posttoday

ทนายขยี้ปมจริยธรรมสอบผอ.การท่าเรือสั่งเลิกงานจ้างเหมาท่าเรือแหลมฉบัง

24 สิงหาคม 2566

เปิดตัวเอกชนร้องประธานสหภาพแรงงานกทท.สอบผอ.การท่าเรือฯยกเลิกผู้ชนะงานจ้างเหมาติดตั้งตู้ตัดตอนไฟฟ้า เปลี่ยนสายเคเบิลไฟฟ้าแรงสูงใต้ดิน ทำเสียโอกาสรับงานประมูลe- bidding สงสัยเอื้อผลประโยชน์ให้ผู้รับเหมารายอื่น ส่อผิดจริยธรรมหลักธรรมาภิบาลหรือไม่

กรณีนายอิทธิฤทธิ์ จันทรฤทธิ์ ทนายความ เปิดเผยความคืบหน้ากรณียื่นคำร้องถึงอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ให้สอบสวนนายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการท่าเรือแห่งประเทศไทย กระทำการทุจริตในหน้าที่หรือไม่

นายอิทธิฤทธิ์ กล่าวว่า ขณะนี้มีบริษัทเอกชนกล้าเปิดตัวร้องเรียนเพิ่มเติมไปยังประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการท่าเรือแห่งประเทศไทยคือ บริษัทโปรเทคชั่น สมาร์ท กริด จำกัด โดยนายอนุชิต ท่าทราย กรรมการผู้จัดการฯ ขอให้ตรวจสอบคำสั่งยกเลิกประกาศผู้ชนะการเสนอราคางานจ้างเหมาเปลี่ยนสายเคเบิลไฟฟ้าแรงสูง ใต้ดินพร้อมอุปกรณ์การจ่ายไฟฟ้าจากสถานีไฟฟ้าย่อย4 ไปยังสถานีไฟฟ้า 115เควี (ทดแทน) ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) ที่ท่าเรือแหลมฉบังเนื่องจากได้รับความเสียหายจนเกิดข้อสงสัยว่าการยกเลิกงานเป็นไปด้วยความชอบธรรมหรือไม่ หรือเพื่อให้เอื้อประโยชน์แก่บริษัทรายอื่นได้มีโอกาสจัดซื้อจัดจ้างใหม่  

นอกจากนี้ ยังขอตรวจสอบความโปร่งใสงานจ้างบริการจัดหาตู้ตัดตอนไฟฟ้า (Switchgear), สถานีไฟฟ้าย่อยที่ 3(ทดแทน) และงานจ้างบริการจัดหาตู้ตัดตอนไฟฟ้า(Switchgear) สถานีไฟฟ้าย่อยที่ 5 (ทดแทน) ตามที่การท่าเรือแห่งประเทศไทย ท่าเรือแหลมฉบัง ได้ประกาศร่าง TOR เรื่องงานจัดซื้อพร้อมติดตั้งตั้งแต่เดือนตุลาคม 2565

ต่อมาได้มีการยกเลิกโครงการดังกล่าวโดยอ้างถึงความจำเป็นที่จะต้องเร่งดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างใหมโดยเร่งด่วน ภายหลังทางบริษัทฯ พบว่าโครงการดังกล่าวมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงชื่องานและ TOR ทั้งที่ตาม TOR ฉบับเดิมที่เคยประกาศร่างผ่านไปแล้วนั้นไม่มีผู้วิจารณ์แต่อย่างใดจึงขอให้ตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้างทั้งสองโครงการนี้ดำเนินการไปด้วยความถูกต้องตามหลักจริยธรรมและธรรมาภิบาลหรือไม่ 

ขณะที่นายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการท่าเรือแห่งประเทศไทย ได้ออกมาชี้แจงว่า เรื่องสั่งการให้มีการแก้ไขวิธีการจัดซื้อจัดจ้างตู้ตัดตอนไฟฟ้าสถานีย่อยที่ 3 และ 5 ซึ่งทำให้การท่าเรือเสียผลประโยชน์ และไม่เป็นไปตามกฎระเบียบพัสดุโดยมีเจตนาส่อไปในทางทุจริต ในข้อกล่าวหานี้ ตนชี้แจงได้ว่า การจัดจ้างการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) แบบเฉพาะเจาะจงให้เข้ามาดำเนินงานนั้น ไม่ถือเป็นการขัดต่อระเบียบของกรมบัญชีกลาง อีกทั้งยังเป็นไปตามกฎกระทรวงปี 2563

นายเกรียงไกล ยืนยันว่าการคัดเลือกแบบเฉพาะเจาะจงครั้งนี้ สืบเนื่องจากปัญหาไฟฟ้าในท่าเรือแหลมฉบังที่อาจไม่เพียงพอต่อการให้บริการผู้ประกอบการ และอาจเป็นผลกระทบหากมีไฟฟ้าไม่ทันต่อการใช้งาน จะสร้างความเสียหาย 72 ล้านบาทต่อวัน ดังนั้น เป็นเรื่องเร่งด่วนที่สามารถดำเนินการจัดจ้างแบบเฉพาะเจาะจงได้ อีกทั้งการจ้างหน่วยงานภาครัฐยังเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงาน เพราะในช่วงที่ผ่านมาเคยมีกรณีเปิดประมูลทั่วไป แต่กลับพบว่าการประมูลไม่เป็นผล และทำให้ต้องยกเลิกการประมูล เสียโอกาสต่อการจัดหาผู้ดำเนินงาน

ทั้งนี้ การจ้าง กฟภ.มองว่าจะเป็นวิธีในการแก้ไขปัญหาเร่งด่วน แก้ไขปัญหาการผูกขาดของผู้ให้บริการไฟฟ้าในท่าเรือแหลมฉบัง แก้ปัญหากรณีการฮั้วประมูล อีกทั้งปัจจุบันกระบวนการคัดเลือกแบบเฉพาะเจาะจงนี้ ยังไม่เข้าสู่ขั้นตอนลงนามสัญญา อยู่ในขั้นตอนการเจรจาเพื่อปรับลดค่าจ้าง ซึ่งจะเกิดประโยชน์โดยตรงต่อ กทท. 

นอกจากนี้ ยังขอยืนยันด้วยว่า ข้อกล่าวอ้างที่ระบุว่าเป็นการว่าจ้างในราคาสูงกว่าเอกชน 15 – 30% นั้น ยืนยันว่าราคาที่ กฟภ.เสนอมา ยังเป็นราคาที่อยู่ในกรอบงบประมาณกำหนด และยังไม่สูงกว่าราคาจ้างผู้ประกอบการในอดีต

เอกสารร้องเรียนตรวจสอบข้อเท็จจริง

ทนายขยี้ปมจริยธรรมสอบผอ.การท่าเรือสั่งเลิกงานจ้างเหมาท่าเรือแหลมฉบัง