ไทยฉาวครองที่ 7 ธุรกิจมืดยึดประเทศ
รายงานแฉธุรกิจเงามืดทั่วโลกชี้ ประเทศไทยรั้งที่ 7 ท้ายตารางประเทศที่มีธุรกิจมืดมากที่สุดในโลก
รายงานแฉธุรกิจเงามืดทั่วโลกชี้ ประเทศไทยรั้งที่ 7 ท้ายตารางประเทศที่มีธุรกิจมืดมากที่สุดในโลก
รายงานเรื่องการประเมินธุรกิจมืดทั่วโลกตั้งแต่ปี 1999–2007 โดย เฟรดริช ชไนเดอร์ นักเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยโจอานส์ เคปเลอร์ ออฟ ลินซ์ ในออสเตรีย ระบุว่า ประเทศไทยอยู่ในลำดับที่ 7 จากท้ายตาราง หรืออันดับที่ 144 จากทั้งหมด 152 ประเทศที่มีธุรกิจมืดมากที่สุดในโลก
ประเทศไทยซึ่งเป็นชาติเดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ติดท็อปเทนกลุ่มท้ายตาราง หรือย่ำแย่ที่สุดในโลกนั้น มีอัตราเฉลี่ยของขนาดธุรกิจมืดใหญ่ถึง 54.7% เมื่อเทียบกับตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ในช่วง 9 ปีที่ผ่านมาระหว่างปี 1999–2007
ทั้งนี้ รายงานดังกล่าวทำให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ธุรกิจที่เกิดขึ้นในแต่ละประเทศนั้นมีสองประเภท คือ ธุรกิจอย่างเป็นทางการ ที่ทางรัฐบาลและสถาบันการเงินชี้วัดผ่านตัวเลขจีดีพี อัตราการจ้างงาน ตัวเลขประกันสังคม การจ่ายภาษี เป็นต้น
ขณะที่ธุรกิจอีกชนิดหนึ่ง คือ ธุรกิจมืด ซึ่งในรายงานได้ระบุคำจำกัดความไว้เบื้องต้น 4 ข้อใหญ่ๆ คือ เป็นธุรกิจที่หลีกเลี่ยงการจ่ายภาษีต่างๆ หลีกเลี่ยงการตอบแทนคืนกลับสังคม หลีกเลี่ยงกฎหมายพื้นฐานในการประกอบธุรกิจ และหลีกเลี่ยงกระบวนการขั้นตอนต่างๆ ของทางการ
สิงคโปร์ถือเป็นประเทศที่มีธุรกิจมืดน้อยที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมีอัตราเฉลี่ยของขนาดธุรกิจมืดอยู่ที่เพียง 13.3% เท่านั้น โดยอยู่ในอันดับที่ 9 จากต้นตาราง ตามมาด้วยเวียดนามมีอัตราเฉลี่ยอยู่ที่ 16.1% อยู่ในอันดับที่ 16 อินโดนีเซีย อยู่อันดับที่ 33 มาเลเซียอันดับที่ 62 ลาวอันดับที่ 63 ฟิลิปปินส์อันดับที่ 122 และกัมพูชาอันดับที่ 140
ขณะที่ประเทศซึ่งมีธุรกิจมืดมากที่สุดในโลกคือ จอร์เจีย โบลิเวีย และเปรู ตามลำดับ ขณะที่กรีซซึ่งอยู่ในอันดับที่ 57 นั้น มีสัดส่วนของธุรกิจมืดขนาด 31% ของตัวเลขจีดีพีประเทศปี 2007 เลยทีเดียว
ด้านประเทศที่อัตราธุรกิจมืดต่ำที่สุดในโลก คือ สวิตเซอร์แลนด์ สหรัฐ และออสเตรีย ตามลำดับ
การประเมินธุรกิจเงามืด ซึ่งเป็นธุรกิจที่ทั้งถูกและผิดกฎหมายแฝงอยู่ในทุกสังคมทั่วประเทศนั้น มีสัดส่วนโดยเฉลี่ยที่ 38.7% ของจีดีพีประเทศ ใน 98 ประเทศกำลังพัฒนาทั่วโลกระหว่างปี 2006 หรือแบ่งเป็นประเทศในโซนยุโรปตะวันออกและเอเชียกลาง ที่เฉลี่ยประเทศละ 38.1% และประเทศร่ำรวยในกลุ่มประเทศองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนา (โออีซีดี) เฉลี่ย 18.7% โดยมีปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญจากการจัดเก็บภาษีที่สูงขึ้น กฎระเบียบที่เข้มงวดขึ้นในตลาดแรงงาน รวมถึงปัจจัยอย่างคุณภาพของสินค้าและบริการสาธารณะ ตลอดจนปัจจัยสภาพเศรษฐกิจที่เป็นทางการของประเทศนั้นๆ
บลูมเบิร์กระบุว่า ขนาดของธุรกิจในเงามืดเป็นที่สำคัญที่ขาดเสียไม่ได้ นั่นเพราะมีตัวอย่างให้เห็นอย่างประเทศกรีซ ซึ่งต้องกำลังเผชิญชะตากรรมกับวิกฤตเศรษฐกิจอย่างหนัก จนปั่นป่วนไปทั่วยุโรปนั้น ปัจจัยหนึ่งเป็นเพราะพนักงานและบริษัทต่างๆ ของกรีซ เลี่ยงภาษีมูลค่าถึงกว่า 3.1 หมื่นล้านยูโร (ราว 1.3 ล้านล้านบาท) ซึ่งคิดเป็นตัวเลขราว 10% ของจีดีพี
ตัวเลขรายได้ทางภาษีของกรีซในช่วงปี 20002007 ตกลงมาอยู่ที่เพียง 2.5% ของจีดีพี และถึงเป็นตัวเลขที่ต่ำที่สุดในยูโรโซนอีกด้วย
ดังนั้น ในปัจจุบันกรีซเป็นประเทศหนึ่งที่พยายามผลักดันและแก้ไขปัญหาดังกล่าว หนึ่งในวิธีการก็คือการสนับสนุนให้ผู้บริโภครับใบเสร็จรับเงินทุกครั้งเมื่อซื้อสินค้า
ชไนเดอร์ ระบุ ผลรายงานและแนะนำทิ้งท้ายว่า จากการศึกษาธุรกิจมืดมีขนาดใหญ่ขึ้นในทุกๆ ปี และในเกือบทุกประเทศ ดังนั้นรัฐบาลของแต่ละประเทศจำเป็นต้องใส่ใจในเรื่องดังกล่าว และหามาตรการในการลดธุรกิจมืดให้น้อยลง พร้อมกับสร้างธุรกิจที่เป็นทางการ และเป็นตัวขับเคลื่อนธุรกิจของประเทศให้มากที่สุด
นอกจากนี้ ยังระบุว่ามาตรการในการสร้างธุรกิจที่ถูกต้องจะเป็นการช่วยให้เศรษฐกิจโดยรวมของประเทศมีความยั่งยืนมากอีกด้วย