posttoday

เศรษฐีกับรากหญ้า… คนละชนชั้น? (1)

08 พฤศจิกายน 2560

โดย...กิติชัย เตชะงามเลิศ นักลงทุนหุ้นและอสังหาริมทรัพย์

โดย...กิติชัย เตชะงามเลิศ นักลงทุนหุ้นและอสังหาริมทรัพย์

ไม่ว่าจะเป็นประเทศไหนในโลกนี้ ประเทศที่พัฒนาแล้ว ประเทศที่กำลังพัฒนา หรือประเทศด้อยพัฒนา หรือแม้กระทั่งประเทศที่เป็นระบอบประชาธิปไตย หรือประเทศที่เป็นระบอบคอมมิวนิสต์ อย่างเช่น จีนหรือรัสเซีย ล้วนแล้วแต่มีปัญหาช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจน ซึ่งถ่างกว้างมากขึ้นไปเรื่อยๆ ผมเพิ่งกลับจากการไปเที่ยวประเทศอังกฤษเป็นเวลา 28 วัน ในช่วงระยะเวลานั้น

สิ่งที่ผมสังเกตเห็นอยู่เสมอก็คือกลุ่มคนที่เรียกว่าคนไร้บ้าน หรือพวกคนที่ไร้บ้าน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นคนสูงอายุ รวมทั้งคนวัยหนุ่มสาวอยู่บ้างพอสมควร โดยจะพบเห็นได้เกือบทุกเมืองที่ผมไปเที่ยว โดยเฉพาะบริเวณหน้าทางเข้าร้านซูเปอร์มาร์เก็ต ดูคนอังกฤษก็เอื้ออาทรกับคนกลุ่มนี้อยู่บ้างพอสมควร เห็นได้จากการที่เดินเข้าไปถามว่าอยากจะดื่มอะไร หรือรับประทานอะไรไหม และที่สะดุดตาอย่างยิ่งก็คือคนไร้บ้าน บางรายมีสุนัขข้างกาย พร้อมทั้งถุงใส่อาหารสุนัขขนาดใหญ่อยู่ข้างลำตัวด้วย เป็นสิ่งที่ยืนยันว่าคนอังกฤษนิยมเลี้ยงสุนัข เพราะเวลาไปเดินสวนสาธารณะจะพบเห็นผู้คนเดินจูงสุนัขอยู่มากมาย

มีอยู่สิ่งหนึ่งที่ผมชอบมาก คือ เขาจะติดป้ายบอกว่าให้สุนัขเดินนำหน้าคนจูง เพื่อที่จะให้คนจูงสามารถจะเห็นได้ว่าสุนัขของตนมีการแวะถ่ายอุจจาระหรือเปล่า เพื่อจะได้ทำความสะอาดทันที เพราะมิฉะนั้นถ้าถูกเจ้าหน้าที่พบเห็นและจับได้ ก็จะต้องเสียค่าปรับเป็นจำนวนเงินที่สูง จึงทำให้ถนนหนทางในเมืองต่างๆ ของอังกฤษไม่เห็นมีอุจจาระสุนัขเรี่ยราดอยู่ตามถนน หรือในสวนสาธารณะก็ตาม

กลับมาที่ประเทศไทย มีข่าวว่าทางสถาบันคุ้มครองเงินฝาก (สคฝ.) เตรียมที่จะขยับลดความคุ้มครองเงินฝาก ให้เหลือเพียง 10 ล้านบาท ในวันที่ 11 ส.ค. 2561 จากปัจจุบันที่คุ้มครองไม่เกิน 15 ล้านบาท และหลังจากวันที่ 11 ส.ค. 2563 เป็นต้นไป จะคุ้มครองเงินฝากเหลือเพียงบัญชีละ 1 ล้านบาทต่อสถาบันการเงิน ดูแล้วเหมือนกับว่าจะเป็นทุกข์ของเศรษฐี พอดีหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ได้ทำตารางแสดงปริมาณเงินฝาก แยกตามขนาด ณ เดือน ส.ค. 2560 ซึ่งแสดงให้เห็นตามภาพด้านบน

