posttoday

ศาลตัดสินคดีน้องชมพูพิพากษาจำคุกลุงพล20ปียกฟ้องป้าแต๋น

20 ธันวาคม 2566

เปิดคำพิพากษาศาลจังหวัดมุกดาหาร ตัดสินคดีการเสียชีวิตน้องชมพู่ สั่งจำคุกลุงพล20ปี ฐานประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ยกฟ้องป้าแต๋น

เมื่อวันที่ 20 ธ.ค.2566 ศาลจังหวัดมุกดาหาร ได้ออกเอกสารข่าวคำพิพากษาในคดีหมายเลขดําที่ อ 1013/2564 ระหว่างพนักงานอัยการจังหวัดมุกดาหารเป็นโจทก์และนางสาวิตรี วงศ์ศรีชา นายอนามัย วงศ์ศรีชา โจทก์ร่วมที่1- 2 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายไชยพลหรือพล วิภา จําเลยที่ 1 และนางสาวสมพรหรือแต๋น หลาบโพธิ์ จําเลยที่ 2 คดีการเสียชีวิตของ "น้องชมพู่" ด.ญ.อรวรรณ วงศ์ศรีชา วัย 3 ขวบ เหตุเกิดเมื่อระหว่างวันที่ 11-13พ.ค.2563 และโจกท์ร่วมยื่นคําร้องขอเรียกค่าสินไหมทดแทนทางแพ่ง (คลิ๊กอ่านรายละเอียดคำพิพากษา) 
 

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2563 จําเลยที่ 1 พรากเด็กหญิงอรวรรณหรือชมพู วงศ์ศรีชา อายุ 3 ปีเศษ ซึ่งเป็นเด็กอายุไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากโจทก์ร่วมทั้งสองมารดาและบิดาโดยปราศจากเหตุอันสมควร เมื่อระหว่างวันที่ 11 ถึง 13 พฤษภาคม 2563 จําเลยที่ 1 โดยเจตนาฆ่า นําเด็กหญิงอรวรรณซึ่งเป็นเด็กอายุยังไม่เกิน เก้าปีไปทอดทิ้ง ณ เขาภูเหล็กไฟ เพียงลําพังโดยไม่มีอาหารและน้ําดื่มเพื่อให้เด็กหญิงอรวรรณพ้นไปเสียจากตน

โดยประการที่ทําให้เด็กนั้นปราศจากผู้ดูแล เป็นเหตุให้เด็กหญิงอรวรรณถึงแก่ความตาย และเมื่อระหว่างวันที่ 13 ถึง 14 พฤษภาคม 2563 ภายหลังผู้ตายถึงแก่ความตายแล้ว ก่อนการชันสูตรพลิกศพเสร็จ จําเลยทั้งสองร่วมกันเคลื่อนย้าย ศพผู้ตายแล้วถอดเสื้อผ้าและกางเกงออกเพื่อให้เจ้าหน้าที่หรือผู้ที่พบศพเข้าใจว่า ผู้ตายถูกล่วงละเมิดทางเพศและถูกทําร้ายถึงแก่ความตาย ในประการที่น่าจะทําให้การชันสูตรพลิกศพผู้ตายหรือผลทางคดีเปลี่ยนแปลงไป
 

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า จําเลยทั้งสองกระทําความผิดตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า บริเวณที่พบศพเด็กหญิง อรวรรณผู้ตายอยู่บนเขาภูเหล็กไฟ ห่างจากจุดที่มีคนพบเห็นผู้ตายครั้งสุดท้ายประมาณ 1.5 กิโลเมตร และเป็นทาง ลาดชัน ประกอบกับบริเวณดังกล่าวมีการตรวจพบเส้นผมผู้ตายหลายเส้นที่มีลักษณะถูกตัดด้วยของแข็งมีคม จึงเชื่อว่า ผู้ตายซึ่งมีอายุเพียง 3 ปีเศษ ไม่สามารถเดินขึ้นไปถึงบริเวณที่พบศพและใช้ของแข็งมีคมตัดเส้นผมของตนเองได้ แต่ต้องมีคนร้ายพาผู้ตายไป

ปัญหาต่อมา ต้องวินิจฉัยว่า จําเลยที่ 1 เป็นคนร้ายหรือไม่ เห็นว่า ประการแรก ในวันเกิดเหตุ เวลาประมาณ 9 นาฬิกา ผู้ตายเล่นอยู่บริเวณหน้าบ้านพักและมีเด็กหญิง ก. พี่สาวผู้ตายนอนเล่นโทรศัพท์เคลื่อนที่อยู่ใกล้เคียง กระทั่งเวลาประมาณ 4.50 นาฬิกา เด็กหญิง ก. มองหาผู้ตายไม่เห็นจึงออกตามหา ดังนั้น ผู้ตายต้องหายตัวไป ก่อนช่วงเวลาดังกล่าว โดยเด็กหญิง ก. เบิกความว่าไม่ได้ยินเสียงผู้ตายร้องแต่อย่างใด เชื่อว่า คนร้ายที่พาผู้ตายไป ต้องเป็นญาติหรือบุคคลใกล้ชิดในหมู่บ้านที่ผู้ตายรู้จักดี เนื่องจากผู้ตายจะร้องไห้หากถูกคนแปลกหน้าอุ้ม

