posttoday

"ธอส."ควบ"บตท." ทำแบงก์รัฐหนาวถูกยุบลดต้นทุน

09 เมษายน 2562

หลังจากคลังปฏิบัติการลับให้ ธอส. ควบรวมกิจการของ บตท. ทำให้โมเดลนี้อาจจะถูกนำไปใช้ควบรวมแบงก์รัฐอีกหลายแห่ง เพื่อลดต้นทุนและการทำงานที่ซ้ำซ้อนโดยไม่จำเป็น

หลังจากคลังปฏิบัติการลับให้ ธอส. ควบรวมกิจการของ บตท. ทำให้โมเดลนี้อาจจะถูกนำไปใช้ควบรวมแบงก์รัฐอีกหลายแห่ง เพื่อลดต้นทุนและการทำงานที่ซ้ำซ้อนโดยไม่จำเป็น

***************

โดย...ทีมข่าวการเงิน โพสต์ทูเดย์ออนไลน์

การออกกฎหมายพิเศษของกระทรวงการคลัง เพื่อให้ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ไปควบ บรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย (บตท.) ถือเป็นโมเดลการควบรวมสถาบันการเงินเฉพาะกิจ หรือ แบงก์รัฐ ของกระทรวงการคลังที่พยายามดำเนินการมานานแล้ว

การให้ ธอส. ไปควบ บตท. เนื่องจากมีการทำงานบริหารด้านสินเชื่อบ้านเหมือนกัน และปัจจุบัน บตท. มีธุรกรรมน้อย มีสินทรัพย์ ณ สิ้นเดือน ก.ย. 2561 จำนวน 1.91 หมื่นล้านบาท

การก่อตั้ง บตท. เมื่อปี 2540 เพราะเกิดวิกฤตการเงินและเศรษฐกิจ ธนาคารพาณิชย์ขาดสภาพคล่อง จึงขายสินเชื่อบ้านมาให้ บตท. บริหารต่อ ทำให้ธนาคารพาณิชย์มีเงินไปปล่อยสินชื่อบ้านต่อ แต่ปัจจุบันฐานะของธนาคารพาณิชย์ไทยเข้มแข็ง ไม่มีปัญหาสภาพคล่อง จึงไม่ขายลูกหนี้สินเชื่อให้ บตท. มาบริหารต่อเหมือนในอดีต

กระทรวงการคลัง ออกมาระบุว่า การดำเนินการให้ ธอส. ไปควบ บตท. จะดำเนินการให้เสร็จภายในปีนี้ เพราะสินเชื่อบ้านที่ บตท. บริหารอยู่ก็สามารถให้ ธอส. บริหารดำเนินการต่อไปได้โดยที่ลูกค้าไม่ได้รับผลกระทบ

โมเดลการให้ ธอส. ไปควบ บตท. ทำให้แบงก์รัฐแห่งอื่นๆ หนาวๆ ร้อนๆ ที่จะถูกควบรวมไปด้วย เพื่อลดความซ้ำซ้อนและต้นทุนการทำงานของประเทศ

สำหรับแบงก์รัฐในปัจจุบัน หากไม่นับรวมธนาคารกรุงไทย ที่เป็นธนาคารพาณิชย์เต็มตัวและจดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ แบงก์รัฐที่เป็นแบงก์เฉพาะกิจมีจำนวน 8 แห่ง

กลุ่มแรก แบงก์รัฐที่ทำหน้าที่เป็นธนาคารที่ให้บริการทางการเงินทั้งด้านเงินฝากและให้สินเชื่อ มี 4 แห่ง คือธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์) และ ธอส.

กลุ่มที่สอง แบงก์รัฐที่ทำธุรกิจตามขอบเขตที่กำหนด เช่น ให้สินเชื่อหรือรับประกันสินเชื่อให้แก่ลูกค้าเฉพาะกลุ่ม แต่ไม่รับเงินฝากจากประชาชนทั่วไป มี 4 แห่งคือ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) หรือ เอ็กซิมแบงก์ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ เอสเอ็มอีแบงก์ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) และ บตท.

