posttoday

อบก.เผย ครึ่งปีแรก ตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิตไทย ซบเซา

24 สิงหาคม 2566

องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก เผยช่วง 6 เดือนแรกของปี 2566 ตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิตภาคสมัครใจของไทยไม่คึกคักเหมือนรอบปีที่ผ่านมา

องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกเปิดเผยข้อมูลสถานการณ์ ตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิตจากโครงการ “ลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย” (Thailand Voluntary Emission Reduction Program: T-VER) ของประเทศไทยในครึ่งปีแรกนี้ มูลค่าและปริมาณการซื้อขายคาร์บอนเครดิตในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2566 ยังไม่คึกคักเหมือนในรอบปีที่ผ่านมา โดยปริมาณการซื้อขายลดลงประมาณ 9% และมูลค่าลดลงประมาณ 22% เมื่อเทียบกับ 6 เดือนแรกของปี 2565

ทั้งนี้ มีสาเหตุมาจากในปี 2565 เกิดกระแส COP26 การประกาศเป้าหมายใหม่ที่ท้าทายขึ้นของประเทศไทย และองค์กรภาคธุรกิจชั้นนำมีการประกาศเป้าหมาย Net Zero ระดับองค์กรตามมามากขึ้น ทำให้เกิดการซื้อกักตุนไว้เป็นจำนวนมาก เนื่องจากราคายังถูกมาก ส่วนผลการดำเนินงานในปี 2566 มีแนวโน้มการซื้อขายลงลดกว่าอดีต ซึ่งเป็นไปในลักษณะของการซื้อขายแบบปกติ ที่สะท้อนความต้องการซื้อคาร์บอนเครดิตที่แท้จริง จากผู้ที่ต้องการชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในรูปแบบต่างๆ ไม่ได้เร่งกักตุนเหมือนปี 2565 โดยปัจจัยที่ส่งผลต่อการซื้อขายคาร์บอนเครดิตในด้านของ Demand และ Supply ในแต่ละเดือนนั้น ขึ้นอยู่กับรอบการพิจารณารับรองการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์และการทำกิจกรรมชดเชยคาร์บอนของคณะกรรมการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกด้วย ซึ่งคาดว่าเมื่อสิ้นสุดรอบการรับรองดังกล่าวข้างต้นในเดือนพฤศจิกายน จะส่งผลให้ความต้องการในการซื้อขายเพิ่มปริมาณสูงขึ้นจนใกล้เคียงกับปี 2565 ได้

ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2566 ข้อมูลสถานการณ์การซื้อขายคาร์บอนเครดิตของโครงการ T-VER ที่มีปริมาณการซื้อขายรวมสูงสุด 2 อันดับ ได้แก่ โครงการพลังงานทดแทนประเภทชีวมวล ปริมาณ 250,759 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (tCO2eq) และ โครงการประเภทป่าไม้ ปริมาณ 250,759 tCO2eq โดยโครงการประเภทชีวมวลนั้นมีปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ได้รับการรับรองสูงที่สุดและมีสัดส่วนการซื้อขายต่อเนื่องทุกเดือน แม้ว่าโครงการประเภทชีวมวลนั้นจะมีปริมาณการซื้อขายสูงเป็นอันดับแรก แต่มูลค่ายังน้อยกว่าโครงการประเภทป่าไม้ ที่มีปริมาณการรับรองคาร์บอนเครดิตน้อย แต่มีมูลค่าโดยรวมสูงมากกว่า 300% ซึ่งอาจเป็นผลมาจากความต้องการคาร์บอนเครดิตประเภทป่าไม้ที่สูงกว่าประเภทอื่นเนื่องจากตอบสนองต่อนโยบาย Net Zero ขององค์กร