posttoday

5 ข้อต้องรู้กับการลงทุนต่างประเทศ

20 มิถุนายน 2562

คอลัมน์ Wealth Management

คอลัมน์ Wealth Management

5 ข้อต้องรู้กับการลงทุนต่างประเทศ

โดย...ดร.ธนาวุฒิ พรโรจนางกูร

...................................................

 

ต้องบอกเลยครับว่าการกระจายการลงทุนไปต่างประเทศอย่างถูกวิธีนั้นมีประโยชน์อย่างมากในการบริหารพอร์ตการลงทุนระยะยาวเพื่อสั่งสมความมั่งคั่งของนักลงทุน ซึ่งนอกจากจะลดความเสี่ยงโดยรวมของการลงทุนแล้ว ยังสามารถช่วยเพิ่มผลตอบแทนจากการลงทุนได้ดีอีกด้วย

วันนี้ผมอยากจะมานำเสนอมุมมองและวิธีคิดที่ถูกต้องในเรื่องนี้ ด้วยเหตุผลที่ว่าผมมักได้มีโอกาสพบเจอนักลงทุนที่มีประสบการณ์ที่ไม่ค่อยดีนักจากการลงทุนต่างประเทศจนเป็นเหตุในการสร้างทัศนคติที่ไม่ค่อยถูกต้องนักกับการลงทุนต่าง
ประเทศ

1. สินทรัพย์ไทยเหมือนปลาน้อยในมหาสมุทร

สินทรัพย์ที่ลงทุนได้ในประเทศไทยมีสัดส่วนไม่ถึง 1% ของสินทรัพย์ทั่วโลก ทุกวันนี้นักลงทุนไทยสามารถเข้าถึงการลงทุนในตลาดหุ้นทั่วโลกกว่า 40 ประเทศ ด้วยจำนวนหุ้นหลายพันตัวที่มีสภาพคล่องเทียบเท่าหุ้นใน SET50 มีพันธบัตรรัฐบาลที่สามารถลงทุนได้มีมากกว่า 80 ประเทศ ในขณะที่หุ้นกู้เอกชนในต่างประเทศที่มีการจัดอันดับความเสี่ยงเทียบเท่าหรือดีกว่ารัฐบาลไทยกว่าพันตัว

นอกจากนี้ สินทรัพย์ทางเลือกประเภทกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (รีท) และโครงสร้างพื้นฐานทั่วโลกก็มีมากมายหลายร้อยกองที่นักลงทุนไทยสามารถเข้าถึงได้ง่ายๆ หุ้นต่างประเทศอย่าง Microsoft Apple Amazon Facebook แต่ละตัวมีขนาดใหญ่กว่าตลาดหุ้นไทยทั้งประเทศ ดังนั้นถ้าเรามองจากโอกาสการลงทุน การลงทุนที่อยู่แต่ในประเทศเสียโอกาสการลงทุนที่มีมากมายครับ

2.อัศวินขี่ม้าขาวยามเศรษฐกิจไทยเจอวิกฤต

เงินสกุลต่างประเทศที่มีความมั่งคงที่ถือแบบกระจายตัวเป็นสินทรัพย์ที่สามารถสร้างผลตอบแทนชดเชยสินทรัพย์ไทยที่ปรับมูลค่าลงในสถาวะวิกฤตของประเทศไทย วิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนในจังหวะที่นักลงทุนต่างประเทศหมดความเชื่อมั่นและขายสินทรัพย์ไทย ผลที่เกิดขึ้นคือ ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงอย่างรุนแรง ส่งผลให้เงินสกุลต่างประเทศได้กำไรมหาศาลจากอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งเราสามารถขายสินทรัพย์ต่างประเทศเพื่อทำกำไรและนำมาซื้อ
สินทรัพย์ไทยในราคาถูกตามสูตรสำเร็จของการลงทุนระยะยาว งานวิจัยของบลจ.บีแคป แสดงให้เห็นว่าค่าเงินบาทมักอ่อนตัวอย่างมีนัยในทุกช่วงที่ตลาดหุ้นไทยมีการปรับตัวลงเกิน 15 % ตั้งแต่วิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540

3.Safe Haven จะมีอยู่ก็ในต่างประเทศ

ในกรณีวิกฤตที่เกิดแบบแพร่กระจายทั่วโลกอย่างเช่น วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ปี 2008 ที่ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวลงกว่า 50% จะเห็นว่าสินทรัพย์ที่เป็น Safe Haven อย่างพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ พันธบัตรรัฐบาลสวิส หรือทองคำจะสามารถพยุงพอร์ตการลงทุนซึ่งเราสามารถขายทำกำไรและนำเงินมาซื้อหุ้นทั่วโลกที่ปรับตัวลง ซึ่งในช่วงวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ เพิ่มค่ากว่า 15 % ซึ่งเราจะไม่สามารถเข้าถึงสินทรัพย์ Safe Haven เหล่านี้ถ้าไม่ลงทุนอย่างถูกวิธีในต่างประเทศ