เจ้าพนักงาน ตํารวจจึงสืบสวนกลุ่มบุคคลดังกล่าว 14 คน แบ่งเป็นญาติ 12 คน และบุคคลใกล้ชิด 2 คน พบว่า 13 คน มีหลักฐานยืนยันที่อยู่หรือตําแหน่งอ้างอิงจากโทรศัพท์เคลื่อนที่ชัดเจน ยกเว้นจําเลยที่ 1 ซึ่งไม่สามารถยืนยันฐานที่อยู่ได้แน่ชัดในเวลาที่ผู้ตายหายตัวไป

ประการที่สอง จําเลยที่ 1 ให้การเป็นข้อพิรุธหลายอย่าง อาทิ จําเลยที่ 1 ให้การกับเจ้าพนักงานตํารวจชุดสืบสวนว่า วันเกิดเหตุ จําเลยที่ 1 มีนัดไปรับพระ ส. ที่วัดถ่ำภูผาแอก ขณะเดินทางไปวัด จําเลยที่ 2 โทรศัพท์แจ้งจําเลยที่ 1 ว่า ผู้ตายหายตัวไป แต่ครอบครัวของจําเลยทั้งสองมีโทรศัพท์เคลื่อนที่เพียงเครื่องเดียวอยู่กับจําเลยที่ 2 จึงเป็นไปไม่ได้ ที่จําเลยที่ 2 จะโทรศัพท์แจ้งเรื่องแก่จําเลยที่ 1

อีกทั้งพระ บ. ซึ่งจําวัดอยู่ที่วัดถ้ําภูผาแอกเช่นกันยืนยันว่า วันดังกล่าว เวลาประมาณ 10.00 นาฬิกา จําเลยที่ 1 เดินทางไปถึงวัดและพูดกับพระ บ. ว่า หลานหายเกือบไม่ได้ไปส่งพระ ทั้งที่ ในขณะนั้น จําเลยที่ 1 ซึ่งไม่มีโทรศัพท์เคลื่อนที่ติดตัวต้องยังไม่ทราบเหตุว่า ผู้ตายหายตัวไป


ประการที่สาม พยานโจทก์ปากนาย ว. และนาง พ. ให้การในชั้นสอบสวนว่า พยานเห็นจําเลยที่ 1 อยู่บริเวณ สวนยางพาราซึ่งเป็นทางเดินที่สามารถเข้าถึงจุดที่ผู้ตายหายตัวไป ในช่วงเวลาที่คนร้ายลงมือกระทําความผิด โดยขณะที่ มีการสอบสวนเรื่องนี้ จําเลยที่ 1 พยายามไปพูดคุยกับนาย ว. ให้ นาย ว. บอกเจ้าพนักงานตํารวจว่า นาย ว. พบจําเลยที่ 1 ในช่วงเวลา 7.00 นาฬิกา ไม่ใช่ช่วงเวลา ที่เกิดเหตุ เพื่อไม่ให้เจ้าพนักงานตํารวจสงสัยจําเลยที่ 1 จึงเป็นข้อพิรุธว่า หากจําเลยที่ 1 ไม่ได้กระทําความผิด เหตุใดต้องพูดจาในลักษณะดังกล่าวกับพยานที่ให้การต่อเจ้าพนักงานตํารวจ ตามข้อเท็จจริงที่ตนรู้เห็น แม้ต่อมาในขณะสืบพยาน นาง พ. จะเบิกความว่า ตนไม่ได้เห็นจําเลยที่ 1 บริเวณสวนยางพารา แต่ก็เป็นการกลับคําภายหลังเกิดเหตุกว่า 6 ปี ซึ่งอาจทําเพื่อช่วยเหลือจําเลยที่ 1 คําให้การในชั้นสอบสวนของนาง พ. จึงมีน้ําหนักน่าเชื่อถือยิ่งกว่า


ประการสุดท้าย ภายหลังเจ้าพนักงานตํารวจตั้งข้อสงสัยว่า จําเลยที่ 1 เป็นคนร้าย จึงมีการเข้าตรวจค้นรถยนต์ จําเลยที่ 1 พบเส้นผม 16 เส้น และวัตถุพยานอื่น โดยผลการตรวจสอบทางวิทยาศาสตร์ประกอบกับคําเบิกความของ พยานผู้เชี่ยวชาญปรากฏว่า เส้นผม 1 เส้น ที่ตกอยู่ในรถยนต์จําเลยที่ 1 มีองศาของรอยตัด หน้าตัด และพื้นผิวด้านข้าง ตรงกันกับเส้นผมผู้ตาย 2 เส้น ซึ่งตรวจเก็บได้จากบริเวณที่พบศพผู้ตาย เส้นผมทั้ง 3 เส้น ดังกล่าว จึงถูกตัดในคราวเดียวกัน ด้วยวัตถุของแข็งมีคมชนิดเดียวกัน เชื่อว่า จําเลยที่ 1 เป็นผู้ใช้ของแข็งมีคมตัดเส้นผมผู้ตาย แต่ด้วยเหตุที่เส้นผม มีขนาดเล็กมาก จําเลยที่ 1 จึงไม่สังเกตว่ามีเส้นผมผู้ตายเส้นหนึ่งตกอยู่ในรถยนต์ของตน

