posttoday

ก.ล.ต. แจง "บิทคอยน์ฟิวเจอร์ส" ไม่ใช่บิทคอยน์

10 มกราคม 2561

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เผยแพร่คำอธิบายเกี่ยวกับ "บิทคอยน์ฟิวเจอร์ส"

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เผยแพร่คำอธิบายเกี่ยวกับ "บิทคอยน์ฟิวเจอร์ส"

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้เผยแพร่คำอธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับบิทคอยน์ฟิวเจอร์ส “bitcoin futures” ไม่ใช่ “bitcoin” โดยระบุว่า ก.ล.ต. ไม่ได้รับรองสถานะของ “บิทคอยน์” และ “บิทคอยน์” ไม่ใช่เงินที่ใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย แต่ “บิทคอยน์” เป็นทรัพย์สินที่สามารถเปลี่ยนมือได้ โดยประเทศไทยวันนี้ยังไม่มีการกำกับดูแลการซื้อขาย “บิทคอยน์”

“บิทคอยน์ฟิวเจอร์ส”  คือสัญญาซื้อขายล่วงหน้าซึ่งเปิดให้ผู้ลงทุนมีโอกาสได้รับผลตอบแทนจากการเคลื่อนไหวของราคา “บิทคอยน์” แต่ตัวมันเองไม่ใช่ “บิทคอยน์” (เหมือน stock futures ไม่ใช่หุ้น)

“บิทคอยน์ฟิวเจอร์ส” ที่ออกโดย The Chicago Mercantile Exchange (CME) และ The CBOE Futures Exchange (CBOE) ถือเป็นผลิตภัณฑ์ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลในสหรัฐอเมริกา เนื่องจากทั้ง CME และ CBOE เป็นตลาดภายใต้กำกับของ Commodity Futures Trading Commission (US CFTC) 

US CFTC เป็นสมาชิกหน่วยงานกำกับดูแลตลาดทุนสากล (International Organization of Securities Commission: IOSCO) และมี MOU ในการให้ความช่วยเหลือและแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างสมาชิก IOSCO ด้วยกัน รวมถึงกับ ก.ล.ต. ไทยด้วย CME และ CBOE จึงเป็นตลาดที่ ธปท และ ก.ล.ต. เปิดให้ broker ไทยพาลูกค้าไปซื้อขายได้

แม้ว่า “บิทคอยน์ฟิวเจอร์ส” เป็นผลิตภัณฑ์ในตลาดชั้นนำที่อยู่ใต้กำกับดูแลขององค์กรกำกับดูแลที่ได้มาตรฐาน และเปิดโอกาสให้ผู้ลงทุนแสวงหาผลตอบแทน ขณะเดียวกันก็มีโอกาสขาดทุนเช่นกัน เนื่องจาก ความผันผวนของราคา “บิทคอยน์” ที่เป็นสินค้าอ้างอิง ทั้งรูปแบบผลิตภัณฑ์ที่มีอัตราทด (leverage) ในตัว ทำให้อัตรากำไรขาดทุนสูงยิ่งกว่าของ “บิทคอยน์” และการต้องเตรียมเงินรองรับการถูกเรียกหลักประกันเพิ่มรายวัน ดังนั้น ผู้ลงทุนจึงต้องคำนึงถึงความสามารถในการรับความเสี่ยงของตนด้วย หากไม่เข้าใจหรือไม่พร้อมก็ควรหลีกเลี่ยง และ broker ที่แนะนำลูกค้าไปลงทุนต้องคำนึงถึงฐานะทางการเงิน ความเข้าใจ และความสามารถในการรับความเสี่ยงของลูกค้าด้วย