posttoday

ต้อนเอกชนจดทะเบียน สรรพากรจูงใจขยายเวลามาตรการยกเว้นภาษีเงินได้และแวต

11 พฤษภาคม 2561

สรรพากรดึงผู้ประกอบการจดทะเบียนนิติบุคคลเพิ่มแสนราย จูงใจขยายเวลามาตรการยกเว้นภาษี เงินได้และภาษีมูลค่าเพิ่ม

สรรพากรดึงผู้ประกอบการจดทะเบียนนิติบุคคลเพิ่มแสนราย จูงใจขยายเวลามาตรการยกเว้นภาษี เงินได้และภาษีมูลค่าเพิ่ม

นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า การขยายเวลามาตรการส่งเสริมผู้ประกอบการบุคคลธรรมดาประกอบธุรกิจในรูปแบบนิติบุคคล โดยให้ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้และภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ขยายเวลาไปสิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค. 2561 จากเดิมวันที่ 31 ธ.ค. 2560 จะทำให้มี ผู้มาจดทะเบียนเสียภาษีเป็นนิติบุคคลเพิ่ม 1 แสนราย จากที่มาตรการในรอบแรกมีผู้ยื่นจดเข้าเป็นนิติบุคคลแล้ว 7 หมื่นราย ส่งผลให้มีผู้ประกอบการที่ต้องเสียภาษีบุคคลธรรมดาในระบบกว่า 8 แสนราย

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการที่ให้ความร่วมมือมากที่สุด คือ ธุรกิจร้านทอง ที่เข้ามา จดเป็นนิติบุคคลกว่า 1.5 หมื่นราย จาก 1.7 หมื่นราย ธุรกิจอัญมณีกว่า 1 หมื่นราย วัสดุก่อสร้าง ขายเครื่องเงินเก่า ก็เข้ามาจดต่อเนื่อง แต่ยังมีปัญหาในกลุ่มร้านค้าปลีกที่ยังไม่สามารถเข้ามาได้ เนื่องจาก ติดปัญหามีสินค้าบางรายการที่รับมาขายไม่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งกระทรวงการคลังกำลังหาทางแก้ไขให้อยู่

"ธุรกิจร้านขายยาก็ยังมีปัญหาติดขัดกฎกระทรวงสาธารณสุขที่กำหนดว่าเมื่อเปลี่ยนจากบุคคลธรรมดาเป็นนิติบุคคล จะทำให้ไม่สามารถดำเนินกิจการขายยาต่อไปได้ ซึ่งจะต้องหารือกับกระทรวงสาธารณสุขต่อไป" อธิบดีกรมสรรพากร กล่าว

นายประสงค์ กล่าวว่า ต้องการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการมาจดเป็นนิติบุคคลมากขึ้น เนื่องจากการทำธุรกิจโดยเสียภาษีบุคคลธรรมดามีภาระภาษีสูงกว่า เช่น กำไร 3 แสนบาทแรก นิติบุคคลไม่ต้องเสียภาษี ขณะที่บุคคลธรรมดา กำไรเกิน 1.5 แสนบาทแรกต้องเสียภาษี

นายประสงค์ กล่าวต่อไปว่า หากบุคคลธรรมดาอายุเกิน 60 ปี ก็ไม่สามารถกู้เงินจากธนาคารได้แล้ว ขณะที่นิติบุคคลอายุเกิน 60 ปี ก็ไม่มีปัญหา ยังมีศักยภาพในการกู้เพื่อไปทำธุรกิจได้ นอกจากนี้ ยังเป็นการช่วยสนับสนุนนโยบายรัฐบาลในการลดปัญหาหนี้ครัวเรือน จากปัจจุบันมีการกู้เงินในรูปของบุคคลธรรมดาในการทำธุรกิจ

นอกจากนี้  ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2562 สถาบันการเงินจะใช้ข้อมูลงบการเงินที่ นำส่งสรรพากรเป็นหลักฐานในการทำธุรกรรมทางการเงินและการขออนุมัติสินเชื่อ ดังนั้นผู้ประกอบการจะต้องทำงบการเงินรอบระยะเวลาบัญชี 2560 ให้ ถูกต้องและสอดคล้องกับสภาพข้อเท็จจริง เพื่อรองรับการดำเนินการของสถาบันการเงินด้วย

นายประสงค์ กล่าวว่า การจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพากรในช่วง 7 เดือนของปีงบประมาณ 2561 ยังเป็นไปตามเป้าหมาย โดยเฉพาะภาษีเงินได้นิติบุคคล ที่ล่าสุดเก็บได้เกินเป้าหมาย 5,000 ล้านบาท และแม้ว่าในช่วง 7 เดือนแรกจะจัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาย 1.5 หมื่นล้านบาท แต่ก็เป็นการต่ำเป้ากว่าที่ คาดการณ์ไว้เดิม 3 หมื่นล้านบาท ส่วนภาษีมูลค่าเพิ่มปีนี้จัดเก็บได้สูงกว่าปีก่อน แต่ก็ยังต่ำกว่าประมาณการ ปัญหาหลักมาจากภาษีมูลค่าเพิ่มจากการนำเข้า เพราะ ค่าเงินบาทแข็ง โดยทุก 1 บาทจะทำให้รายได้หายไป 8,000 ล้านบาท