posttoday

ทางตัน 'แก้ภาษีบุหรี่' แห่ออกแบรนด์ใหม่ ดัมพ์ราคาต่ำกว่าซองละ60บาท เลี่ยงจ่ายแพง

16 กุมภาพันธ์ 2561

สรรพสามิตถึงทางตัน แก้ภาษีบุหรี่ใหม่ ผู้ประกอบการเร่งออกแบรนด์ใหม่แย่งส่วนแบ่งตลาดล่างแทน

สรรพสามิตถึงทางตัน แก้ภาษีบุหรี่ใหม่ ผู้ประกอบการเร่งออกแบรนด์ใหม่แย่งส่วนแบ่งตลาดล่างแทน

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กรมสรรพสามิตได้หารือกับคณะกรรมการกฤษฎีกาหาแนวทางแก้ปัญหาเก็บภาษีบุหรี่อัตราใหม่ ซึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกาให้ความเห็นว่ากระทรวงการคลังไม่มีอำนาจที่จะออกประกาศให้บุหรี่บางยี่ห้อลดราคาลงเท่ากับก่อนวันที่ 16 ก.ย. 2560 ที่กฎหมายภาษีสรรพสามิตใหม่มีผลบังคับใช้

ทั้งนี้ การหารือดังกล่าวเนื่องจากอัตราภาษีบุหรี่ใหม่ทำให้โรงงานยาสูบเสียส่วนแบ่งการตลาดให้กับบุหรี่ต่างประเทศ จากที่โรงงานยาสูบครองส่วนแบ่งการตลาดอยู่ 80% ลดลงมาอยู่ที่ประมาณ 50% เนื่องจากบุหรี่ต่างประเทศหลายยี่ห้อลดราคาขายซองละไม่เกิน 60 บาท เพื่อเสียภาษีในอัตราต่ำและขายได้เพิ่มขึ้น จากที่ก่อนหน้านี้เคยขายซองละมากกว่า 60 บาท

แหล่งข่าวระบุว่า ตอนนี้โรงงานยาสูบได้ปรับตัวเพื่อดึงส่วนแบ่งการตลาดเพิ่มมากขึ้น โดยการออกบุหรี่ยี่ห้อใหม่ขายในราคา 60 บาท ซึ่งได้มีการซื้อแสตมป์จากกรมสรรพสามิตไปแล้ว คาดว่าจะวางจำหน่ายในสัปดาห์นี้ เพื่อที่จะนำมาแข่งขันกับบุหรี่ต่างประเทศ

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการบุหรี่ต่างประเทศสัญชาติญี่ปุ่นก็เตรียมออกบุหรี่ยี่ห้อใหม่ราคาไม่เกิน 60 บาท มาทำตลาดในไม่ช้านี้เช่นกัน คาดว่าบุหรี้ต่างประเทศสัญชาติอเมริกาก็จะออกบุหรี่ตัวใหม่ในลักษณะเดียวกันเพื่อมารักษาส่วนแบ่งบุหรี่ตลาดล่าง ซึ่งเป็นการแข่งขันตามกลไกตลาด

ดังนั้น กรมสรรพสามิตเห็นว่า ขณะนี้ไม่มีความจำเป็นต้องแก้ไขกฎหมายอัตราภาษีบุหรี่ใหม่แล้ว เนื่องจากคณะกรรมการกฤษฎีกาเห็นว่ากระทรวงการคลังไม่มีอำนาจประกาศกำหนดราคาขายย้อนหลัง รวมถึงการใช้อำนาจอธิบดีกรมสรรพสามิตก็ใช้ไม่ได้ เพราะบุหรี่ต่างประเทศขายตามราคาขายปลีกแนะนำที่ยื่นไว้กับกรมสรรพสามิต ไม่ได้ขายราคาต่ำกว่า จึงไม่มีเหตุผลที่จะใช้อำนาจอธิบดีกรมสรรพสามิตไปประกาศ

นอกจากนี้ การใช้อัตราภาษีบุหรี่ใหม่ก็ใช้มาเกือบ 6 เดือน โดยกำหนดให้บุหรี่เสียภาษีตามปริมาณมวนละ 1.20 บาท และเสียภาษีตามมูลค่า 20% สำหรับบุหรี่ที่ขายซองละไม่เกิน 60 บาท และเสียภาษีมูลค่า 40%

สำหรับบุหรี่ที่ขายเกินซองละ 60 บาท ซึ่งกฎหมายกำหนดให้ใช้อัตราดังกล่าวเป็นเวลา 2 ปี หลังจากนั้น หรืออีกประมาณ 1 ปีครึ่ง บุหรี่ทุกยี่ห้อจะต้องเสียภาษีตามมูลค่า 40% เท่ากันหมด ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้ประกอบการทุกราย และคาดว่าจะสามารถลดการสูบบุหรี่ของประชาชน เพราะราคาบุหรี่แพงขึ้น ขณะที่รายได้จากการเก็บภาษีบุหรี่ของรัฐบาล ไม่ได้ลดลงจากเดิม

ก่อนหน้านี้ นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง ระบุว่า การประกาศราคาขายบุหรี่เป็นอำนาจของกรมสรรพสามิต ไม่ใช่อำนาจของ รมว.คลัง หากกรมสรรพสามิตเห็นว่าทำได้ก็ทำไป แต่หากกฎหมายให้ทำไม่ได้ ก็ต้องทำตามกฎหมาย

ภาพประกอบข่าว