posttoday

ชงสกัดนายหน้าค่าเคลม

16 กุมภาพันธ์ 2559

คปภ.จับตาขบวนการรับจ้างเคลมประกัน ขอแบ่งค่านายหน้า หวั่นทำอุตสาหกรรมประกันภัยพัง

คปภ.จับตาขบวนการรับจ้างเคลมประกัน ขอแบ่งค่านายหน้า หวั่นทำอุตสาหกรรมประกันภัยพัง

นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้มีกลุ่มบุคคลรวมกลุ่มกันเป็นนายหน้ารับจ้างเคลมประกันให้กับลูกค้า ทั้งประกันชีวิตและประกันวินาศภัย โดยอาศัยช่องทางของกฎหมายและความยุ่งยากของการเคลมประกันภัยมาทำธุรกิจ คิดค่าคอมมิชชั่นจากความเดือดร้อนของชาวบ้านในการเคลมประกัน  และบ่อยครั้งเกินเลยจนอาจเข้าข่ายการแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ

"หากไม่มีการควบคุมขบวนการเหล่านี้ จะเป็นตัวกัดเซาะอุตสาหกรรมประกันภัยทั้งระบบให้ได้รับความเสียหายและที่สำคัญจะทำให้ประชาชนไม่เชื่อมั่นในระบบประกันภัย จึงจำเป็นที่ทุกภาคส่วนจะต้องร่วมมือกันเข้ามาดูแลในเรื่องนี้อย่างจริงจังในส่วนของ คปภ.กำลังจับตามองอย่างใกล้ชิด" นายสุทธิพล กล่าว

ทั้งนี้ เลขาธิการ คปภ.เรียกร้องขอความร่วมมือในการแก้ไขปัญหานี้ ในการบรรยายพิเศษในหัวข้อ "ทิศทางและนโยบายการส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจประกันชีวิตไทย ภายใต้บริบทการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคใหม่" ในงานสัมมนาผู้บริหารระดับสูง สำนักงาน คปภ. และบริษัทประกันชีวิตเมื่อวันที่ 15 ก.พ.นี้

แหล่งข่าวจาก คปภ. เปิดเผยว่า รูปแบบของขบวนการเรียกค่านายหน้า คือ เมื่อลูกค้าได้รับความเสียหายต้องการจะเคลมประกัน ก็จะอาสาเดินเรื่องขอสินไหมให้ โดยขอค่านายหน้า เช่น หากลูกค้าจะเคลมประกัน 1 แสนบาท จะขอค่านายหน้า 5-10% ของวงเงินเคลมประกันเป็นต้น ไม่ได้ทำผิดกฎหมาย แต่แสวงหาประโยชน์กับผู้เดือดร้อน ทำให้คนเบื่อการทำประกันที่ทำง่ายจ่ายยาก

"ประกันวินาศภัยที่มีการทำเยอะ คือ ประกันภัยรถยนต์ ส่วนประกันชีวิตที่มักจะมีนายหน้าวิ่งเต้น คือ ประกันสุขภาพ คนที่เข้าไปเรียกร้องตรงนี้มีทั้งคนในและคนนอก" แหล่งข่าวเปิดเผย

เลขาธิการ คปภ. กล่าวต่อไปว่า ประเด็นที่เป็นปัญหาใหญ่ของประกันภัยในประเทศไทย คือ ความเชื่อมั่นจากสาธารณชน ซึ่งอาจเป็นเพราะประชาชนมีประสบการณ์ที่ไม่ดีจากประกันภัยตั้งแต่อดีต ซึ่งประชาชนมีความรู้สึกว่า เวลาทำประกันภัยจะมีการชักจูงว่าดี ขั้นตอนการทำประกันสะดวกรวดเร็ว แต่เมื่อซื้อประกันไปแล้ว เมื่อมีเหตุต้องเคลมหรือขอค่าสินไหมทดแทนกลับทำได้ยาก

"การเคลมค่าสินไหมทดแทนยาก หรือมีการใช้ช่องทางจากความไม่รู้ของประชาชน เพื่อประวิงเวลาหรือจ่ายค่าสินไหมน้อยกว่าความเป็นจริง ฯลฯ มีการโต้แย้งเรื่องกฎหมายบ่อยและจบลงด้วยการฟ้องร้องเป็นคดีในชั้นศาล จึงจำเป็นต้องใช้มาตรการต่างๆ เหมือนยาขนานแรงเพื่อรักษาเยียวยา เพื่อเรียกความเชื่อมั่นจากประชาชนคืนมาก็ยิ่งทำให้ความมั่นใจของประชาชนต่อระบบประกันภัยของไทยลดลง" นายสุทธิพล กล่าว