posttoday

ตั้งอัยการปราบทุจริต พิจารณาสำนวนความผิด “สมยศ-เนตร” ปมช่วย “บอส อยู่วิทยา”

21 ตุลาคม 2566

รองโฆษก อสส.เผย ป.ป.ช. ส่งสำนวนชี้มูลความผิด ‘สมยศ-เนตร’ กับพวก 8 คน ปมช่วยเหลือ “บอส วรยุทธ อยู่วิทยา” ร่วมกันเปลี่ยนแปลงความเร็วรถให้อัยการเเล้ว ตั้งอัยการปราบทุจริต พิจารณาสำนวน ส่งฟ้องศาลฎีกาคดีนักการเมือง

นายนาเคนทร์ ทองไพรวัลย์ อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุดสำนักงานคดีพิเศษ ในฐานะรองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุดเปิดเผยถึงความคืบหน้าในคดีที่ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดกลุ่มผู้ต้องหาในคดีเปลี่ยนแปลงความเร็วของรถยนต์ “นายวรยุทธ อยู่วิทยา” ทายาทเครื่องดื่มชูกำลังยี่ห้อดังในคดีขับรถยนต์ชน ด.ต.วิเชียร กลั่นประเสริฐ ตำรวจ สน.ทองหล่อ เสียชีวิต เมื่อปี 2555 จนมีการกลับคำสั่งไม่ฟ้องคดี โดยนายนาเคนทร์ระบุว่า 

คดีนี้ ป.ป.ช.ส่งสำนวนมาถึงอัยการสูงสุดเมื่อวันที่ 29 ก.ย.ที่ผ่านมา โดยสำนวนดังกล่าว คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้ชี้มูลความผิด พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งกรรมาธิการในคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การกฎหมาย กระบวนการยุติธรรมและกิจการตำรวจ เเละเป็นสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กับพวกรวม 8 คน ฐานเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต และฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานในตำแหน่งพนักงานอัยการ ผู้ว่าคดี พนักงานสอบสวน หรือเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญาหรือจัดการให้เป็นไปตามหมายอาญา กระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใด ๆ ในตำแหน่งอันเป็นการมิชอบ เพื่อจะช่วยบุคคลหนึ่งบุคคลใดมิให้ต้องโทษ หรือให้รับโทษน้อยลง

ป.ป.ช.ส่งสำนวน มีการชี้มูลความผิดเพื่อให้อัยการสูงสุดพิจารณายื่นฟ้องผู้ต้องหาทั้งหมดต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งเหตุที่ส่งให้อัยการฟ้องต่อศาลนี้เนื่องจากตามกฎหมาย เป็นศาลที่มีอำนาจในการพิจารณาคดีเกี่ยวกับเจ้าหน้าที่รัฐที่กระทำความผิดด้วย ไม่ใช่ นักการเมืองอย่างเดียว เป็นไปตาม พรป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตพ.ศ. 2561 มาตรา 76 คดีของผู้ต้องหากลุ่มนี้จึงอยู่ในอำนาจของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ตำแหน่งทางการเมือง

โดยขั้นตอนหลังจากรับสำนวน ป.ป.ช.แล้ว อัยการสูงสุดได้ส่งสำนวนให้อัยการสำนักงานคดีปราบปรามการทุจริตดำเนินการพิจารณา ซึ่งอัยการสำนักงานคดีปราบปรามการทุจริตได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาพิจารณา ซึ่งผลการพิจารณาจะเป็นไปได้ 2 กรณี

กรณีที่ 1.ถ้าสำนวนนี้ไม่มีปัญหาพยานหลักฐานสมบูรณ์เพียงพอที่จะดำเนินการยื่นฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ ทางอัยการสำนักงานคดีปราบปรามการทุจริตฯ จะพิจารณาความเห็นและนำเสนอต่ออัยการสูงสุดเพื่อพิจารณาสั่งรับดำเนินคดีอาญา โดยจะมีกรอบระยะเวลาภายใน 180 วัน ตั้งแต่วันที่รับสำนวน

กรณีที่ 2. ถ้าคณะทำงานของอัยการของคดีปราบทุจริตพิจารณาแล้วเห็นว่าพยานหลักฐานในสำนวนการสอบสวนยังไม่สมบูรณ์ก็จะดำเนินการ ตั้งข้อไม่สมบูรณ์ได้ กรณีการตั้งข้อสมบูรณ์ไม่ใช่เป็นอำนาจของอัยการคดีปราบปรามทุจริตฯ แต่ต้องขออนุญาตอัยการสูงสุด หรือทำการเสนอต่อ อัยการสูงสุดว่าคดีนี้ตรวจสอบแล้วว่ามีกรณีที่จะต้องตั้งข้อไม่สมบูรณ์ ซึ่งตามกฎหมายต้องภายใน 90 วันนับตั้งแต่รับสำนวน

