ว แต่กลับไม่มีใครเข้ามาช่วยเหลือเธอได้ทัน

เรื่องราวของคูริฮาระเป็นเพียงหนึ่งในเคสตัวอย่างของปัญหา “ทารุณกรรมเด็ก” ที่เกิดขึ้นในญี่ปุ่น สังคมที่ได้ชื่อว่ามีระเบียบวินัยมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก โดยข้อมูลล่าสุดของสำนักงานตำรวจแห่งชาติญี่ปุ่น (เอ็นพีเอ) พบว่า มีรายงานคดีเด็กญี่ปุ่นอายุต่ำกว่า 18 ปี ถูกทารุณกรรมพุ่งสูงสุดทุบสถิติกว่า 8 หมื่นคดี ในปีที่ผ่านมา เพิ่มขึ้น 22.4% จากปี 2017 และเพิ่มขึ้นมากถึง 13 เท่าจากปี 2008

ความน่ากลัวของปัญหานี้ก็คือ มีเด็กญี่ปุ่นถูกทำร้ายจากคนในครอบครัวมากถึง 7.74 หมื่นคน เพิ่มขึ้นจากปี 2017 ซึ่งอยู่ที่ 7.24 หมื่นคน

สารพัดช่องโหว่กฎหมาย

ก่อนหน้านี้ คณะกรรมการว่าด้วยสิทธิเด็กของสหประชาชาติ (ซีอาร์ซี) ได้วิพากษ์วิจารณ์ปัญหาทารุณกรรมเด็กในญี่ปุ่นว่า กฎหมายแพ่งของญี่ปุ่นนั้นให้ความสำคัญกับการคุ้มครองสิทธิผู้ปกครองมากเกินไป ซึ่งทำให้ผู้ปกครองมีสิทธิควบคุมเด็ก จนนำไปสู่การสร้างพื้นที่ที่เอื้อต่อการทารุณกรรมเด็กในทุกรูปแบบ

ผลที่ตามมาคือ พ่อแม่หลายรายที่ถูกกล่าวหาว่าทำร้ายลูก ได้ใช้ช่องโหว่ของกฎหมายปฏิเสธว่าสิ่งที่ทำไปนั้นไม่ใช่การทารุณกรรม แต่เป็น “การลงโทษเพื่อทำให้ลูกอยู่ในระเบียบวินัย” เท่านั้น

ยิ่งไปกว่านั้นคือ เดอะการ์เดียน ระบุว่า สิ่งที่ทำให้ปัญหานี้รุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ และไม่มีทีท่าว่าจะจบลงในเร็ววันนี้ มาจากการที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่ด้านสวัสดิภาพเด็กของญี่ปุ่น มักลังเลที่จะสอบสวนคดีทารุณกรรมเด็กและความรุนแรงในครอบครัว โดยเจ้าหน้าที่กล่าวว่า ปัญหานั้นมาจากการขาดแคลนคนที่ทำงานในด้านนี้ และไม่มีอำนาจในการแทรกแซงเพื่อช่วยเหลือเด็ก หากเจอกรณีที่พ่อแม่ไม่ให้ความร่วมมือ

“ปัญหาที่แท้จริงคือ การขาดความกระตือรือร้นในการแก้ปัญหานี้ ซึ่งจะเป็นตัวขัดขวางกฎหมายที่ใช้ปกป้องเด็ก ในขณะเดียวกัน ตัวกฎหมายของญี่ปุ่นเองก็ไม่อนุญาตให้มีผู้พิทักษ์สิทธิเด็กอิสระ ดังนั้น ไม่ว่าอีกกี่ปีต่อจากนี้ไป ปัญหาการทารุณกรรมเด็กก็จะยังคงมีให้เห็นเรื่อยๆ” สำนักข่าวโมเดิร์น โตเกียว ไทมส์ ระบุ

เช่นเดียวกับรอยเตอร์สที่ระบุว่า แม้จะมีกฎหมายว่าด้วยสวัสดิภาพเด็ก แต่เด็กญี่ปุ่นกลับไม่มีตัวแทนหรือผู้พิทักษ์สิทธิอิสระ ซึ่งแตกต่างกับประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ เช่น อังกฤษ และสหรัฐ

นอกจากในด้านกฎหมายแล้ว มาตรการเพื่อป้องกันการทารุณกรรมเด็กยังต้องเจออุปสรรคทางด้านสังคมด้วย โดย ยูกิฮิโระ มัตสึยามะ ผู้อำนวยการด้านวิจัยของสถาบันซีไอจีเอส ระบุว่า เมื่อเดือน ต.ค.ปีที่ผ่านมา หลายเมืองในญี่ปุ่นได้จัดตั้งศูนย์ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับเด็กกว่า 212 แห่งทั่วประเทศ แต่กลับถูกต่อต้านจากคนท้องถิ่นที่กลัวว่าศูนย์ดังกล่าวจะทำให้ภาพลักษณ์ของชุมชนดูแย่ และส่งผลเสียต่อมูลค่าอสังหาริมทรัพย์ในเมือง

แก้ "ทารุณกรรมเด็ก" ล้มเหลว ด้านมืดกลืนสังคมญี่ปุ่น

รัฐบาลเร่งเอาจริง?

