posttoday

คลังโต้ไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์ลงทุนมั่ว

21 มิถุนายน 2560

สคร. ชี้แจงกองทุนไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์ ไม่ได้ใช้ในโครงการรถไฟความเร็วสูงและไม่มีนโยบายให้ธนาคารรัฐปล่อยกู้ให้สหกรณ์ซื้อกองทุน

สคร. ชี้แจงกองทุนไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์ ไม่ได้ใช้ในโครงการรถไฟความเร็วสูงและไม่มีนโยบายให้ธนาคารรัฐปล่อยกู้ให้สหกรณ์ซื้อกองทุน

นายสุธารักษ์ ธีร์จันทึก ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนรัฐวิสาหกิจ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผยว่า ตามที่นายไพบูลย์ นิติตะวัน ประธานเครือข่ายประชาชนปฏิรูป อดีตสมาชิกวุฒิสภา และอดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ให้ความเห็นว่า นายกรัฐมนตรีใช้วิธีเล่นแร่แปรธาตุกับ กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (กองทุนไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์) ระดมเงินเพื่อนำเงินกองทุนไปใช้ในโครงการรถไฟความเร็วสูง  ซึ่ง สคร. ยืนยันว่าไม่เป็นความจริง และเป็นความเข้าใจและความเห็นที่คลาดเคลื่อน

ทั้งนี้ สคร. ชี้แจงข้อกล่าวหาของนายไพบูลย์ ที่ระบุว่า กองทุนไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์ใช้วิธีเล่นแร่แปรธาตุ มีการดำเนินการผิดวัตถุประสงค์ เป็นวิธีที่ซับซ้อนซ่อนเงื่อนไม่โปร่งใส โดย สคร. ชี้แจงว่า กองทุนไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์จัดตั้งขึ้นตามหลักเกณฑ์ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ซึ่งกองทุนจะถูกกำกับให้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ต่างๆ เช่น การเปิดเผยข้อมูลและสามารถตรวจสอบได้ภายใต้หลักการการกำกับดูแลกิจการที่ดี ที่สำนักงาน ก.ล.ต. กำหนด

สำหรับประเด็นการนำโครงการรถไฟความเร็วสูงมาระดมทุนผ่านกองทุน TFF ขอชี้แจงว่า การจัดตั้งกองทุนไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์ ไม่ได้นำโครงการรถไฟความเร็วสูงมาระดมทุนผ่านกองทุน TFF เนื่องจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเมื่อวันที่ 30 พ.ค. 2560 เห็นชอบให้นำโครงการโครงสร้างพื้นฐานของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) 2 โครงการมาระดมทุนผ่านกองทุน TFF ได้แก่ โครงการทางพิเศษฉลองรัช (รามอินทรา-อาจณรงค์) และโครงการทางพิเศษ บูรพาวิถี (บางนา-ชลบุรี) ซึ่ง กทพ. จะนำเงินที่ได้รับจากการระดมทุนไปลงทุนในโครงการทางพิเศษพระราม 3 – ดาวคะนอง – วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก และโครงการทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือตอน N2 E-W Corridor ด้านตะวันออก เท่านั้น

ขณะที่ประเด็นการให้ธนาคารรัฐ 3 แห่งปล่อยกู้ให้กับสหกรณ์ต่างๆ ที่เป็นเจ้าหนี้สหกรณ์คลองจั่น 3 หมื่นล้านบาท นั้น กระทรวงการคลังไม่ได้มีนโยบายให้ธนาคารรัฐทั้ง 3 แห่ง ปล่อยกู้ให้แก่สหกรณ์ต่างๆ เพื่อนำเงินมาซื้อหน่วยลงทุนของกองทุนไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์ อย่างไรก็ดี หากสหกรณ์ต่างๆ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนักลงทุนสถาบันจะพิจารณาลงทุนในกองทุนไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์ จะต้องเป็นไปตามนโยบายการลงทุนของแต่ละแห่ง รวมทั้งจะต้องพิจารณาผลตอบแทนและความเสี่ยงของการลงทุนควบคู่กันไป ซึ่งเป็นอำนาจของสหกรณ์โดยแท้ในการส่งเสริมผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคมของบรรดาสมาชิกสหกรณ์