หากอัยการสูงสุดเห็นว่าคดีนี้จำเป็นต้องตั้งข้อไม่สมบูรณ์ก็จะมีการแจ้ง ป.ป.ช.เพื่อให้ส่งตัวแทนมาร่วมกันพิจารณาข้อไม่สมบูรณ์เพื่อหาข้อยุติ ไม่เกินฝ่ายละ 5 คนและเมื่อพิจารณาข้อไม่สมบูรณ์นั้นแล้วได้ข้อยุติอย่างไรก็ต้องนำเสนออัยการสูงสุดเพื่อพิจารณา 

หากคณะที่ประชุมร่วมระหว่างอัยการและ ป.ป.ช.ประชุมร่วมกันแล้วว่ามีการแก้ไขข้อไม่สมบูรณ์แล้ว ก็นำเสนออัยการสูงสุดเพื่อพิจารณามีคำสั่งรับดำเนินคดี แต่ถ้ามีการตั้งข้อไม่สมบูรณ์และมีการประชุมร่วมกันระหว่างตัวแทนอัยการและ ป.ป.ช.

หากอัยการยังมองว่าฟ้องไม่ได้ เพราะพยานหลักฐานไม่เพียงพอก็จะนำเสนออัยการสูงสุด เพื่อที่จะไม่รับดำเนินคดีอาญาและส่งคืน ป.ป.ช.เพื่อให้พิจารณาฟ้องเองอย่างที่เคยปรากฎในหลายคดีที่ผ่านมา 

ในส่วนของผู้ต้องหา หากจะร้องขอความเป็นธรรมในขั้นตอนสำนวนถึงอัยการนี้ก็สามารถยื่นร้องขอความเป็นธรรมต่ออัยการสูงสุดได้ ก็จะมีกรอบระยะเวลาในการยื่น เเละจะต้องยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรม ก่อนที่ทางอัยการสูงสุดจะมีคำสั่งรับดำเนินคดีอาญา  ถ้าเราพิจารณาตามกรอบระยะเวลาแล้วการยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมก็จะต้องยื่นพยานหลักฐานเพื่ออยากจะให้ดำเนินการสอบสวนเพิ่มเติมเพื่อที่จะนำมาสู่การตั้งข้อไม่สมบูรณ์ จะต้องดำเนินการยื่นภายในกรอบระยะเวลา 90 วัน เพราะว่าถ้ากรอบระยะเวลา 90 วัน หากทางอัยการไม่ตั้งข้อไม่สมบูรณ์ภายใน 90 วัน หรือตั้งข้อไม่สมบูรณ์ไม่ทันกฎหมายจะขยายได้อีก 45 วันเท่ากับเป็น 135 วัน ถ้าภายในระยะเวลานี้ไม่ยื่นขอความเป็นธรรมมันก็ตั้งข้อไม่สมบูรณ์ไม่ได้แล้ว เเต่ทั้งนี้ก็ต้องก่อนอัยการสูงสุดจะมีคำสั่งรับดำเนินคดี

เพราะหากอัยการสูงสุดมีคำสั่งให้รับดำเนินคดีเลย แล้วปรากฏว่าผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมดร้องความเป็นธรรมถึงแม้จะยื่นภายในกรอบระยะเวลาตั้งข้อไม่สมบูรณ์ก็ตาม เเต่หากอัยการสูงสุดมีคำสั่งรับไปแล้วก็ไม่สามารถยื่นได้แล้วเพราะเมื่ออัยการสูงสุดมีคำสั่งรับแล้วผู้ถูกกล่าวหามายื่นขอความเป็นธรรม ก็จะสั่งได้อย่างเดียวก็คือยุติการร้องขอความเป็นธรรม

คนพิจารณาหนังสือร้องขอความเป็นธรรมผู้ต้องหาจะเป็นอัยการสูงสุด โดยจะเป็นการยื่นผ่านคณะทำงานที่จะต้องนำเสนอว่าที่ร้องขอความเป็นธรรมจะนำไปสู่ข้อไม่สมบูรณ์หรือไม่ เพราะหากมีการขอความเป็นธรรมแล้ว มันไม่มีประเด็นที่จะตั้งข้อไม่สมบูรณ์ให้อัยการสูงสุดมีคำสั่งรับพิจารณา คณะทำงานก็จะต้องนำเสนออัยการสูงสุด ว่าประเด็นที่ร้องขอความเป็นธรรม ไม่นำไปสู่การตั้งข้อไม่สมบูรณ์ก็เท่ากับว่ายุติไปโดยปริยาย ไม่มีการตั้งข้อไม่สมบูรณ์ ก็นำเสนออัยการสูงสุดเพื่อพิจารณารับดำเนินคดีอาญา

