posttoday

อูเบอร์เสียโอกาสหนัก พ่ายคู่แข่ง-วืดทุนจีน

17 มิถุนายน 2560

ปัญหาภายในองค์กรของอูเบอร์ ทำให้คู่แข่งอย่าง "ลิฟต์" ช่วงชิงส่วนแบ่งการตลาดภายในสหรัฐ

ทีมข่าวต่างประเทศโพสต์ทูเดย์

ขณะที่ "อูเบอร์" ผู้ให้บริการไรด์- แชริ่งชื่อดังจากสหรัฐ กำลังมีปัญหาภายในองค์กรอย่างหนักจนทำให้ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ต้องพักจากงานบริหารไปและปล่อยให้คณะผู้บริหารลดอำนาจซีอีโอลง คู่แข่งอย่าง "ลิฟต์" ก็กำลังชิงส่วนแบ่งการตลาดภายในสหรัฐ ท่ามกลางธุรกิจแชริ่งที่เติบโตอย่างรวดเร็วและเป็นที่หมายตาของบรรดาบริษัทยักษ์ใหญ่จากจีน
         
นอกเหนือจากเผชิญปัญหาด้านกฎหมายในแต่ละประเทศ ที่มองว่า อูเบอร์เป็นแท็กซี่ไม่ใช่ผู้ให้บริการรถร่วมทางตามที่อูเบอร์อ้าง อูเบอร์ยังประสบปัญหาภายในองค์กรจากกรณีปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศและการเลือกปฏิบัติ รวมถึงปัญหาการฟ้องร้องจากอัลฟาเบต บริษัทแม่ของกูเกิล ในเรื่องการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาเทคโนโลยีรถยนต์ไร้คนขับของเวย์โม บริษัทลูกกูเกิล และยังเผชิญปัญหากับกระทรวงยุติธรรมสหรัฐ หลังใช้ซอฟต์แวร์เพื่อเลี่ยงการล่อซื้อ
         
ล่าสุด หญิงชาวอินเดียได้ฟ้อง อูเบอร์เพิ่มเติม หลัง เอริก อเล็กซานเดอร์ ประธานธุรกิจฝ่ายเอเชียของ อูเบอร์ ได้รับข้อมูลทางการแพทย์ของหญิงชาวอินเดีย ซึ่งถูกพนักงานขับรถของอูเบอร์ข่มขืนเมื่อปี 2014 และนำมาแบ่งปันพูดคุยกับทราวิส คาลานิก ซีอีโอ และเอมิล ไมเคิล รองประธานอาวุโสอูเบอร์ โดยมีใจความระบุว่าหญิงคนดังกล่าวอาจไม่ถูกข่มขืนจริงตามอ้าง สร้างความไม่พอใจอย่างมากต่อชาวอินเดีย ซึ่งอเล็กซานเดอร์และไมเคิลต่างถูกบีบออกจากอูเบอร์ไปแล้ว
         
สำนักข่าวบิซิเนส อินไซเดอร์ รายงานอ้างผลวิเคราะห์จากแอปโทเพีย บริษัทวิเคราะห์ข้อมูลแอพพลิเคชั่น พบว่า ยอดใช้งานลิฟต์ปรับตัวเพิ่มขึ้นสวนทางกับอูเบอร์ โดยจำนวนผู้ใช้งานประจำในทุกเดือนของลิฟต์ปรับขึ้น 18% ในทุกเดือนระหว่างเดือน ก.พ.-พ.ค. ขณะที่อูเบอร์ลดลงจาก 20% ในเดือน ก.พ. เป็น 18% ในเดือน มี.ค. และ 17% ในเดือน พ.ค.
         
นอกจากนี้ จากรายงานของมาร์เก็ตวอตช์ พบว่า ยอดดาวน์โหลดของ ลิฟต์กำลังปรับตัวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนใกล้เคียงกับยอดดาวน์โหลดของอูเบอร์ และความนิยมของชาวอเมริกันต่อ แอพพลิเคชั่นอูเบอร์ยังต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์ที่ 40% เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ต่ำที่สุดนับตั้งแต่มีการสำรวจความคิดเห็นในปี 2016
         
ทั้งนี้ ลิฟต์สามารถเพิ่มทุนได้ 600 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 2.1 หมื่นล้านบาท) ในเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา และยังได้จับมือกับเวย์โม ซึ่งกำลังมีปัญหากับอูเบอร์ในการพัฒนารถยนต์ไร้คนขับอีกด้วย
         