จากภาพจะเห็นได้ว่าในบัญชีที่มีเงินฝาก

1.ไม่เกิน 1 แสนบาท เมื่อคำนวณค่าเฉลี่ยจะพบว่าจะมีปริมาณเงินฝากเฉลี่ยเท่ากับ 7,691 บาท/บัญชี

2.เกิน 1 แสนบาท แต่ไม่เกิน 1 ล้านบาท เมื่อคำนวณค่าเฉลี่ยจะพบว่ามีปริมาณเงินฝากเฉลี่ยเท่ากับ 310,593 บาท/บัญชี

3.เกิน 1 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 25 ล้านบาท เมื่อคำนวณค่าเฉลี่ยจะพบว่ามีปริมาณเงินฝากเฉลี่ยเท่ากับ 3,212,448 บาท/บัญชี

4.เกิน 25 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 100 ล้านบาท เมื่อคำนวณค่าเฉลี่ยจะพบว่ามีปริมาณเงินฝากเฉลี่ยเท่ากับ 47,071,399 บาท/บัญชี

5.เกิน 100 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 500 ล้านบาท เมื่อคำนวณค่าเฉลี่ยจะพบว่ามีปริมาณเงินฝากเฉลี่ยเท่ากับ 199,088,264 บาท/บัญชี

6.เกิน 500 ล้านบาทขึ้นไป เมื่อคำนวณค่าเฉลี่ยจะพบว่ามีปริมาณเงินฝากเฉลี่ยเท่ากับ 1,531,263,299 บาท/บัญชี

ถ้าอนุมานว่าคนที่มีเงินฝากในบัญชีเกิน 25 ล้านบาทขึ้นไปเป็นเศรษฐี จะพบว่าในจำนวนเศรษฐี 43,463 คน หรือคิดเป็น 0.064%ของจำนวนประชากรไทยทั้งหมด มีจำนวนเงินฝากรวมกันแล้ว ทั้งหมด = 5,483,050 ล้านบาท หรือคิดเป็น 42.95% ของจำนวนเงินฝากทั้งหมด นี่ยังไม่นับว่าในจำนวนเศรษฐีดังกล่าว อาจจะฝากในนามสามีภรรยาและบุตรหลานของตระกูลเดียวกันรวมอยู่ในนั้นด้วย แต่ก็คงมีเศรษฐีบางกลุ่มที่มีทรัพย์สินเกิน 25 ล้านบาท อาจจะไม่ได้ฝากธนาคาร แต่อยู่ในสินทรัพย์ประเภทอื่นๆ เช่น หุ้น ที่ดิน ตราสารหนี้ เป็นต้น จึงนับว่าเป็นตัวเลขที่น่าตกใจอย่างมาก แสดงให้เห็นถึงช่องว่างที่ถ่างกว้างมาก ระหว่างคนรวยและคนจน

ถ้าอนุมานว่าคนที่มีบัญชีเงินฝากระหว่าง 1 ล้าน-25 ล้านบาท เป็นชนชั้นกลาง จะพบว่ามีจำนวน 1,389,250 คน หรือคิดเป็น 2.04% ของจำนวนประชากรไทยทั้งหมด ซึ่งนับว่ายังน้อยมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่น นี่ยังไม่นับรวมว่าบุคคลเดียวกัน แต่อาจจะมีบัญชีเงินฝากมากกว่า 1 บัญชีด้วยซ้ำ เมื่อรวมชนชั้นกลางกับกลุ่มที่เป็นเศรษฐี จะมีเพียง 2.104% ของจำนวนประชากรไทยทั้งหมดเท่านั้น

เมื่อเห็นตัวเลขเหล่านี้แล้ว ก็คงได้แต่ส่งความห่วงใยไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้โปรดลงมาดูแล แล้วช่วยลดช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจนให้ลดลงโดยไม่จำเป็นต้องทำให้คนรวยรวยน้อยลง เพราะไม่ใช่ความผิดที่เขารวย แต่ทำให้คนจนมีรายได้มากขึ้น ซึ่งจะเป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะช่วยลดความขัดแย้งภายในสังคม น่าจะเป็นสิ่งที่ทุกๆ ฝ่ายจะได้ประโยชน์ร่วมกัน