เมื่อพิจารณาแบงก์รัฐในกลุ่มแรก จะยังเป็นแกนหลักทำหน้าที่แต่ละด้านต่อไป ไม่ว่าจะเป็นธนาคารออมสิน เป็นธนาคารสำหรับประชาชน โดยมุ่งให้บริการรับฝากเงินแก่ผู้ฝากเงินรายย่อย ส่งเสริมการออมทรัพย์อย่างกว้างขวางในกลุ่มนักเรียนและประชาชนโดยทั่วไป

สิ้นปี 2561 ธนาคารออมสินมี มีสินทรัพย์รวม 2.71 ล้านล้านบาท สินเชื่อรวม 2.11 ล้านล้านบาท มีเงินรับฝาก 2.29 ล้านล้านบาท และนำส่งเงินให้รัฐ 2 หมื่นล้านบาท

ด้าน ธ.ก.ส. จะเป็นธนาคารเพื่อช่วยเหลือทางการเงินแก่เกษตรกร กลุ่มเกษตรกร และสหกรณ์การเกษตร สำหรับการประกอบอาชีพเกษตรกรรมหรืออาชีพที่เกี่ยวเนื่องกับเกษตรกรรม ปัจจุบัน ธ.ก.ส. มีบัญชีลูกหนี้เกษตรกรกว่า 10 ล้านบัญชี

ขณะที่ ธอส. เป็นแบงก์รัฐเพื่อให้สินเชื่อระยะยาวสำหรับประชาชน เพื่อการปลูกสร้าง ซื้อ หรือจัดหาที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อยหรือยากจน โดยปัจจุบัน ธอส. ดำเนินโครงการบ้านล้านหลัง ซึ่งมีผู้รายได้น้อยจองสิทธิขอสินเชื่อจำนวนมาก และที่ผ่านมา ธอส. ปล่อยสินบ้านทะลุ 1 ล้านล้านบาท

สำหรับ ไอแบงก์ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้มีช่องทางการเงินที่ถูกต้องตามแนวทางศาสนาอิสลาม แต่ที่ผ่านมีมีปัญหาการดำเนินงาน และฐานะการเงินอย่างรุนแรง จนต้องเข้าแผนฟื้นฟู และกระทรวงการคลังต้องใช้เงินภาษีเพิ่มทุนให้ 1.8 หมื่นล้านบาท แม้วันนี้ฐานะการดำเนินงานไอแบงก์จะดีขึ้น แต่การหาพันธมิตรรายใหม่ไม่ได้ ทำให้มีความเป็นไปได้ที่ไอแบงก์จะถูกจับไปควบรวมกับธนาคารกรุงไทย เพราะไอแบงก์เคยเป็นส่วนหนึ่งของธนาคารกรุงไทยมาก่อน

"ธอส."ควบ"บตท." ทำแบงก์รัฐหนาวถูกยุบลดต้นทุน

ขณะที่แบงก์รัฐกลุ่มที่สอง เป็นกลุ่มที่น่าจับตามองมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นเอสเอ็มอีแบงก์ เอ็กซิมแบงก์ และ บสย. จะถูกควบรวมเข้าด้วยกัน เหมือนกับที่กระทรวงการคลังให้ ธอส. ควบรวม บตท.

เหตุผลสำคัญที่ผ่านมาเอสเอ็มอีแบงก์มีปัญหาหนี้เสียจนต้องเข้าแผนฟื้นฟู และแก้ปัญหาออกมาเป็นแบงก์ที่มีฐานะดีได้ โดยการตัดหนี้เสียขายและเร่งปล่อยสินเชื่อรายใหม่

อย่างไรก็ตามการดำเนินในอนาคตของเอสเอ็มอีแบงก์ ต้องขอกระทรวงการคลังเพิ่มทุนอีกจำนวน 8,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นเงินจำนวนที่ไม่น้อย

ขณะที่เอ็กซิมแบงก์ มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการส่งออก การนำเข้า การลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ แต่ที่ผ่านมามีการปล่อยกู้ได้ปีละ 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนที่น้อย

สุดท้าย บสย. มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือและสนับสนุนอุตสาหกรรมขนาดย่อม หรือ เอสเอ็มอี ให้มีโอกาสได้รับสินเชื่อจากสถาบันการเงินมากขึ้น โดยการเข้าไปช่วยค้ำประกัน โดยจับมือกับธนาคารพาณิชย์และแบงก์รัฐโดยเฉพาะกับเอสเอ็มอีแบงก์ และเอ็กซิมแบงก์ ในการเข้าไปช่วยค้ำประกันสินเชื่อให้ลูกหนี้ได้รับสินเชื่อ

ดังนั้นมีความเป็นไปได้สูงหลังจากที่กระทรวงการคลังให้ ธอส. ควบรวม บตท. สำเร็จเรียบร้อยแล้ว จะได้เห็นการควบรวม เอสเอ็มอีแบงก์ เอ็กซิมแบงก์ และ บสย. เข้าด้วยกัน เพราะมีภาระกิจสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเหมือนกัน จึงไม่มีความจำเป็นต้องแยกกันอยู่ให้มีต้นทุนสูงและทำงานซ้ำซ้อนอีกต่อไป