posttoday

กางกม.เด็กชายป.3เก็บเงินสด4หมื่นบาทคืนเจ้าของต้องได้สินน้ำใจ3,500บาท

18 มีนาคม 2567

เปิดประมวลกฎหมายแพ่งพาณิชย์ ตอบข้อสงสัย เด็กชายป.3เก็บเงินสด4หมื่นบาทคืนเจ้าของทรัพย์สิน ต้องได้รับสินน้ำใจตอบแทน3,500บาท

กรณีเด็กชายชั้นป.3ของโรงเรียนแห่งหนึ่งในจ.ตรัง เก็บเงินสดได้เป็นจำนวน 40,000 บาท ในซุปเปอร์สโตร์แห่งหนึ่งที่อ.กันตังต่อมามีการส่งคืนเจ้าของเป็นที่เรียบร้อยและได้รับรางวัลเป็นค่าตอบแทนเป็นจำนวน 20 บาทและมีผู้ชมต่างยินดีกับการทำความดีของเด็กชายคนดังกล่าว 

โพสต์ทูเดย์ตรวจสอบข้อกฎหมายพบว่า ผู้เก็บได้ต้องส่งคืนเจ้าของ ซึ่งเจ้าของต้องให้สินน้ำใจตอบแทน ตามที่ถูกกำหนดอยู่ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1324 ระบุถึงค่าตอบแทนที่ผู้เก็บของแล้วคืนควรได้ไว้ดังนี้

ผู้เก็บได้ ซึ่ง ทรัพย์สินหาย อาจเรียกร้องเอา รางวัล จากบุคคล ผู้มีสิทธิจะรับทรัพย์สินเป็นจำนวนร้อยละสิบแห่งค่าทรัพย์สิน ภายในราคา"สามหมื่นบาท"และถ้าราคาสูงกว่านั้นขึ้นไปให้คิดให้อีก"ร้อยละห้า"ในจำนวนที่เพิ่มขึ้น 

แต่ถ้าผู้เก็บได้ ซึ่งทรัพย์สินหาย ได้ส่งมอบ ทรัพย์สิน แก่ เจ้าพนักงานตำรวจ หรือ พนักงานเจ้าหน้าที่อื่นให้เสียเงินอีกร้อยละสองครึ่ง แห่งค่าทรัพย์สิน เป็น ค่าธรรมเนียมแก่ทบวงการนั้นๆ เพิ่มขึ้น เป็นส่วนหนึ่ง ต่างหากจากรางวัล ซึ่งให้แก่ผู้เก็บได้แต่ค่าธรรมเนียมนี้ ให้จำกัดไว้ ไม่ให้เกิน หนึ่งพันบาท

ถ้า ผู้เก็บได้ ซึ่ง ทรัพย์สินหาย มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติท่านว่าผู้นั้นไม่มีสิทธิจะรับรางวัล

หากแปลความข้อกฎหมายให้ง่ายกว่านั้น หมายความดังนี้

 
- มูลค่าของไม่เกิน 30,000 บาทผู้เก็บได้มีสิทธิเรียกร้องค่าตอบแทนร้อยละ 10 ของมูลค่าสิ่งของที่เก็บได้ หรือเก็บของ 30,000 ได้ 3,000 บาท

- มูลค่าของเกินกว่า 30,000 บาท ผู้เก็บได้มีสิทธิเรียกร้องค่าตอบแทนเพิ่มอีกร้อยละ 5 ของมูลค่าที่เกิน 30,000 บาท

- ถ้าผู้เก็บของได้นำไปแจ้งเจ้าหน้าที่ เจ้าของต้องจ่ายค่าธรรมเนียมให้แก่หน่วยงานนั้นอีกร้อยละ 2.5 นอกเหนือจากค่าตอบแทนที่มอบให้แก่ผู้เก็บได้แต่ไม่เกิน 1,000 บาท

ดังนั้น เด็กชายชั้นป.3 ที่เก็บเงินได้40,000 บาท ควรจะได้สินน้ำใจ เป็นจำนวนเงิน 3,500 บาท  

ส่วนผู้ที่เก็บทรัพย์สินที่หายได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1323 ต้องปฏิบัติดังนี้

(1) ส่งมอบ ทรัพย์สิน นั้น แก่ ผู้ของหาย หรือ เจ้าของ หรือ บุคคล อื่น ผู้มีสิทธิจะรับ ทรัพย์สิน นั้น หรือ

(2) แจ้งแก่ ผู้ของหาย หรือ เจ้าของ หรือ บุคคล อื่น ผู้มีสิทธิจะรับ ทรัพย์สิน นั้น โดยมิชักช้า หรือ

(3) ส่งมอบ ทรัพย์สิน นั้น แก่ เจ้าพนักงานตำรวจ หรือ พนักงานเจ้าหน้าที่ อื่น ภายใน สามวัน และ แจ้งพฤติการณ์ ตามที่ทราบ อันเป็นเครื่องช่วย ในการสืบหา ตัวบุคคล ผู้มีสิทธิจะรับ ทรัพย์สิน นั้น

แต่ถ้า ไม่ทราบ ตัวผู้ของหาย เจ้าของ หรือ บุคคลอื่น ผู้มีสิทธิจะรับ ทรัพย์สิน ก็ดี หรือ บุคคล ดั่งระบุนั้น ไม่รับมอบ ทรัพย์สิน ก็ดี ท่าน ให้ดำเนินการ ตาม วิธีอันบัญญัติไว้ ใน อนุมาตรา (3)

ทั้งนี้ ท่านว่า ผู้เก็บได้ ซึ่ง ทรัพย์สิน หาย ต้อง รักษา ทรัพย์สิน นั้น ไว้ ด้วยความระมัดระวัง อันสมควร จนกว่าจะส่งมอบ

สรุปคือ เมื่อเก็บทรัพย์สินได้

1. รีบส่งมอบทรัพย์คืนแก่เจ้าของ

2. รีบแจ้งแก่ผู้ของหาย หรือเจ้าของ โดยเร็ว

3. ส่งมอบทรัพย์แก่ตำรวจหรือพนักงานเจ้าหน้าที่อื่นภายใน 3 วัน

ทั้งนี้ หากเจ้าของทรัพย์สิน ไม่มารับคืนภายในเวลา 1 ปี นับตั้งแต่วันที่เก็บได้ กรรมสิทธิ์นั้นจะตกเป็นของผู้เก็บได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1325

ถ้า ผู้เก็บได้ ซึ่ง ทรัพย์สิน หาย ได้ปฏิบัติตาม บทบัญญัติ มาตรา 1323 แล้ว และ ผู้มีสิทธิจะรับ ทรัพย์สิน นั้น มิได้เรียกเอา ภายใน หนึ่งปี นับแต่ วันที่เก็บได้ ไซร้ ท่านว่า กรรมสิทธิ์ ตกแก่ ผู้เก็บได้ 

แต่ถ้า ทรัพย์สิน ซึ่ง ไม่มีผู้เรียกเอา นั้น เป็น โบราณวัตถุ ไซร้ กรรมสิทธิ์ แห่ง ทรัพย์สิน นั้น ตกแก่แผ่นดิน แต่ ผู้เก็บได้ มีสิทธิ จะได้รับ รางวัล ร้อยละสิบ แห่ง ค่า ทรัพย์สิน นั้น