posttoday

รื้อใหญ่ภาษีสรรพากร หั่นเพดานบุคคลธรรมดาเหลือ25% เก็บนิติบุคคลเพิ่ม5%

22 กันยายน 2561

เสนอปฏิรูประบบภาษีสรรพากรใหม่ ลดภาษีบุคคลธรรมดาใกล้เคียงนิติบุคคล และขยายวงเงินขึ้นทะเบียนแวตเป็น 10 ล้าน

เสนอปฏิรูประบบภาษีสรรพากรใหม่ ลดภาษีบุคคลธรรมดาใกล้เคียงนิติบุคคล และขยายวงเงินขึ้นทะเบียนแวตเป็น 10 ล้าน

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลจะเร่งแก้ไขกฎหมายประมวลรัษฎากรของกรมสรรพากร ซึ่งจะรีบดำเนินการก่อนการเลือกตั้ง เพราะหากทำไม่ทันในรัฐบาลชุดนี้ รัฐบาลที่จะมาจากการเลือกตั้งใหม่อาจจะไม่ดำเนินการต่อ เพราะเรื่องของการขยายฐานภาษีเป็นเรื่องที่รัฐบาลเลือกตั้งหลีกเลี่ยงที่จะดำเนินการ เพราะทำให้เสียความนิยมได้

ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการพิจารณาปรับปรุงและแก้ไขประมวลรัษฎากร ที่ได้รับการแต่งตั้งจาก คณะกรรมการดำเนินการปฏิรูปกฎหมายในระยะเร่งด่วนที่มี นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธาน ได้นำเสนอผลการศึกษาการแก้ไขกฎหมายภาษีสรรพากรใน 6 ประเด็น คือ 1.ประเด็นธรรมาภิบาลการจัดเก็บภาษีและบริหารภาษีอากร โดยให้มีการตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษานโยบายภาษีอากรแห่งชาติ ที่เป็นอิสระจากกรมเก็บภาษี เพื่อกำหนดนโยบายการเก็บภาษีโดยคำนึงโครงสร้างภาษีทั้งระบบและทุกประเภท รวมถึงการตั้งคณะกรรมการอุทธรณ์ภาษีควรเป็นคนนอกไม่ใช่จากกรมสรรพากร เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและเป็นกลาง

ประเด็นที่ 2 ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เสนอปรับเงินได้ให้เหลือ 3 ประเภท คือ เงินได้จากน้ำพักน้ำแรง เงินได้จากทรัพย์สินและการลงทุน และเงินได้ประเภทเงินปันผลและดอกเบี้ยและเงินได้จากธุรกิจอื่นๆ และให้มีการหักค่าใช้จ่ายได้เพิ่มมากขึ้นตามประเภทของประเภท เงินได้ จากปัจจุบันที่หักค่าใช้จ่ายได้ไม่เกิน 1 แสนบาท

นอกจากนี้ ยังเสนอให้มีการปรับลดอัตราภาษีบุคคลธรรมดาลดลงจากปัจจุบันสูงสุด 35% ให้อยู่ระดับ 25% ใกล้เคียงกับภาษีเงินได้ของนิติบุคคล เป็นการส่งเสริมให้บุคคลธรรมดาที่ต้องการประกอบธุรกิจ แต่ยังไม่พร้อมจะเป็นนิติบุคคล

ประเด็นที่ 3 ภาษีเงินได้นิติบุคคล เสนอให้มีการปรับลดอัตราภาษีแล้ว ภาระภาษีรวมอยู่ที่ไม่เกิน 25% จากปัจจุบันภาษีนิติบุคคลของไทยเสียอยู่ที่ 20% และต้องเสียภาษีเงินปันผลอีก 10% ทำให้มีภาระภาษีรวมประมาณ 28% รวมถึงให้กลุ่มบริษัทเดียวกันมีสิทธิคำนวณ กำไรเสียภาษีรวมแบบกลุ่ม ป้องกันการถ่ายโอนราคาสินค้าบริหารเพื่อเสียภาษีให้น้อยลง

ขณะที่ประเด็นที่ 4 คือ เรื่องภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือภาษีแวต จากปัจจุบันต้องจดทะเบียนภาษีแวตเมื่อมีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาท/ปี เพิ่มเป็นเกิน 10 ล้านบาท/ปี แก้ปัญหาผู้ประกอบการหลีกเลี่ยงการ เสียภาษีแวต เนื่องจากผู้ประกอบการ เอสเอ็มอีปัจจุบันมีรายได้อยู่ที่ปีละ 7-8 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการที่มี รายได้ไม่ถึง 10 ล้านบาท ไม่ต้องจดทะเบียนขึ้นภาษีแวต จะต้องเสียภาษีจากการขายจากรายรับ 2% ทดแทน

ประเด็นที่ 5 ภาษีธุรกิจเฉพาะ เสนอให้มีการยกเลิกจัดเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะอัตรา 0.1% จากรายรับจากการขายหุ้น ในตลาดหลักทรัพย์ และเรื่องที่ 6 ภาษีอากรแสตมป์ เสนอให้ยกเลิกการเก็บภาษีอากรแสตมป์เนื่องจากซ้ำซ้อนกับการเก็บภาษีอื่น และมีจำนวนน้อยและมีค่าใช้จ่ายในการติดตามตรวจสอบสูงกว่าภาษีอากรแสตมป์เก็บได้

ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการได้เปิดรับฟังความเห็นการแก้ไขกฎหมายประมวลรัษฎากรของกรมสรรพากรจากประชาชนแล้ว และจะมีการนำความคิดเห็นประชาชนพร้อมข้อเสนอส่งให้คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายพิจารณา คาดว่าจะใช้เวลาเขียนร่างแก้ไขกฎหมายกรมสรรพากรไม่เกิน 5 เดือน เพื่อให้กฎหมายออกมาบังคับใช้ได้ทันภายในรัฐบาลชุดนี้