posttoday

วงเสวนาวิชาการแนะปฏิรูปตำรวจเริ่มต้นที่เคารพสิทธิพื้นฐานประชาชน

22 มกราคม 2567

วงเสวนา นิติศาสตร์มธ.ชี้ตำรวจจับลุงเปี๊ยกบังคับสารภาพเข้าข่ายอุ้มหาย ชี้สตช.ดำเนินคดีแค่ม.157มีละเมิดอีก แนะปฏิรูปตำรวจกระบวนการยุติธรรมไทยเจ้าหน้าที่จำเป็นต้องมีความรู้ด้านมนุษยชนปกป้องสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน

นายปกป้อง ศรีสนิท คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวในงานสัมมนาการปฏิรูปตำรวจและกระบวนการยุติธรรมไทย แบบทำน้อยได้มากและเห็นผลเร็ว : กรณีศึกษาลุงเปี๊ยก ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ว่า กระบวนการยุติธรรมจะดีหรือไม่ดีอยู่ที่ต้นทาง หลายคดีตำรวจทำงานได้ดีก็จะสร้างความเป็นธรรมให้สังคม ความสงบเรียบร้อยกลับมา ผู้เสียหายได้รับการเยียวยา ซึ่งก็มีให้เราเห็น แต่บางคดีที่เป็นข่าวและไม่เป็นข่าวที่อยู่ในชั้นตำรวจร ก็เกิดปัญหาขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นคอร์รัปชั่น การแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม หรือช่วยเหลือกันในทางที่มิชอบ ทำให้เกิดปัญหาในภาพรวม ทั้งนี้ ความผิดในการรีดให้ผู้ต้องหารับสารภาพ แต่ไม่รุนแรงถึงขั้นพ.ร.บ.อุ้มหาย คือการกระทำให้บุคคลถูกย่ำยีศักดิ์ศรีโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ เป็นโทษอาญาเหมือนกัน แต่เบากว่าจำคุกไม่เกิน 3 ปี
 

นอกจากนี้ยังเห็นว่า คุณสมบัติของการเป็นตำรวจที่ดีคือคนเป็นผู้นำต้องยึดกฎหมาย มีความรู้ที่กว้างขวางเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน และตำรวจจำเป็นต้องปกป้องสิทธิพื้นฐานของประชาชนต้องมีความรู้เกี่ยวกับกฎหมาย ที่สำคัญยังต้องทำงานเป็นทีม ต้องรู้นิสัยและวัฒนธรรมของคนกลุ่มต่างๆ ที่มีความแตกต่างกัน

ด้าน นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล ผู้อำนวยการศูนย์นิติศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า กรณีลุงเปี๊ยก ทุกคนก็รู้ว่าไม่ได้เป็นคนฆ่าป้าบัวผัน แต่ยังให้ออกไปทำแผนรับสารภาพ เปิดแอร์ในห้องสอบสวนให้หนาว บังคับให้ถอดเสื้อ เอาถุงดำเตรียมคลุมหัว ถือว่าไม่เคารพสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน ทั้งที่กฎหมายให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์ ดังนั้นกรณีนี้เข้าข่ายอุ้มหายอย่างชัดเจนที่สุด แต่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เอาผิดแค่กฎหมายอาญามาตรา 157 ซึ่งถ้าไม่เอาจริงกับตำรวจผู้ละเมิดกฎหมาย ต่อไปก็จะมีการละเมิดอีก เพราะทำไปแล้วไม่มีผลอะไร ที่สำคัญตำรวจ อัยการ ศาล ราชทัณฑ์ ต่างคนต่างทำงาน ไม่มีการบูรณาการ และไม่มีการประเมินผลกระบวนการยุติธรรม
 

ดังนั้น จึงเสนอแนวทางทำน้อยได้มาก เห็นผลเร็ว ไม่ถึงขั้นต้องแก้ พ.ร.บ. แต่ให้เปลี่ยนเป็นหลักสูตรอบรมระยะสั้นที่ทำได้ทันที โดยให้ตำรวจมุ่งเน้นพลเมือง และเคารพกฎหมาย เมื่อผลสัมฤทธิ์ตามงาน ก็ประเมินความดีความชอบ เลื่อนตำแหน่ง ขณะเดียวกันให้ยกเลิกขังผู้ต้องหาและจำเลยในคุก คือไม่ขังรวมกับนักโทษ ให้ทำงานบริการสังคมแทนการกักขังแทนค่าปรับ มีการบูรณาการตรวจสอบและประเมินผล

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พลตำรวจเอก สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. ติดราชการที่จ.ระนอง ไม่สามารถร่วมเสวนาได้ แต่ได้ส่งข้อความชี้แจงคดีลุงเปี๊ยก ผ่านนายปริญญาสรุปว่า ตำรวจชุดจับกุมใช้วิธีสอบสวนทรมานข่มขู่จนผู้ต้องหายอมรับสารภาพ สิ่งที่มีการดำเนินคดีตอนนี้คือ กฎหมายอาญา มาตรา 157 แต่ไม่ได้พูดถึง พ.ร.บ.อุ้มหายฯ ซึ่งคดีลุงเปี๊ยกเป็นตัวอย่างสะท้อนเหตุปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในกระบวนการยุติธรรมไทย จึงถือเป็นบทเรียนสำคัญว่าจากนี้ไปตำรวจต้องระมัดระวังการใช้อำนาจในการสอบสวน ประชาชนต้องได้รับการคุ้มครอง ตำรวจจำเป็นต้องมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลง ต้องมีการปฏิรูปตำรวจ แต่ตอนนี้ถ้าเร่งด่วน หากเป็นแนวทางทำน้อยได้มาก ก็ต้องมุ่งไปที่โครงสร้างตำรวจ กระบวนการสอบสวน กระบวนการทางอาญา และปฏิรูปวัฒนธรรมองค์กรตำรวจ

ที่มา เพจเฟซบุ๊ก คณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์