posttoday

คลังชี้แนวโน้มปีนี้ไม่รีบขึ้นดอกเบี้ย

09 มิถุนายน 2561

โฆษกคลังเผยไทยไม่จำเป็นต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ยจนกว่าจะถึงปีหน้า ชี้สภาพคล่องในประเทศยังสูง

โฆษกคลังเผยไทยไม่จำเป็นต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ยจนกว่าจะถึงปีหน้า ชี้สภาพคล่องในประเทศยังสูง

น.ส.กุลยา ตันติเตมิท ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยกับบลูมเบิร์กว่า ไทยยังไม่มีแนวโน้มใช้นโยบายการเงินตึงตัวจนกว่าจะถึงปี 2562 นี้ ขณะที่ประเทศกลุ่มตลาดเกิดใหม่บางแห่งในเอเชีย เริ่มการปรับขึ้นดอกเบี้ยและใช้นโยบายการเงินตึงตัวแล้วนับตั้งแต่ต้นปีนี้ เพื่อเตรียมรับการปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ซึ่งเฟดคาดว่าจะปรับขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้งในการประชุมวันที่ 12-13 มิ.ย.นี้

"(การใช้นโยบายการเงินตึงตัว) จะไม่เป็นไปในเชิงรุกมากนัก เพราะไทยยังคงมีสภาพคล่องสูงมาก" น.ส.กุลยา ให้สัมภาษณ์กับบลูมเบิร์ก

รายงานระบุว่า ไทยมีฐานะการคลังของประเทศที่แข็งแกร่ง ซึ่งส่งผลให้ไทยยังไม่จำเป็นต้องเร่งปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินตามประเทศอื่นๆ โดยมีทุนสำรองระหว่างประเทศสูงกว่า 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 6.4 ล้านล้านบาท) และยังมียอดเกินดุลบัญชีเดินสะพัดอยู่

บลูมเบิร์กรายงานว่า แม้ทิศทางการใช้นโยบายการเงินตึงตัวทั่วโลก และผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ส่งผลให้เงินทุนต่างชาติไหลออกจากกลุ่มประเทศเกิดใหม่ในช่วงที่ผ่านมา แต่แนวโน้มของไทยเป็นไปในทางตรงข้าม โดยนักลงทุนต่างชาติยังคงเข้ามาลงทุนในตลาดตราสารหนี้ในประเทศ

ทั้งนี้ ความเห็นของ น.ส.กุลยา สอดคล้องกับนายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก่อนหน้านี้ว่า ไทยมีเสถียรภาพต่างประเทศเข้มแข็ง มีทุนสำรองระดับสูง มีหนี้ต่างประเทศต่ำมากเมื่อเทียบกับทุนสำรอง อีกทั้งยังเกินดุลบัญชีเดินสะพัด และเศรษฐกิจฟื้นตัวดีและมีการ กระจายตัวมากขึ้น แม้ว่าภาวะตลาดเงินโลกจะตึงตัวมากขึ้น

นอกจากนี้ น.ส.กุลยา เสริมว่า กระทรวงการคลังเตรียมจะปรับขึ้นประมาณการการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยไปเป็น 4.5% สำหรับปี 2561 จากคาดการณ์ปัจจุบันที่ 4.2% เนื่องจากได้แรงหนุนจากการส่งออกและการท่องเที่ยวขยายตัวอย่างแข็งแกร่ง

"การขยายตัวของเศรษฐกิจเป็นไปในทิศทางที่ดี ความท้าทายของเราคือผู้คนในประเทศยังไม่รู้สึกว่าเศรษฐกิจขยายตัว โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบทและในภาคเกษตรกรรม ดังนั้น งานของเราคือการหาแนวทางกระจายรายได้ไปสู่ภาคส่วนอื่นๆ" น.ส.กุลยา กล่าว

ก่อนหน้านี้ รายงานระบุว่า รัฐบาลลงมติผ่านร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ 2561 จำนวน 1.5 แสนล้านบาท เพื่อช่วยสนับสนุนงบประมาณในโครงการแก้ไขความยากจน รวมถึงยังปรับขึ้นค่าแรง ขั้นต่ำไปเมื่อเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา