posttoday

ดร.ธรณ์ ไขปริศนา เหตุการณ์แพลงก์ตอนบลูมในอ่าวไทย จากดาวเทียม GISTDA

31 กรกฎาคม 2566

“ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์” โพสต์เฟซบุ๊ก อธิบายเหตุการณ์แพลงก์ตอนบลูมในอ่าวไทย ด้วยข้อมูลดาวเทียมจาก GISTDA แสดงให้เห็นชัดว่าแพลงก์ตอนบลูมในอ่าวไทยมากองรวมกันที่ชายฝั่ง EEC เหตุช่วงนี้เป็นมรสุมตะวันตกเฉียงใต้

ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว Thon Thamrongnawasawat ระบุว่า ขออธิบายเหตุการณ์แพลงก์ตอนบลูมในอ่าวไทยเพิ่มเติม ด้วยข้อมูลดาวเทียมจาก GISTDAเป็นภาพวัดคลอโรฟิลล์ในน้ำ ที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับปริมาณแพลงก์ตอนพืชบลูมสีดำคือน้ำทะเลปรกติ สีเขียวคือเริ่มเกิดแพลงก์ตอนบลูม สีแดง/น้ำตาลเข้มคือบลูมเต็มที่ ปรกติแพลงก์ตอนบลูมจะเริ่มจากทะเลห่างฝั่ง จากนั้นพอเจ้าใกล้ฝั่งด้วยกระแสน้ำ/คลื่นลม ปริมาณแพลงก์ตอนเพิ่มขึ้นเมื่อเจอธาตุอาหารสมบูรณ์ ประจวบกับแดดจ้า ปรกติเกิดที่ทะเลความลึก 8-10 เมตรหรือมากกว่า

ดร.ธรณ์ ไขปริศนา เหตุการณ์แพลงก์ตอนบลูมในอ่าวไทย จากดาวเทียม GISTDA

ในภาพจะเห็นในเขตสีเหลืองและสีแดง สุดท้ายจะเข้ามาจนถึงชายฝั่ง เป็นพัฒนาการขั้นเกือบสุดท้าย เป็นขั้นตอนที่เรียกว่า aggregation เกิดจากกระแสน้ำ/ลมพัดพาเซลล์แพลงก์ตอนมากองรวมกัน แล้วเคลื่อนที่เข้ามา น้ำเปลี่ยนสีที่เข้าใกล้ฝั่งแล้วไม่นานจะสลายตัวไปด้วยสาเหตุต่างๆ แล้วแต่พื้นที่ เป็นขั้นตอนสุดท้ายของพัฒนาการการเกิดน้ำเปลี่ยนสี เรียกว่าขั้นตอนการยุติปรากฏการณ์

ภาพจาก GISTDA แสดงให้เห็นชัดว่าแพลงก์ตอนบลูมในอ่าวไทยมากองรวมกันที่ชายฝั่ง EEC เพราะช่วงนี้เป็นมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ลมพัดน้ำมารวมอยู่บริเวณนั้น ยังมีแพลงก์ตอนบลูมอีกแบบที่เกิดจากกระบวนการบริเวณปากแม่น้ำ

ขอบคุณข้อมูลจากดร.ไทยถาวร พี่หวอยของผม ผู้เชี่ยวชาญด้านแพลงก์ตอนบลูม/แพลงก์ตอนพืชของไทย ความรู้เหล่านี้มีประโยชน์มาก แสดงให้เห็นว่าเราต้องใช้ทั้งเทคโนโลยีทั้งการศึกษาวิจัยเข้ามารวมกันเพื่อตอบคำถามต่างๆ

หวังว่าในอนาคต เราจะเริ่มสร้างระบบที่สามารถแจ้งเตือนสิ่งที่กำลังจะเกิด และจะมีส่วนช่วยเป็นอย่างยิ่งในการดูแลปกป้องกิจการของผู้คน ทั้งประมง ทั้งเพาะเลี้ยง ทั้งท่องเที่ยว

ซึ่งทั้งหมดนั้น จำเป็นต้องได้รับความสนับสนุนอย่างจริงจังจากรัฐบาล/ภาครัฐ/ภาคเอกชม เพื่อระดมสรรพกำลังในการสร้างและดำเนินการ

โลกร้อนแรงขึ้น ทะเลใกล้เดือด เราคงเหลือเวลาอีกไม่นานแล้วครับ