posttoday

นักวิทย์ฮ่องกงสร้าง"หุ่นยนต์จิ๋ว" ทลายเส้นเลือดอุดตัน!

05 กันยายน 2561

นักวิทยาศาสตร์ฮ่องกงพัฒนา "นาโนโรบอท" เลียนแบบลักษณะฝูงแมลงเพื่อหวังช่วยแก้ไขภาวะเส้นเลือดอุดตัน

นักวิทยาศาสตร์ฮ่องกงพัฒนา "นาโนโรบอท" เลียนแบบลักษณะฝูงแมลงเพื่อหวังช่วยแก้ไขภาวะเส้นเลือดอุดตัน

ปกติแล้วหากใครทราบว่าตนเองมีภาวะหลอดเลือดอุดตัน ก็ต้องพบแพทย์เพื่อให้แพทย์วินิจฉัยว่าเป็นแบบไหน แล้วต้องมีการรักษาอย่างไรต่อไป ซึ่งบางทีก็ต้องรักษาไปตั้งแต่ใช้ยาละลายลิ่มเลือด ผ่าเอาลิ่มเลือดออก หรือวางตะแกรงกรองลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำใหญ่เพื่อดักจับลิ่มเลือดที่กำลังเคลื่อนตัวไปยังปอด รวมทั้งการใส่ถุงน่องซัพพอร์ตเพื่อกระตุ้นให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น ซึ่งจะช่วยป้องกันการเกิดลิ่มเลือดหรืออาการบวม แต่ต้องใส่ไว้ตลอดเวลา ถอดออกเฉพาะตอนอาบน้ำและตอนนอนเท่านั้น

แต่ตอนนี้ นับเป็นอีกเรื่องน่ายินดีในวงการการแพทย์ ที่อาจต่อลมหายใจของหลายชีวิตได้ในอนาคต เมื่อนักวิทยาศาสตร์ฮ่องกงได้ค้นพบและพัฒนานาโนโรบอทที่จำลองลักษณะของฝูงแมลงตัวเล็กมากมาย ซึ่งอาจเป็นก้าวสำคัญในการแก้ไขภาวะเลือดแข็งตัวเป็นลิ่ม

เหล่านักวิทยาศาสตร์ นำทีมโดย ศาสตราจารย์ ลี จาง จากมหาวิทยาลัยไชนีสยูนิเวอร์ซิตี้ ในฮ่องกง ได้ออกแบบสนามพลังงานแม่เหล็กแบบสั่น ผนวกกับอนุภาคนาโนขนาดเล็กหลายล้านชิ้นที่มีขนาดอนุภาคต่ำกว่า 1 ไมครอน หรือหนึ่งในห้าของเซลล์เม็ดเลือดแดง เพื่อสร้างฝูงนาโนโรบอทที่มีลักษณะเหมือนแมลง โดยนาโนโรบอทตัวจิ๋วเหล่านี้เหมาะกับการใช้งานที่มีขนาดเล็กโดยเฉพาะ เช่น การเคลื่อนโมเลกุลด้วยความแม่นยำ และการตรวจหาโรคระบบทางเดินอาหารโดยการเคลื่อนที่ผ่านทางเดินอาหาร

นอกจากนี้ นาโนโรบอทเหล่านี้ยังสามารถรับและทำตามคำสั่งให้ขยายหรือหดตัว แยกตัวหรือรวมตัว ได้อย่างถูกต้องแม่นยำ รวมถึงยังสามารถปฏิบัติงานได้ในระดับไฮสปีดอีกด้วย

ทั้งนี้ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการที่นาโนโรบอทเหล่านี้จะเข้าไปช่วยรักษา และซ่อมแซมร่างกายของมนุษย์และสัตว์ที่ยังมีชีวิตอยู่ โดยเป้าหมายของนาโนโรบอทคือ มันจะถูกลำเลียงผ่านอวัยวะและเส้นเลือดเพื่อไปแก้ไขภาวะเลือดอุดตันและทำให้ยาสามารถเข้ารักษาได้ถูกจุด

อย่างไรก็ตาม ในตอนนี้นาโนโรบอทยังอยู่ในขั้นตอนการทดลองและพัฒนากับสัตว์ ดังนั้น จึงยังไม่ได้มีการทดลองกับมนุษย์ตัวเป็นๆ แต่ถึงอย่างนั้นเหล่าแพทย์และนักวิทยาศาสตร์ที่อยู่เบื้องหลังสิ่งประดิษฐ์นี้ก็กล่าวอย่างมีหวังว่า มันอาจสามารถใช้ในการแพทย์ได้จริงๆ ภายใน 5 ปี

หนึ่งในวัตถุประสงค์ของโครงการนี้ คือการพยายามเลียนแบบลักษณะของความเป็นฝูง แบบที่พบเห็นได้ตามธรรมชาติ เช่น ฝูงนก ฝูงปลา และแมลง เป็นต้น นอกจากนี้ นาโนโรบอทก็ยังได้รับแรงบันดาลใจมาจากภาพยนตร์และวัฒนธรรมป๊อปคัลเจอร์ด้วย อย่างที่จะเห็นการปรากฏตัวของนาโนโรบอทในการ์ตูนเรื่อง Big Hero 6 และทรานส์ฟอร์เมอร์ส

อย่างไรก็ตาม นาโนโรบอทก็ยังมีข้อจำกัดอยู่มาก เช่น มันไม่สามารถใช้รักษาหัวใจได้เนื่องจากหัวใจมีความเร็วของการไหลเวียนโลหิตสูง ซึ่งอาจทำให้นาโนโรบอทตัวจิ๋วโดนซัดออกไปได้

ที่มา www.m2fnews.com