นายนาเคนร์ กล่าวว่า การตั้งข้อไม่สมบูรณ์ต้องอยู่ในกรอบระยะเวลาไม่เกิน 135 วัน ต้องตั้งข้อไม่สมบูรณ์ให้เสร็จภายใน 90 วันตั้งแต่รับสำนวน ขยายได้หนึ่งครั้งไม่เกิน 45 วัน เมื่อตั้งข้อไม่สมบูรณ์แล้วภายใน 135 วันต้องมีข้อยุติแล้วว่าจะดำเนินคดีหรือไม่ จะไม่มียืดเยื้อ การตั้งข้อไม่สมบูรณ์สามารถตั้งได้ครั้งเดียว คือการตั้งข้อไม่สมบูรณ์มาแล้ว ผู้ต้องหามาร้องขอความเป็นธรรมคราวหลังหลังประเด็นที่มาร้องขอความเป็นธรรมจะนำไปสู่การตั้งข้อไม่สมบูรณ์อีกไม่ได้แล้วถือว่าจบแล้ว 

เมื่อถามย้ำว่าคดีนี้ทำไมจึงเข้าอำนาจศาลฎีกานักการเมือง ความเห็นอัยการอาจเห็นไม่ตรง ป.ป.ช.ได้หรือไม่ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุดระบุว่า คดีนี้อยู่ในอำนาจการพิจารณาของศาลฎีกาเเผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำเเหน่งทางการเมือง เพราะเกณฑ์ตามกฎหมายไม่ระบุว่าจำต้องเป็นนักการเมืองเท่านั้น เป็นข้าราชการชั้นระดับสูงคดีอยู่ในอำนาจของศาลนี้ ตาม พรป.ว่าด้วยการป้องกันและปรับปรามการทุจริตพ.ศ. 2561 มาตรา 76 

ในส่วนของนายวรยุทธ คดีนี้อัยการได้มีการสั่งฟ้องนายวรยุทธความผิดฐาน ขับรถโดยประมาทเป็นผู้ทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ซึ่งเป็นข้อหาที่ยังไม่หมดอายุความ ข้อหานี้มีกำหนดอายุความในการดำเนินคดีอาญาอายุความทั้งหมด 15 ปี ซึ่งจะขาดอายุความวันที่ 3 ก.ย. 2570 ซึ่งคดีนี้ทางอัยการมีความเห็นสั่งฟ้องแล้ว ล่าสุดทางอัยการก็ได้มีหนังสือแจ้งสำนักงานตำรวจแห่งชาติเพื่อดำเนินการจัดการให้ได้ตัวผู้ต้องหามาฟ้องภายในอายุความ เป็นหนังสือแจ้งฉบับล่าสุดเมื่อเร็วๆนี้

ส่วนขั้นตอนในการติดตามตัวผู้ต้องหามาฟ้องก็เป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวนหรือเจ้าหน้าที่ตำรวจจะต้องติดตามตัวว่าผู้ต้องหาอยู่ที่ไหน ถ้าผู้ต้องหาอยู่ต่างประเทศก็จะต้องดำเนินการติดต่อ สืบหาที่อยู่ของผู้ต้องหาหรือหลักแหล่งของผู้ต้องหาให้ได้และถ้าจะมีการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนเจ้าหน้าที่ตำรวจและพนักงานสอบสวนจะต้องส่งข้อมูลมายังสำนักงานอัยการต่างประเทศเพื่อให้อัยการสูงสุดในฐานะผู้ประสานงานกลางขอส่งผู้ร้ายข้ามแดนต่อไป ถ้าได้ตัวมาภายในอายุความอัยการก็พร้อมฟ้องทันทีเพราะมีการร่างฟ้องรอเรียบร้อยแล้ว

สำหรับ 8 ผู้ต้องหาที่ถูก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดส่งอัยการสูงสุดประกอบด้วย ในฐานปฎิบัติหน้าที่มิชอบรายสำคัญ อาทิเช่น พล.ต.อ. สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง อดีต ผบ.ตร. นายเนตร นาคสุข อดีตรองอัยการสูงสุด เเละกลุ่มเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เกี่ยวข้องในคดี 

ส่วนผู้สนับสนุน ได้เเก่ นายชัยณรงค์ แสงทองอร่าม อดีตอัยการอาวุโส ,ทนายความ,นักวิชาการด้านความเร็ว และนักการเมืองท้องถิ่นชื่อดัง