ทุนจีนผงาดธุรกิจแชริ่ง

บลูมเบิร์กรายงานอ้างแหล่งข่าวเกี่ยวข้องว่า แจ็ค หม่า ผู้ก่อตั้งอาลี บาบา อี-คอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่ของจีน จะร่วมมือกับซอฟต์แบงก์ กรุ๊ป บริษัทเทคโนโลยีสื่อสารยักษ์ใหญ่ในญี่ปุ่น ลงทุนใน "แกร็บ" สตาร์ทอัพไรด์- แชริ่งแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยคาดจะระดมทุนให้แกร็บได้ 1,500 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 5.1 หมื่นล้านบาท)
         
ก่อนหน้านี้ เทคครันช์ รายงานอ้างแหล่งข่าวสองแห่ง เปิดเผยว่า เทนเซนต์ โฮลดิ้ง ยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีจากจีนเข้าลงทุนใน "โก-เจค" ไรด์-แชริ่งในรูปแบบจักรยานยนต์ของอินโดนีเซีย ในการระดมทุนรอบเดือน พ.ค.ที่ 1,200 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 4.2 หมื่นล้านบาท) โดยมีอาลีบาบาเข้าเจรจาเป็นผู้ร่วมทุนด้วยแต่ไม่ได้ข้อตกลงกับโก-เจค หลังปีที่แล้ว โก-เจคส่งสัญญาณจะออกไปบุกตลาดต่างประเทศนอกเหนืออินโดนีเซีย
         
ไม่ใช่เพียงแค่สตาร์ทอัพในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่กูเกิลคาดว่าจะเติบโตจาก 2,500 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 8.7 หมื่นล้านบาท) ในปี 2015 เป็น 1.3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 4.5 แสนล้านบาท) ภายในปี 2025 ทุนยักษ์ใหญ่จากจีนทั้งอาลีบาบาและเทนเซนต์ยังลงทุนกับอุตสาหกรรมไรด์-แชริ่งในประเทศ เช่น ตีตี้ ชูซิง ธุรกิจแบบเดียวกับอูเบอร์ในจีน
         
แชริ่งไปไกลกว่ายานยนต์

โม-ไบค์ สตาร์ทอัพเช่าจักรยานจากจีน สามารถเพิ่มทุนได้ 600 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 2.1 หมื่นล้านบาท) ซึ่งเป็นการเพิ่มทุนครั้งใหญ่ที่สุดของสตาร์ทอัพดังกล่าว นำโดยเทนเซนต์ ซึ่งเตรียมการที่จะเข้าไปเจาะตลาดอังกฤษ เริ่มต้นที่เมืองแมนเชสเตอร์และซัลฟอร์ด ด้วยจำนวนจักรยาน 1,000 คัน
         
โม-ไบค์ ให้เช่าจักรยานด้วยการติดจีพีเอสไว้กับจักรยาน ซึ่งทำให้ผู้ใช้สามารถหาตำแหน่งของจักรยานว่างผ่านแอพพลิเคชั่น และขี่ไปที่อื่นได้ โดยปัจจุบัน โม-ไบค์ให้บริการใน 100 เมืองทั่วประเทศจีนและสิงคโปร์
         
ธุรกิจในลักษณะดังกล่าวกำลังเติบโตและได้รับความนิยมอย่างมากในประเทศจีน โดยหนังสือพิมพ์เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ รายงานว่า ธุรกิจปั่นจักรยานเกิดขึ้นในจีนมากกว่า 30 แอพพลิเคชั่น สอดรับกับความต้องการจักรยานในจีน ซึ่งแอพพลิเคชั่นดังกล่าวทำให้ผู้ใช้ไม่จำเป็นต้องซื้อรถหรือจักรยาน
         
นอกจากธุรกิจแบ่งปันจักรยานแล้ว ในจีนยังเกิดธุรกิจแชริ่งอื่นๆ เช่น ธุรกิจเช่ายืมอุปกรณ์บาสเกตบอลอย่าง จูเล่อเก้อชิว ที่ติดตั้งล็อกเกอร์บาสเกตบอลเอาไว้ทั่วทุกสนามบาสเกตบอลสาธารณะทั่วประเทศ
         
"ทุกคนกำลังติดอยู่กับความสะดวกสบายอย่างการแบ่งปันจักรยาน ผมเลยคิดว่าทำไมผมไม่เปิดทางให้คนเข้าถึงบาสเกตบอลในลักษณะเดียวกัน" ซู่หมิน ผู้ก่อตั้งแอพพลิเคชั่นดังกล่าว ระบุ