posttoday

'คมนาคม' เผยเหตุล้อประคองรถไฟฟ้าร่วง "เกิดจากข้อบกพร่องของบริษัทผู้ผลิต"

03 มกราคม 2567

กระทรวงคมนาคม ถกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คุมเข้มมาตรการความปลอดภัยในระบบรถไฟฟ้าแก้ไขเร่งด่วน หลังล้อประคองหลุดจากขบวนรถไฟฟ้าโมโนเรล ส่วนสาเหตุการหลุดร่วงเกิดจากข้อบกพร่องของบริษัทผู้ผลิต ส่วนรายละเอียดข้อบกพร่องต้องรอตรวจสอบอีกครั้ง

จากกรณี ที่ล้อประคอง (Guide Wheel) ของรถไฟฟ้ามหานคร สายสีเหลือง หลุดร่วงลงมาจากขบวนรถไฟฟ้า ระหว่างสถานีทิพวัล และสถานีศรีเทพา บนถนนเทพารักษ์ เมื่อเวลาประมาณ 18.30 น. ของวันที่ 2 มกราคม 2567 จนรถยนต์แถวนั้นได้รับความเสียหาย
 

\'คมนาคม\' เผยเหตุล้อประคองรถไฟฟ้าร่วง \"เกิดจากข้อบกพร่องของบริษัทผู้ผลิต\"

วันนี้ 3 ม.ค.67 กระทรวงคมนาคม นำโดย  นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ,ปลัดกระทรวงคมนาคม , อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) ,ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเร่งประชุมหาเหตุที่เกิดขึ้นก่อนออกมาแถลงความคืบหน้าว่า กำลังเร่งหาสาเหตุและหาแนวทางป้องกันไม่ให้เกิดเหตุซ้ำอีก

"จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น กระทรวงคมนาคม มีความห่วงใยและไม่ได้นิ่งนอนใจต่อเรื่องดังกล่าว โดยได้ลงพื้นที่ตรวจสอบเหตุการณ์ตั้งแต่เมื่อวานในช่วงหัวค่ำ และได้เน้นย้ำให้ผู้รับสัมปทาน (บริษัท อีสเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด หรือ EBM) รับผิดชอบเยียวยา ความเสียหายให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบอย่างเต็มที่ พร้อมกันนี้ได้สั่งการให้ รฟม. และผู้รับสัมปทาน เร่งตรวจสอบสาเหตุ โดยละเอียดเพื่อรายงานให้กระทรวงคมนาคมทราบต่อไป และหาแนวทางป้องกันไม่ให้เกิดเหตุซ้ำอีก เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ใช้บริการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีเหลือง รวมถึงประชาชนผู้สัญจรผ่านในแนวสายทาง" นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมกล่าว

\'คมนาคม\' เผยเหตุล้อประคองรถไฟฟ้าร่วง \"เกิดจากข้อบกพร่องของบริษัทผู้ผลิต\"

ด้าน นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เสริมว่าสาเหตุของการหลุดร่วงของล้อประคองถูกส่งไปตรวจสอบเชิงลึกแล้วอาจใช้เวลาสักระยะถึงจะทราบสาเหตุที่แท้จริง
 

"หลังจากเกิดเหตุดังกล่าว รฟม. และผู้รับสัมปทาน ร่วมกับบริษัท Alstom ผู้ผลิตรถไฟฟ้าโมโนเรลที่ใช้ในโครงการฯ ได้เข้าตรวจสอบสาเหตุพบว่า ล้อประคองที่หลุดร่วงจากขบวนรถไฟฟ้าเกิดจากข้อบกพร่อง (Defect) ของบริษัทผู้ผลิต" รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าว

"ซึ่งขณะนี้ได้มีการส่งให้ห้องปฏิบัติการ ตรวจสอบสาเหตุเชิงลึกทางวิศวกรรมแล้ว อาจต้องรอผลการตรวจสอบอีกระยะหนึ่งจึงจะได้ข้อสรุป อย่างไรก็ตาม ล้อดังกล่าวมีอายุการใช้งานประมาณ 300,000 กิโลเมตร แต่ปัจจุบันเพิ่งใช้งานไปได้เพียงประมาณ 62,000 กิโลเมตร หรือคิดเป็น 20% เท่านั้น และผู้รับสัมปทานได้มีการซ่อมบำรุง (Maintenance) ครบถ้วนตามขั้นตอนที่กำหนดในคู่มือแล้ว ซึ่งจากนี้ไปกระทรวงคมนาคมได้สั่งการให้ผู้รับสัมปทานเพิ่มความถี่ในการซ่อมบำรุงให้มากขึ้น"

\'คมนาคม\' เผยเหตุล้อประคองรถไฟฟ้าร่วง \"เกิดจากข้อบกพร่องของบริษัทผู้ผลิต\"
นอกจากนี้ รฟม. ร่วมกับผู้รับสัมปทาน และบริษัทผู้ผลิต ได้ดำเนินการตรวจสอบรถไฟฟ้าทุกขบวน ทุกล้อ และลูกปืนโดยละเอียด ก่อนจะทยอยนำขบวนเข้ามาวิ่งให้บริการในระบบอีกครั้ง เพื่อป้องกันความเสี่ยงไม่ให้เกิดอุบัติเหตุซ้ำอีก 

ขณะนี้มีรถไฟฟ้าวิ่งในระบบ 5 ขบวน และจะทยอยเพิ่มขบวนรถเข้ามาในระบบเรื่อยๆ โดยระหว่างนี้จะให้บริการฟรี จนกว่าจะเข้าสู่สถานการณ์ปกติในวันเสาร์ที่ 6 มกราคม 2567 นี้ ซึ่งเป็นช่วงนอกเวลาเร่งด่วนที่จะให้บริการด้วยความถี่ในการเดินรถ 10 นาที และถัดไปในวันจันทร์ที่ 8 มกราคม 2567 จะมีการให้บริการในชั่วโมงเร่งด่วนที่ความถี่ในการเดินรถ 5 นาที 

ทั้งนี้เหตุการณ์ดังกล่าวอาจจะส่งผลกระทบให้ผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าไม่ได้รับความสะดวกสบายเท่าที่ควร อย่างไรก็ดี กระทรวงคมนาคมยังคงมีความตั้งใจที่จะส่งเสริมให้ระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนเป็นทางเลือกในการเดินทางที่สะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย สำหรับประชาชน เพื่อช่วยลดปัญหามลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะปัญหา PM 2.5 ได้อย่างยั่งยืน

\'คมนาคม\' เผยเหตุล้อประคองรถไฟฟ้าร่วง \"เกิดจากข้อบกพร่องของบริษัทผู้ผลิต\"