โศกนาฏกรรมของคูริฮาระในครั้งนี้ได้สร้างแรงสะเทือนจนทำให้ ชินโสะ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ประกาศกร้าวระหว่างการประชุมรัฐสภาว่า ปัญหาทารุณกรรมเด็กนั้นถือเป็นเรื่อสำคัญที่ต้องเร่งแก้ไข พร้อมเดินหน้าขจัดความรุนแรงด้วยมาตรการฉุกเฉิน

อาเบะได้สั่งให้ศูนย์สวัสดิภาพเด็กทั่วประเทศยืนยันข้อมูลภายใน 1 เดือน หากเกิดกรณีต้องสงสัยว่าเด็กจะถูกทารุณกรรม เพื่อปกป้องเด็กก่อนที่เหตุการณ์จะร้ายแรงจนถึงขั้นเสียชีวิต รวมถึงเพิ่มจำนวนเจ้าหน้าที่สวัสดิภาพเด็กอีก 1,000 คน จากปัจจุบันที่ 3,200 คน โดยจะเริ่มต้นตั้งแต่เดือน เม.ย.นี้

นอกจากนี้ อาเบะยังได้เรียกร้องให้หน่วยงานสาธารณะและสถานีตำรวจ นำเด็กที่ตกเป็นเหยื่อทารุณกรรมเข้าสู่กระบวนการคุ้มครองทันที หากเกิดกรณีพ่อแม่ซึ่งถูกต้องสงสัยว่าทำร้ายลูก ปฏิเสธที่จะติดต่อหรือให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ ขณะที่รัฐบาลกรุงโตเกียวก็เตรียมเสนอร่างกฎหมายใหม่ ที่จะห้ามมิให้ผู้ปกครองลงโทษเด็กด้วยการทำร้ายร่างกายและใช้คำพูดต่อว่าเด็ก

“มันเป็นโศกนาฏกรรมที่น่าสลดใจอย่างยิ่ง ความจริงแล้วนั้นการปกป้องชีวิตเด็กเป็นความรับผิดชอบของผู้ใหญ่อย่างเรา แต่เรากลับล้มเหลวที่จะตอบสนองต่อการร้องขอความช่วยเหลืออย่างกล้าหาญของเด็กน้อยวัย 10 ขวบ” อาเบะ กล่าว

อย่างไรก็ดี สื่อญี่ปุ่นหลายสำนักได้วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลว่า ไม่ยอมดำเนินการเพื่อขจัดปัญหานี้อย่างจริงจัง และมักจะรอให้เกิดปัญหาก่อนแล้วหาทางแก้ไขทีหลัง เพราะคูริฮาระไม่ใช่เด็กญี่ปุ่นคนแรกที่ถูกทารุณกรรมจนเสียชีวิต แต่เมื่อเดือน มี.ค.ปีที่ผ่านมา ก็มีคดีของ ยูอะ ฟุนาโตะ เด็กหญิงวัย 5 ขวบ ที่ถูกทรมานจนเสียชีวิตโดยแม่และพ่อเลี้ยง

หนังสือพิมพ์ไมนิจิ ระบุว่า คดีของฟุนาโตะถือเป็นคดีที่โด่งดังและสร้างความสะเทือนขวัญให้กับสังคมญี่ปุ่นเช่นกัน และในครั้งนั้นรัฐบาลก็ได้ออกมาตรการฉุกเฉินที่ไม่ต่างจากมาตรการในครั้งนี้เลย จนทำให้เกิดคำถามตามมาว่า รัฐบาลญี่ปุ่นใส่ใจกับปัญหาทารุณกรรมเด็กแล้วจริงๆ หรือไม่

"มิอะ คูริฮาระ" คดีเขย่าสังคมญี่ปุ่น

มิอะ คูริฮาระ วัย10ขวบ กลายเป็นเหยื่อของความรุนแรงในสังคมญี่ปุ่นรายล่าสุด โดยเมื่อวันที่24 ม.ค.ที่ผ่านมา คูริฮาระถูกพบว่ากลายเป็นศพภายในห้องน้ำของบ้าน หลังถูกทำ ร้ายร่างกายอย่างหนักจากพ่อแท้ๆ

สิ่งที่น่าสลดใจคือ ก่อนหน้านี้คูริฮาระเคยกรอกแบบสอบถามของโรงเรียนว่าเธอถูกพ่อทุบตีและอยากให้คุณครูช่วยโดยโรงเรียนได้ส่งเรื่องของคูริฮาระไปยังศูนย์สวัสดิภาพเด็ก แต่หลังจากที่คูริฮาระอยู่ในความคุ้มครองของศูนย์ได้เพียง 3วัน พ่อของเธอก็ได้มาขอดูแบบสอบถามนั้นและศูนย์กลับยอมให้ดูซึ่งในความเป็นจริงแล้ว แบบสอบถามนี้ระบุอย่างชัดเจนว่า จะเก็บเรื่องราวที่เด็กเปิดเผยไว้เป็นความลับ

หลังจากนั้น คูริฮาระถูกพ่อบังคับให้เขียนจดหมายว่า เธอโกหกเรื่องที่ถูกพ่อทุบตีพร้อมขอโทษที่ทำ ให้ทุกคนวุ่นวาย และได้ย้ายโรงเรียนออกไป โดยที่เจ้าหน้าที่ของศูนย์สวัสดิภาพเด็กไม่เคยไปเยี่ยมเธอที่บ้านเลยแม้แต่ครั้งเดียว ซึ่งในไม่กี่เดือนต่อมา คูริฮาระได้เสียชีวิตลงในที่สุด