 

ทั้งนี้ การสืบสวนสอบสวนของเจ้าพนักงานตํารวจในคดีนี้ไม่ได้มุ่งเป้าไปยังจําเลยที่ 1 มาแต่แรก หากเกิดจากการรวบรวมพยานหลักฐานและตั้งข้อสันนิษฐานอย่างเป็นลําดับขั้นตอนดังวินิจฉัยไว้ข้างต้น โดยไม่ปรากฏว่า ผู้ที่เกี่ยวข้อง คนใดมีสาเหตุโกรธเคืองหรือมูลเหตุชักจูงใจในการใส่ร้ายจําเลยที่ 1 จึงเชื่อว่า จําเลยที่ 1 เป็นคนร้ายที่พาผู้ตายขึ้นไปบนเขาภูเหล็กไฟ

ปัญหาต่อมาต้องวินิจฉัยว่า ขณะพาผู้ตายขึ้นไปบนเขาภูเหล็กไฟ จําเลยที่ 1 รู้หรือไม่ว่า ผู้ตายถึงแก่ความตายแล้ว หรือยังมีชีวิตอยู่ เห็นว่า จําเลยที่ 1 ไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกับโจทก์ร่วมทั้งสองหรือผู้ตายมาก่อน จึงไม่น่าเชื่อว่า จําเลยที่ 1 มีเจตนาฆ่าหรือเจตนาทอดทิ้งผู้ตาย ประกอบกับรายงานการตรวจศพผู้ตายพบรอยใต้หนังศีรษะ บริเวณหน้าผาก ด้านซ้ายและท้ายทอยเป็น ๆ จึงอาจเป็นกรณีที่ผู้ตายหมดสติไป ส่วนจําเลยที่ 1 ไม่ได้ตรวจดูให้ดีเลยพาผู้ตายไปทิ้งไว้ บนเขาภูเหล็กไฟ การกระทําของจําเลยที่ 1 เป็นความผิดฐานประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย

ส่วนที่โจทก์ฟ้องว่า จําเลยทั้งสองร่วมกันเคลื่อนย้ายศพฯ นั้น เห็นว่า ภายหลังวันเกิดเหตุจนถึงวันที่พบศพผู้ตาย โจทก์ไม่มีพยานคนใดเบิกความว่าเห็นจําเลยทั้งสองขึ้นไปบนเขาภูเหล็กไฟ แม้ผลการตรวจเส้นผม 3 เส้น จากบริเวณ ที่พบศพผู้ตายมี mtDNA ตรงกับจําเลยที่ 2 แต่การตรวจหา mtDNA นั้น ไม่สามารถใช้ระบุตัวบุคคลได้ เพียงแต่ระบุได้ว่า เป็นเส้นผมของบุคคลที่อยู่ในสายมารดาเดียวกับผู้ตายเท่านั้น เส้นผมดังกล่าวจึงไม่จําต้องเป็นของจําเลยที่ 2 เพียงผู้เดียว เห็นควรยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จําเลยทั้งสองในข้อหานี้

 

พิพากษาว่า จําเลยที่ 1 (ลุงพล) มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291, 317 วรรคแรก ฐานกระทําโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย จําคุก 10 ปี ฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา โดยปราศจากเหตุอันสมควร จําคุก 10 ปี ข้อหาอื่นสําหรับจําเลยที่ 1 ให้ยก และยกฟ้องโจทก์สําหรับจําเลยที่ 2 (ป้าแต๋น) กับให้ จําเลยที่ 1 ชําระค่าสินไหมทดแทนทางแพ่งให้แก่โจทก์ร่วมทั้งสอง

อนึ่ง คดีนี้อธิบดีผู้พิพากษาภาค 4 และผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดมุกดาหาร ตรวจสํานวนและทําความเห็นแย้งว่า พยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสองมีข้อสงสัยตามสมควร ต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จําเลยที่ 1 เห็นควรพิพากษายกฟ้อง จึงให้รวมไว้ในสํานวน ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 11 (1)
 
สำหรับคดีนี้ ศาลเริ่มสืบพยานฝ่ายโจทก์มาตั้งแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2565 สืบพยานฝ่ายโจทก์ทั้งหมด 47 ปาก และสืบพยานฝ่ายจำเลย 20 ปาก เสร็จสิ้นเมื่อวันที่ 27 ก.ค.2566