วงเสวนาแก้ค่าไฟแพงจี้ฉีกสัญญาผูกขาดไม่เป็นธรรมปลดแอกภาระประชาชน
วงเสวนา"สาเหตุไฟฟ้าแพง ประชาชนเดือดร้อนเพราะใคร?"จี้เลิกสัญญาไม่เป็นธรรม สกัดกลุ่มทุนผูกขาดพลังงานชาติ ชี้กฎหมายหรือข้อบังคับไม่ได้พุ่งเป้าไปที่ผู้มีอำนาจรับผิดชอบโดยตรง ปมหมักหมมสะสมถูกโยนให้ผู้บริโภคใช้หนี้
องค์กรส่งเสริมการแข่งขันที่เป็นธรรมและต่อต้านการผูกขาด Fair Competition & Anti-Monopoly Organization จัดการเสวนาหัวข้อ "สาเหตุไฟฟ้าแพง ประชาชนเดือดร้อนเพราะใคร?" เมื่อ4กันยาน2567 ที่โรงแรม เอส 31 ห้อง Ballroom 2 ชั้น5 ระหว่างเวลา 13.30 -17.00 น. การสัมนาช่วงที่2 เป็นการนั่งเสวนาวิชาการผู้เข้าร่วมประกอบด้วย
ดร.มนต์ชัย จงไกรรัตนกุล รองประธานคณะกรรมการเผยแพร่ความรู้กฎหมายสภาทนายความ นายณัชพล สุพัฒนะ (คุณมาร์ค พิทบูล) นักวิจารณ์อิสระ นายเมธา มาสขาว ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ น.ส.จริยา เสนพงศ์ หัวหน้างานรณรงค์เพื่อการเปลี่ยนผ่านทางพลังงาน กรีนพีซ ประเทศไทย นายชัชนัย ปานเพชร ทนายความอิสระ และตัวแทนผู้บริโภคและประชาชน
นายเสนอ วิสุทธนะ ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้านครหลวง (สภฟ.) นายสุนทร เอกพันธ์ รองประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยและวิศวกรประจำโรงไฟฟ้าภาคตะวันออกเฉียงเหนือ น.ต.ศิธา ทิวารี ประธานองค์กรส่งเสริมการแข่งขัน ที่เป็นธรรมและต่อต้านการผูกขาดฯ โดยมี น.ส.ณฐปณีย์ เอียดศรีไชย ผู้สื่อข่าวภาคสนามชื่อดัง และธีร์วัฒน์ ชูรัตน์ ผู้ประกาศข่าวเนชั่น ดำเนินรายการเสวนา
ดร.มนต์ชัย กล่าวว่า เรื่องปัญหาค่าไฟแพง เรามีพ.ร.บ.แข่งขันทางการค้า พ.ศ.2560 ควรใช้วิธีการฟ้องต่อศาลยุติธรรมว่า มีบริษัทเอกชนยักษ์ใหญ่ผูกขาดสูงเกินกว่าที่บริษัทบางบริษัทจะเข้าไปได้ การที่จะให้ผู้บริโภครวมตัวกันไปฟ้องเป็นระบบเรียกว่าตามกฎหมายพระราชบัญญัติแข่งขันและผูกขาดทางการค้า แต่ก็ต้องยอมรับว่าไม่มีใครที่อยากจะไปกระโดดเป็นโจทก์เพราะกลัวว่าตัวเองจะได้รับผลกระทบเลยกลายเป็นการผลัดวันประกันพรุ่ง รัฐธรรมนูญวางกรอบว่า สาธารณูปโภคมากกว่า51เปอร์เซ็นต์ การไฟฟ้าต้องเข้าดำเนินการแต่สุดท้ายพวกเราก็คุยอยู่ในอ่างแบบนี้