4. ลงทุนแบบกระจายอย่าตายแบบกระจุก

หัวใจของการลงทุนในต่างประเทศให้ประสบความสำเหร็จคือ การกระจายการลงทุนในทุกสินทรัพย์ ทุกภูมิภาคอย่างเป็นระบบ และเน้นการลงทุนผ่านเครื่องมือการลงทุนที่มีต้นทุนต่ำ ซึ่งสิ่งที่จำเป็นที่สุดในเรื่องนี้คือการจัดสรรสินทรัพย์ หรือ asset allocation ที่ดูการกระจายการลงทุนแบบองค์รวม การจัดสรรสินทรัพย์พยายามจะตอบโจทย์ว่าถ้าสมมุติเราสามารถลงทุนได้ทุกสินทรัพย์ที่ลงทุนได้ในโลกโดยไม่มีข้อจำกัด เราจะต้องการจัดพอร์ตการลงทุนนี้อย่างไร

แต่ในความเป็นจริงที่ผมสัมผัสส่วนมากนักลงทุนจะลงทุนต่างประเทศผ่านกองทุนต่างประเทศ Foreign Investment Fund (Feeder Fund)ในช่วงไอพีโอ ของกองทุน พอร์ตลงทุนที่สะสมมามักไม่มีภาพการจัดสรรสินทรัพย์อย่างชัดเจน แต่มักเป็นการลงทุนกองไอพีโอต่างๆ สะสมมา การลงทุนหลักทรัพย์ต่างประเทศรายตัว เช่นการซื้อหุ้นรายตัว หรือการลงทุนในตลาดหุ้นในประเทศใดประเทศหนึ่งมีความเสี่ยงเพิ่มเติมเรื่องการกระจุกตัวของความเสี่ยงซึ่งผมไม่แนะนำ

นอกจากนี้แล้วยังมีความเป็นไปได้สูงที่กอง Feeder Fund เหล่านี้จะมีการเสนอขายหลังจากกองแม่ในต่างประเทศมีผลการดำเนินงานดีในช่วงหลายปีก่อน ก่อนที่จะมีการปรับตัวลงของราคาตามวัฏจักรการลงทุน

5. ลงทุนทั่วโลกทำได้ทั้งท่าง่ายและท่ายาก

ถ้าฟังดูแล้วเห็นด้วยกับผมว่าเราต้องกระจายการลงทุนไปต่างประเทศ ผมจะขอแนะนำสองแนวทางในการลงทุนต่างประเทศที่ดี แนวทางแรกเหมาะสมกับนักลงทุนที่มีความรู้ความเข้าใจการลงทุนที่ดีและสามารถเปิดพอร์ตการลงทุนหุ้นต่างประเทศ (บัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ offshore) ด้วยการซื้อกองทุนประเภท Exchange Traded Fund (ETF)ซึ่งเป็นกองทุนรวมดัชนีที่ถูกจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศ ต้องบอกเลยครับว่าถ้าเราพูดถึงสิบกว่าปีที่แล้ว เครื่องมือที่จะใช้เข้าถึงการลงทุนในสินทรัพย์ทุกประเภททั่วโลกไม่ค่อยมีนักและมักมีค่าใช้จ่ายในการลงทุนที่สูงอย่างเช่นกองทุน Feeder Fund ที่มีขายกันในประเทศ

แต่ทุกวันนี้ ETF มีการซื้อขายกันทั่วโลกด้วยสภาพคล่องที่สูงมาก ทุกวันนี้มีกองทุน ETF เกื่อบห้าพันกองให้เลือกลงทุนซึ่งมีให้เลือกทุกสินทรัพย์ ทุกภูมิภาค ทุกกลุ่มอุตสาหกรรม และสไตล์การลงทุนเลยทีเดียว แต่แน่นอนครับว่ามีความยากในการลงทุนต่างประเทศโดยตรงด้วยตัวเองหลายประการ ต้องมีการบริหารการแลกเปลี่ยนเงินต่างประเทศ บริหารภาษีกำไรจากเงินลงทุนต่างประเทศ และอาจต้องมีขนาดพอร์ตลงทุนขั้นต่ำตามที่บริษัทหลักทรัพย์กำหนด

อีกแนวทางที่ง่ายกว่ามาก คือ การลงทุนในกองทุนประเภทที่ทำการจัดสรรสินทรัพย์ทั่วโลกให้เบ็ดเสร็จ ซึ่งแน่นอนว่าก็ต้องมีค่าธรรมเนียมการจัดการเพิ่มเติมในส่วนนี้ที่ผู้จัดการกองทุนทำหน้าที่ดูแลการลงทุนทั่วโลกแทนนักลงทุน ต้องบอกเลยครับว่าเริ่มมี บลจ.ต่างๆนำเสนอกองทุนประเทศนี้มากขึ้น

ทางบลจ.บีแคปก็ได้นำความเชี่ยวชาญการจัดสรรสินทรัพย์ทั่วโลกที่เราบริหารการลงทุนในต่างประเทศให้ลูกค้ากองทุนส่วนบุคคลมากว่าสิบปี มาออกกองทุนรวม BCAP Global Wealth ที่ทำการจัดสรรสินทรัพย์ทั่วโลกให้เบ็ดเสร็จตามแนวคิดที่เล่ามา ลองสอบถามผู้แนะนำการลงทุนที่คุณวางใจและศึกษาหากองประเภทนี้ลงทุนดูครับ