posttoday

ธกส.หวั่นเอ็นพีแอลพุ่ง! ปัญหาน้ำท่วม-ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำซ้ำเติม

16 ตุลาคม 2560

ธ.ก.ส.เผย 6 เดือนแรก ปล่อยสินเชื่อ 3.3 หมื่นล้าน จับตาหนี้เสียเพิ่มขึ้น

ธ.ก.ส.เผย 6 เดือนแรก ปล่อยสินเชื่อ 3.3 หมื่นล้าน จับตาหนี้เสียเพิ่มขึ้น

นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ผลดำเนินงานในช่วง 6 เดือนแรกของปีบัญชี 2560 สิ้นสุด ณ เดือน ก.ย.ที่ผ่านมา ว่ายอดสินเชื่อปล่อยใหม่มีอัตราการขยายตัวกว่า 3.34 หมื่นล้านบาท โดยมียอดสินเชื่อคงค้างที่ระดับ 1.27 ล้านล้านบาท

ทั้งนี้ คาดว่าเมื่อถึงสิ้นปีบัญชี 2560 ณ สิ้นเดือน มี.ค. 2561 ธนาคารจะมียอดสินเชื่อปล่อยใหม่ขยายตัวได้ที่ระดับ 8.6 หมื่นล้านบาท ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ เนื่องจากในช่วงหลังจากนี้กำลังจะเข้าสู่ฤดูการผลิตซึ่งเกษตรกรจะเร่งการขอสินเชื่อเข้ามามากขึ้นในช่วงปลายปีนี้

“ภาพรวมการปล่อยสินเชื่อที่ผ่านมาไม่ชะลอตัวในเป้าสินเชื่อปล่อยใหม่ 8.6 หมื่นล้านบาท ธ.ก.ส.ตั้งเป้าหมายจะปล่อยสินเชื่อให้เอสเอ็มอีเกษตรกรด้วย 4.5 หมื่นล้านบาท” นายอภิรมย์ กล่าว

สำหรับยอดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือเอ็นพีแอล ณ สิ้นเดือน ก.ย. 2560 พบว่ายอดเอ็นพีแอล ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 5.59% เทียบจากสิ้นปีบัญชี 2559 สิ้นสุด ณ เดือน มี.ค. 2560 มียอดเอ็นพีแอล อยู่ที่ระดับ 5.59% เพิ่มขึ้นจาก ณ สิ้นปีบัญชี 2559 ที่มีเอ็นพีแอลอยู่ที่ 4.8 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็น 3.9% ของสินเชื่อรวม

ทั้งนี้ สาเหตุที่เอ็นพีแอลเพิ่มขึ้น เนื่องจากราคาพืชผลทางการเกษตรหลายตัว ได้แก่ มัน ข้าวโพด ปาล์ม ยาง ราคาไม่ดี มีแต่ข้าวเท่านั้นที่มีการปรับราคาสูงขึ้น แต่พืชเศรษฐกิจตัวอื่นๆ ยังราคาตกต่ำ โดยเฉพาะปาล์มน้ำมันที่มีสต๊อกคงค้างในระบบอีกกว่า 2 แสนตัน ทำให้ราคาลดลงกว่าที่คาดมาก

ในขณะเดียวกันผลผลิตปาล์มใหม่กำลังจะออกมาเพิ่มอีกในเดือน ธ.ค. นี้ ยิ่งจะซ้ำเติมให้ราคาปาล์มลดลงไปอีก อย่างไรก็ตามขณะนี้กลุ่มเกษตรกรได้เตรียมทำข้อเสนอให้รัฐบาลนำสต๊อกปาล์มที่เหลือเอาไปผลิตไฟฟ้า เพราะมีราคาใกล้เคียงกับน้ำมันที่ใช้ผลิตไฟฟ้า โดยให้รัฐบาลจ่ายชดเชยส่วนต่างราคาให้กับโรงไฟฟ้า เพื่อลดปัญหาการขาดทุน

ประกอบกับปัญหาภัยธรรมชาติ เช่น น้ำท่วมที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ของเกษตรกร ซึ่งพบว่าในส่วนของลูกหนี้ที่เข้าโครงการพักชำระหนี้เงินต้น 2 ปี ซึ่งในระหว่างนี้ยังเป็นช่วงที่ต้องชำระแต่ดอกเบี้ย เมื่อถึงกำหนดชำระดอกเบี้ย แต่พบว่ามีลูกหนี้บางส่วนที่ยังไม่มีความสามารถในการชำระหนี้ให้กับธนาคาร

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่า เมื่อเข้าสู่ฤดูกาลผลิต เกษตรกรจะมีรายได้เพิ่ม และมีความสามารถในการชำระหนี้มากขึ้น ซึ่งเชื่อว่ายอดหนี้เอ็นพีแอล จะทยอยปรับตัวลดลงได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ 4% เมื่อสิ้นปีบัญชี 2560 ในเดือน มี.ค.ปีหน้า