posttoday

จัดเก็บรายได้รัฐวูบ คลังห่วงอุ้มค่ายมือถือ-ทีวีดิจิทัลมีผลกระทบ เร่งกสทช.เดินหน้าประมูลคลื่นใหม่

14 เมษายน 2561

คลังกังวลยอดการเก็บรายได้รัฐ หลังทีวีดิจิทัลและค่ายมือถือยื้อจ่ายเงินค่าสัมปทาน กรมสรรพากรจัดเก็บภาษีไม่เป็นไปตามเป้า

คลังกังวลยอดการเก็บรายได้รัฐ หลังทีวีดิจิทัลและค่ายมือถือยื้อจ่ายเงินค่าสัมปทาน กรมสรรพากรจัดเก็บภาษีไม่เป็นไปตามเป้า

นายสุวิชญ โรจนวานิช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า การจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลครึ่งปีแรกของปีงบประมาณ 2561 พอไปได้ แต่ขณะนี้กระทรวงการคลังเป็นห่วงเรื่องการจ่ายเงินประมูลทีวีดิจิทัลที่เอกชนจะ ไม่ยอมจ่าย ซึ่งจะกระทบการจัดเก็บรายได้ รัฐบาลในปีนี้

ขณะที่ค่ายมือถือทั้งบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) และบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น (ทรูมูฟ) ก็จะขอให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ขยายเวลาการจ่ายเงินค่าสัมปทาน 6 หมื่นล้านบาท ออกไปอีก 5 ปี ซึ่งก็จะกระทบการเก็บรายได้ในปีงบประมาณ 2563 เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้ คสช.ยังไม่มีข้อสรุปว่าจะยอมตามที่เอกชนเสนอหรือไม่ เนื่องจากถูกนักวิชาการวิพากษ์วิจารณ์ว่า การประมูลทีวีดิจิทัลและคลื่นความถี่โทรศัพท์มือถือมาจากการแข่งประมูลว่าจะจ่ายเงินให้รัฐจำนวนเท่าใด หากใครจ่ายต่ำกว่าก็จะแพ้ไป แต่ไม่ใช่พอประมูลได้แล้วมาขอเปลี่ยนเงื่อนไขการจ่าย เพราะเป็นการเอาเปรียบคู่แข่ง และทำให้ระบบการประมูลภาครัฐเสียหาย

"ต่อไประบบการประมูลของรัฐบาลจะพัง หากมีการยืดหนี้ให้ทีวีดิจิทัลและค่ายมือถือ ซึ่งกระทบกับการเก็บรายได้ของรัฐ ตอนนี้คาดว่า คสช.รู้แล้วว่าการยืดหนี้เป็นเรื่องที่ไม่เป็นธรรมในทางธุรกิจและกระทบการเก็บรายได้ของประเทศ จึงถอยไม่ช่วยตามที่ถูกขอ" นายสุวิชญ กล่าว

นายสุวิชญ กล่าวอีกว่า ขณะนี้คลังรอเงินการประมูลคลื่นโทรศัพท์ของบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) ที่จะ หมดอายุสัมปทานในปีนี้ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ต้องเปิดประมูลคลื่นใหม่ คาดว่าดีแทคจะสู้ประมูลเพื่อรักษาคลื่นไว้ประกอบธุรกิจต่อไป สศค.ได้ทำหนังสือถึง กสทช.ให้เร่งประมูลคลื่นเพื่อนำรายได้เข้ารัฐ คาดว่าจะมีมูลค่าถึง 6 หมื่นล้านบาท เท่าการประมูลครั้งก่อน

ทั้งนี้ การเก็บรายได้รัฐบาลล่าสุด 5 เดือนของปีงบประมาณ 2561 จัดเก็บได้ 9.08 แสนล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 3.94 หมื่นล้านบาท เนื่องจากการนำส่งรายได้รัฐวิสาหกิจสูงกว่าเป้าหมาย 1.48 หมื่นล้านบาท และหน่วยงานอื่นสูงกว่าเป้าหมาย 1.48 หมื่นล้านบาท โดยส่วนหนึ่งเป็นรายได้จากค่าประมูลทีวีดิจิทัลและคลื่นความถี่ ส่วนการเก็บภาษีของกรมสรรพากรยังต่ำกว่าเป้าหมาย 2,000 ล้านบาท กรมสรรพสามิต 3,000 ล้านบาท และกรมศุลกากร 1,000 ล้านบาท

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า การเก็บภาษีของกรมสรรพากรน่าเป็นห่วงที่สุด เพราะเก็บภาษีการนำเข้าต่ำกว่าประมาณการมาก เนื่องจากประเมินว่าค่าเงินบาทจะอยู่ที่ระดับ 35 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แต่ปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 31 บาท/ดอลลาร์ ค่าเงินบาทแข็งค่า 1 บาท ทำให้การเก็บภาษีของกรมสรรพากรหายไป 8,000 ล้านบาท คลังจึงได้ขอให้รัฐวิสาหกิจส่งรายได้เพิ่มขึ้น เงินที่ยังไม่เบิกจ่ายก็ขอให้ส่งมาเป็นรายได้รัฐก่อน