posttoday

กระทรวงการต่างประเทศเตรียมค้นหาผู้สูญหายเหตุรุนแรงในอิสราเอล

09 พฤศจิกายน 2566

กระทรวงการต่างประเทศเตรียมค้นหาผู้สูญหายเหตุความรุนแรงในอิสราเอล-กาซา หลังภารกิจอพยพคนไทยกลับประเทศลุล่วง

นางกาญจนา ภัทรโชค อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ แถลงความคืบหน้าการช่วยเหลือคนไทยในอิสราเอล-กาซา หลังดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคมที่ผ่านมาว่า การดำเนินการอพยพคนไทยในอิสราเอลได้สำเร็จภารกิจในระยะแรก ในการทำคนไทยที่ประสงค์กลับประเทศเสร็จสิ้นแล้วโดยสามารถอพยพคนไทยได้กว่า 8,500 คน และมีคนไทยที่เดินทางกลับเองกว่า 800 คน ซึ่งสามารถเบิกค่าเดินทางจากภาครัฐได้ ซึ่งขณะนี้ จำนวนผู้เสียชีวิต ยังคงเดิม 34 ราย โดยสามารถส่งร่างผู้เสียชีวิตกลับถึงไทยได้ทั้งหมดแล้ว ส่วนบาดเจ็บและรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 4 คน และถูกจับเป็นตัวประกัน 25 คน 

 

ส่วนคนไทยที่ยังคงตัดสินใจอยู่ที่อิสราเอลนั้น โฆษกกระทรวงการต่างปรเทศ เชื่อว่า คนไทยดังกล่าวประมาณ20,000 คน คงได้พิจารณาแล้วว่าอยู่ในพื้นที่ปลอดภัย ซึ่งแม้สถานเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงเทลอาวีฟประเทศอิสราเอล ปิดศูนย์พักพิงไปแล้ว และมีการย้ายกลับมาชั่วคราวที่สถานทูตฯ แต่ยังคงเปิดรับช่วยเหลือคนไทยได้เสมอ เพราะมีผู้ติดต่อเพื่อขอกลับประเทศไทยเพิ่มเติมอีก 32 คน พร้อมชี้แจงจำนวนตัวเลขของผู้ที่ถูกจับตัวประกัน ที่ยังคงมีเพิ่มขึ้นว่า เป็นคนไทยที่ถูกจับไปตั้งแต่ตอนแรกแล้ว แต่สถานทูต เพิ่งได้รับรายงานจากทางการอิสราเอล และแจ้งกลับมายังกระทรวง โดยไม่ได้มีการจับตัวเพิ่มขึ้นใหม่แต่อย่างใด

โฆษกกระรวงการต่างประเทศ ยังชี้แจงถึงขั้นตอนปล่อยตัวประกันว่า เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงเทลอาวีฟได้มีการพูดคุยกับทางการอิสราเอลไว้แล้ว ซึ่งหากมีการปล่อยตัวประกันแล้ว ขั้นตอนประกอบไปด้วย การรับตัวโดยคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ ที่เคยได้รับการติดต่อรับตัวประกันก่อหน้านี้ 4 คน ก็จะรับตัวออกมาจากนั้นจะมอบตัวให้กับทางการอิสราเอล เพื่อตรวจสุขภาพ เพื่อให้แน่ใจได้ว่ามีสุขภาพร่างกายที่ดี จากนั้นจะมีการติดต่อไปยังสถานเอกอัครราชทูต หรือสถานกงสุลของพลเมืองที่ถูกจับเป็นตัวประกันของประเทศนั้น ๆ เพื่อรับตัวกลับ 

 

โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ยังระบุเพิ่มเติมด้วยว่า หากญาตของคนไทย หรือแรงงานไทยในอิสราเอล ยังไม่สามารถติดต่อกันได้ ตั้งแต่ 7 ตุลาคมที่ผ่านมา สามารถแจ้งมาได้ที่กรมการกงสุล หรือทางสถานทูต เพื่อรวบรวมข้อมูลติดตามต่อไป เพราะที่ผ่านมาเป็นภารกิจการโยกย้ายคนในพื้นที่ จากที่ไม่ปลอดภัย มาสู่พื้นที่ปลอดภัย และย้ายคนที่ประสงค์จะกลับประเทศไทย ซึ่งขณะนี้ ได้ลดน้อยลงไปแล้ว และขั้นตอนหลังจากนี้ จะเป็นการติดตามว่า มีใครที่สูญหาย หรือพลัดหลง เพื่อจะหาข้อมูลหาอัตลักษณ์จากทางประเทศไทยไปประกอบกับทางอิสราเอลเพื่อตรวจสอบให้ชัดเจน

 

ขณะที่ นายรุจ ธรรมมงคล อธิบดีกรมกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ ชี้แจงถึงสถานะคนไทยที่สูญหาย โดยยอมรับว่า มีผู้สูญหาย แต่ยังไม่สามารถระบุตัวตนได้ เพราะสถานทูตกำลังตรวจสอบ ตามรายชื่อชื่ออพยพกลับทั้งหมดมีจำนวนเท่าใดตามรายชื่อที่ได้รับมา รวมถึงรายชื่อที่ยังไม่สามารถติดต่อได้ โดยมีการประสานกับสำนักงานแรงงานกรุงเทลอาวีฟ ซึ่งจะมีรายชื่ออยู่แล้ว และทราบว่าแรงงานไทยอยู่จุดใด ซึ่งสถานทูต มีการหารืออย่างใกล้ชิด และตรวจสอบว่า แรงงานไทยยังคงพำนักอยู่ที่เดิมหรือไม่ หรือมีการอพยพไปอยู่ที่อื่น แต่ขณะนี้ ยังไม่สามารถระบุจำนวนได้