posttoday

เร่งสร้าง กทม. เป็น Smart City สร้างฐานข้อมูลดิจิทัลบริหารเมือง

10 กรกฎาคม 2566

ชัชชาติเผยมุ่งทำกรุงเทพฯ เป็น Smart City เร่งรัดจัดทำฐานข้อมูลสำคัญสู่ระบบดิจิทัล เพื่อการบริหารจัดการเมืองอย่างมีประสิทธิภาพ

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 15/2566 ณ ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) เขตพระนคร

 

      ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า  ได้ประชุมเกี่ยวกับนโยบายพื้นฐานของSmart City คือการนำข้อมูลของเมืองมาใช้เพื่อบริหารจัดการเมืองให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยสิ่งที่ทำมาตลอด 1 ปี คือการทำฐานข้อมูลดิจิทัล เช่น Traffy Fondue ซึ่งเป็นตัวอย่างหนึ่งของกระบวนการการนำปัญหาของประชาชนกว่า 3 แสนเรื่อง มาเป็นฐานข้อมูล แล้วลงไปแก้ปัญหาให้ 

 

      ส่วนสิ่งที่กำลังทำอยู่ตอนนี้คือการนำข้อมูลชุมชนทั้งหมดมาลงเป็นพิกัดดิจิทัล จัดทำเป็นแผนผังชุมชน โดยลงข้อมูลไปแล้วประมาณ 2,000 ชุมชน หรือ 99.5% เป็นการขึ้นโครงไว้ก่อน จะต้องมีการเติมข้อมูลรายละเอียดเพิ่มเติม เพื่อให้ทราบว่าแต่ละชุมชนอยู่ที่ไหนบ้าง ระบุพิกัดละเอียด มีถังดับเพลิงอยู่ที่ไหน มีประปาหัวแดงอยู่ที่ไหน ต่อไปก็จะมีข้อมูลว่ามีจำนวนครัวเรือนเท่าไร มีประชากรเท่าไร มีคนพิการ/ผู้ป่วยติดเตียงอยู่ที่ไหนและอาจมีข้อมูลอื่น เช่น บ้านเช่า อสส.อยู่บ้านหลังไหน มีศูนย์เด็กเล็ก/บ้านหนังสือตรงไหน โรงเรียนอยู่ตรงไหนหรือข้อมูลสุนัขและแมวจรจัดมีเท่าไร ต้องจัดเตรียมวัคซีนเท่าไร เป็นต้น ที่สำคัญชุมชนจะต้องสามารถอัปเดตข้อมูลได้ ให้อาสาสมัครเทคโนโลยีที่มีอยู่ในชุมชนช่วยอัปเดตข้อมูลเหล่านี้ เพื่อให้ข้อมูลเป็นปัจจุบันอยู่เสมอโดยเป็นสิ่งที่เดินหน้าในปีที่ 2 ซึ่งจะทำให้บริหารจัดการเมืองได้ดีขึ้น แต่ต้องปิดเรื่องข้อมูลส่วนบุคคลเพราะมีกฎหมายเรื่อง PDPA อยู่

เร่งสร้าง กทม. เป็น Smart City สร้างฐานข้อมูลดิจิทัลบริหารเมือง

จากนั้นจะมีการทำฐานข้อมูลของทุกอย่างให้อยู่บนระบบ GIS (Geographic Information System หรือ ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์) เช่น โครงการก่อสร้างต่าง ๆ ที่ขออนุญาตก่อสร้าง เพื่อให้ทราบว่าเป็นโครงการอะไรหน่วยงานใดรับผิดชอบ ก่อสร้างเมื่อไร เสร็จเมื่อไร เมื่อประชาชนพบเห็นปัญหาในพื้นที่ก่อสร้างก็จะทำให้ทราบว่าผู้รับผิดชอบคือใคร เป็นต้น การทำฐานข้อมูลเหล่านี้เป็นพื้นฐานของ Smart City เพื่อการบริหารจัดการเมืองอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นสิ่งที่กำลังเร่งรัด ซึ่งการดำเนินการขณะนี้ทำได้ค่อนข้างดี 

 

      ส่วนการจัดเก็บถังดับเพลิงได้ดำเนินการเรียบร้อยแล้ว โดยจัดเก็บถังดับเพลิงเสื่อมสภาพได้ประมาณ 20,000 ถัง จะมีการนำถังใหม่ไปทดแทนประมาณ 10,000 ถัง และลงข้อมูลใน QR Code ให้รู้ว่าเริ่มใช้เมื่อไร มีการบำรุงรักษาอย่างไร น่าจะสร้างความปลอดภัยและความมั่นใจในการใช้อุปกรณ์ดับเพลิงได้มากขึ้น