ส่วนนายณัชพล ระบุว่า ค่าไฟแพงเกิดจากการคอรัปชั่นโดนนักการเมืองเป็นคนที่บริหารนโยบายส่งผ่านไปยังข้าราชการไปยังรัฐวิสาหกิจแล้วท้ายสุดก็คือตัวการที่ทำให้ค่าไฟแพง รัฐบาลในอดีตเมื่อเริ่มไม่ไหวเศรษฐกิจไม่ดีก็คิดลดภาระ หนี้สินให้เอกชนมาเริ่มผลิตกระแสไฟฟ้าเมื่อปี2532 คือจุดเริ่มต้นการทุจริตเชิงนโยบายต่างๆที่เอื้อเอกชน ค่าไฟทุกวันนี้ยังแพงไม่จริง แท้จริงต้องแพงกว่านี้แต่เพราะเอาภาษีไปอุดกัน กฟผ.กลายเป็นหนี้แสนล้านล้านบาท
ด้านนายเมธา กล่าวว่า ค่าไฟฟ้าแพง เกิดจาก2สาเหตุหลัก สาเหตุแรกคือว่าการพยายามแปรรูปการไฟฟ้าฝ่ายผลิตซึ่งเป็นทรัพย์สมบัติส่วนรวมของชาติที่กระทบต่อความมั่นคง เมื่อแปรรูปไม่ได้ก็พยายามทำให้กฟผ.เล็กลงคือลดการผลิตไฟฟ้าไปสร้างโรงงานผลิตไฟฟ้าบริษัทย่อยให้เอกชนถือหุ้นเป็นของกลุ่มทุนใหญ่ สาเหตุที่สองเป็นเรื่องของสัญญาที่ไม่เป็นธรรมมาจากแผนการตั้งแต่แรก มีสัญญาต่างๆ ผูกพันกันเพราะธุรกิจการเมือง ผู้บริโภคไม่สามารถเข้าถึงสัญญาที่ไม่เป็นธรรมเหล่านี้ได้
ขณะที่นายชัชนัย กล่าวว่า ค่าไฟแพงเกิดจากสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระหว่างรัฐกับเอกชนที่ไม่เป็นธรรม มีข้อสงสัยว่าเข้าข่ายการทุจริตเชิงนโยบายหรือไม่เป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่ใครเพราะไม่เคยเห็นตัวสัญญาฉบับจริง สมมุติว่าต้องมีค่าใช้จ่ายหรือส่วนต่างที่เสียไปใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ ฝ่ายการเมืองรัฐวิสาหกิจหรือภาคเอกชนที่ทำให้รัฐเสียหาย เราต้องบอกเลิกสัญญาฟ้องทั้งทางแพ่งและทางอาญา ถ้าจะต้องแก้ก็ถ้าจะแก้ที่ต้นเหตุก็คงจะต้องไปยกเลิกสัญญาหรือตัวมติต่างไที่เกิดขึ้นหากจะแก้ไขที่ปลายเหตุก็คงต้องดำเนินคดีกับบุคคลที่เกี่ยวข้องรัฐอาจจะเป็นตัวการส่วนภาคเอกชนก็อาจจะเป็นตัวการร่วมหรือผู้สนับสนุนเข้าข่ายทุจริตที่ไม่มีการประมูลเป็นภาระที่ส่งผลให้ประชาชนจ่ายค่าไฟแพง
ขณะที่น.ส.จริยา กล่าวว่า ค่าไฟแพง เกิดจากการพยากรณ์การใช้ไฟฟ้าและแผนพลังงานที่ผิดพลาดสะสมเป็นดินพอกหางหมูไม่มีคนที่รับผิดชอบถือโจทย์ใหญ่ ขณะที่กฎหมายหรือข้อบังคับต่างๆไม่ได้พุ่งเป้าไปที่ความรับผิดชอบของคนที่มีอำนาจ เมื่อเราพูดถึงหนี้ที่กำลังจะจ่ายมากกว่าแสนล้าน เป็นภาระของทุกคนในฐานะผู้บริโภคใช้ไฟฟ้าเป็นหนี้ที่มาจากการบริหารพลังงานที่ไม่เป็นธรรมแล้วหนี้ที่เกิดขึ้นเพิ่มหลังจากนี้ภายใต้รัฐบาลใหม่ แผนพีดีพีร่างใหม่2024 ต้องมีการทบทวนการพยากรณ์เรื่องของความต้องการใช้ไฟฟ้าและกำลังสำรองที่ต้องผลิตให้ได้ในระบบก็คือหนึ่งแสนหนึ่งหมื่นเมกะวัตหรือหนึ่งเท่าตัว ค่าไฟฟ้าทั้งหมดเป็นภาระของทุกคนอีกรอบ