posttoday

ที่ประชุม IMF คว้าน้ำเหลวสงครามค่าเงินส่อเรื้อรัง

11 ตุลาคม 2553

ปัญหาค่าเงินทั่วโลกรุนแรงหนัก ที่ประชุมไอเอ็มเอฟล้มเหลว นานาประเทศไม่ลงรอย เตือนส่อเค้าซ้ำรอยวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่

ปัญหาค่าเงินทั่วโลกรุนแรงหนัก ที่ประชุมไอเอ็มเอฟล้มเหลว นานาประเทศไม่ลงรอย เตือนส่อเค้าซ้ำรอยวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่

ที่ประชุมระดับรัฐมนตรีของสมาชิกกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) และธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) ที่กรุงวอชิงตัน ของสหรัฐ ปิดฉากลงแล้ว โดยที่ไม่สามารถลงรอยกันได้ในประเด็นความขัดแย้งเรื่องค่าเงิน หลังจากที่หลายประเทศใช้มาตรการลดค่าเงินเพื่อส่งเสริมการส่งออก และกระตุ้นการจ้างงาน ขณะที่ประเทศคู่ค้าซึ่งได้รับผลกระทบจากท่าทีดังกล่าว เตรียมตอบโต้ด้วยการใช้มาตรการกีดกันทางการค้า

ที่ประชุม IMF คว้าน้ำเหลวสงครามค่าเงินส่อเรื้อรัง

การเผชิญหน้าระหว่างประเทศต่างๆ และความล้มเหลวของการประชุมไอเอ็มเอฟ/เวิลด์แบงก์ อาจส่งผลกระทบต่อการประชุมกลุ่มประเทศ จี20 ที่เกาหลีในเดือน พ.ย. นอกจากนี้ยังเกิดกระแสวิตกว่าการใช้มาตรการกีดกันทางการค้าเพื่อตอบโต้การลดค่าเงิน อาจกลายเป็นชนวนให้เกิดสงครามการค้า ซึ่งเป็นหนึ่งในมูลเหตุที่ทำให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่เมื่อทศวรรษที่ 1930

จิม ฟลาเฮอร์ตี รัฐมนตรีคลังของแคนาดา กล่าวว่า ความขัดแย้งเรื่องค่าเงินอาจแปรเปลี่ยนเป็นประเด็นความขัดแย้งด้านการค้าได้ไม่ยาก ส่วน คริสทีน ลาการ์ด รัฐมนตรีคลังของฝรั่งเศส กล่าวด้วยความกังวลถึงกรณีความขัดแย้งระหว่างจีนกับนานาประเทศเรื่องค่าเงินหยวน ซึ่งเป็นกรณีตัวอย่างของสงครามค่าเงิน ว่า แม้ในการทำสงครามจะต้องมีผู้แพ้และผู้ชนะ แต่ในความขัดแย้งนี้จะต้องไม่มีฝ่ายที่พ่ายแพ้

ก่อนหน้านี้ ยูซุฟ บูทรอส กาลี รัฐมนตรีคลังของอียิปต์ เปิดเผยกับเอพี ว่า การประชุมครั้งนี้เกิดความขัดแย้งขึ้นในหลายกรณี ทว่าที่ประชุมประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง จากการที่ทุกประเทศยอมรับบทบาทของไอเอ็มเอฟในการสะสางความขัดแย้งเรื่องค่าเงิน โดย โดมินิก สเตราส์คาห์น ผู้อำนวยการไอเอ็มเอฟ จะรับหน้าที่เป็นผู้วิเคราะห์ ไกล่เกลี่ย และตัดสินกรณีขัดแย้งเรื่องค่าเงินระหว่างสหรัฐ กลุ่มยูโรโซน จีน และญี่ปุ่น

ทั้งนี้ แถลงการณ์ของการประชุมไอเอ็มเอฟ ระบุว่า แม้ระบบการเงินโลกจะมั่นคงขึ้น แต่ยังคงมีประเด็นความขัดแย้งทางการเงินหลายประเด็น เนื่องจากเศรษฐกิจโลกที่ไม่ได้สมดุล กระแสทุนไหลเข้าที่ไม่มีเสถียรภาพ ความเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยนของสกุลเงินต่างๆ และการปรับเพิ่มและลดของทุนสำรองเงินตราต่างประเทศ

“เนื่องจากประเด็นเหล่านี้มีความสำคัญอย่างยิ่งยวด เราจึงเรียกร้องให้กองทุนทำงานอย่างหนักเพื่อแก้ไขประเด็นเหล่านี้ รวมถึงทำการศึกษาในระดับลึกเพื่อเพิ่มศักยภาพของนโยบายต่างๆ ในการบริหารจัดการกระแสทุนไหลเข้า” แถลงการณ์ระบุ

ด้าน สเตราส์คาห์น กล่าวว่า การประชุมระดับรัฐมนตรีของไอเอ็มเอฟในครั้งนี้มิได้ประสบความล้มเหลว แต่เป็นการปูทางให้กับการประชุม จี20 ที่กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ และการประชุมของไอเอ็มเอฟในครั้งต่อๆ ไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่ม จี20 ที่ยังยึดมั่นกับหลักการของกลุ่มที่จะปรับสมดุลการค้าโลก ซึ่งการจะทำเช่นนั้นจะต้องปรับเปลี่ยนนโยบายเกี่ยวกับค่าเงินเช่นกัน

“ผมไม่ได้ผิดหวัง เราสามารถพูดคุยครั้งแล้วครั้งเล่า แต่สิ่งที่เราต้องการคือลงมือทำ และผมไม่เชื่อว่าการลงมือแก้ไขปัญหานี้จะสำเร็จลงได้หากไม่ผ่านการร่วมมือระหว่างกัน” สเตราส์คาห์น กล่าวกับผู้สื่อข่าวหลังเสร็จสิ้นการประชุมอย่างเป็นทางการ

อย่างไรก็ตาม ผู้อำนวยการไอเอ็มเอฟ ยอมรับว่ายังมีความเห็นที่แตกต่างเกี่ยวกับการให้เพิ่มสิทธิและเสียงประเทศกำลังพัฒนาในไอเอ็มเอฟ แม้ว่ากลุ่ม จี20 จะมีแถลงการณ์เรียกร้องให้ปฏิรูปไอเอ็มเอฟก็ตาม นอกจากนี้ ทิโมธี ไกธ์เนอร์ รัฐมนตรีคลังสหรัฐ ยังแสดงท่าทีกดดันประเทศกำลังพัฒนา โดยระบุว่าการเพิ่มสิทธิและเสียงในไอเอ็มเอฟควรพิจารณาจากความตั้งใจจริงของประเทศนั้นๆ ในการปฏิรูปค่าเงินของตน
ด้าน ออกซ์แฟม องค์กรเพื่อการกุศลระหว่างประเทศ ตำหนิท่าทีของรัฐมนตรีคลังสหรัฐที่พยายามเชื่อมโยงประเด็นค่าเงินกับการขยายสิทธิและเสียงของประเทศสมาชิกไอเอ็มเอฟ โดยออกซ์แฟมเตือนว่าไม่ควรใช้สงครามค่าเงินเป็นประเด็นต่อรองในกระบวนการปฏิรูปไอเอ็มเอฟ เพราะไอเอ็มเอฟจะไม่สามารถทำงานได้ หากตลาดเกิดใหม่ไม่มีส่วนร่วมในองค์กร