posttoday

ประกันชีวิตคุ้มครองสินเชื่อเพื่อคนที่คุณรัก จากคนที่รักคุณ

05 มิถุนายน 2554

ประกันชีวิตคุ้มครองสินเชื่อ ไม่ใช่สัญญาที่ผูกติดกับบัญชีสินเชื่อ ทำให้เราสามารถแยกซื้อประกันจากสถาบันการเงินอื่นก็ได้ ถ้าประเมินแล้ว “คุ้มค่ากว่า”...

ประกันชีวิตคุ้มครองสินเชื่อ ไม่ใช่สัญญาที่ผูกติดกับบัญชีสินเชื่อ ทำให้เราสามารถแยกซื้อประกันจากสถาบันการเงินอื่นก็ได้ ถ้าประเมินแล้ว “คุ้มค่ากว่า”...

โดย...สวลี ตันกุลรัตน์

สมัยนี้ “เป็นหนี้...ง่ายนิดเดียว” (ถ้าเป็นคนที่ “เครดิตดี”) ใช้เอกสารเพียงไม่กี่อย่าง เซ็นชื่อไม่กี่ตัว ที่เหลือก็เพียงแค่รอเวลาให้สถาบันการเงินอนุมัติ ซึ่งโดยมากจะใช้เวลาไม่นาน

แต่ประเด็นปัญหาจนกระทั่งมีคนบ่นออกมาดังๆ ก็คือ สถาบันการเงินโยนความเสี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ออกมาให้ลูกหนี้เป็นคนรับผิดชอบ ด้วยการบังคับให้ทำ “ประกันชีวิตคุ้มครองสินเชื่อ”

ที่เป็นข่าว “ขึ้นหน้าหนึ่ง” เมื่อต้นสัปดาห์ ก็คือ ประกันชีวิตเพื่อคุ้มครองสินเชื่อที่อยู่อาศัย ที่กลายเป็นการ “เพิ่มภาระทางการเงิน” ให้กับคนอยากมีบ้านมากขึ้น เพราะไหนจะต้องขวัญผวากับดอกเบี้ยที่มีแต่จะปรับเพิ่มขึ้นแล้ว ยังมีค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับการซื้อและขอสินเชื่อที่อยู่อาศัยอีกหลายรายการ แถมยังต้องมาเจอสถานการณ์กดดันจากเจ้าหน้าที่ของสถาบันการเงินให้ใช้บริการ “ประกันชีวิต” เพิ่มเข้าไปอีก

ประกันชีวิตคุ้มครองสินเชื่อเพื่อคนที่คุณรัก จากคนที่รักคุณ

แต่เชื่อเถอะว่า สิ่งที่เจ้าหน้าที่สถาบันการเงินพยายามทำอยู่นั้น เป็นการทำเพื่อคนที่คุณรัก เพราะเขาเป็นคนที่รักคุณ (จริงๆ นะ)

คืออะไร

ดูเหมือนว่าประกันชีวิตประเภทนี้จะมีชื่อเรียกค่อนข้างหลากหลาย เช่น กรมธรรม์คุ้มครองสินเชื่อแบบทุนประกันลดลง (Mortgage Reducing Term Assurance : MRTA) ประกันภัยเพื่อ|ค้ำประกันเงินกู้จำนอง หรือประกันชีวิตเพื่อคุ้มครองสินเชื่อที่อยู่อาศัย ขณะที่สถาบันการเงินบางแห่งยังตั้งชื่อให้ประกันประเภทนี้ด้วยชื่อเฉพาะของตัวเองอีกด้วย

ไม่ว่าจะใช้ชื่อว่าอะไร แต่หลักการโดยทั่วไปแล้วไม่แตกต่างกัน คือ หากผู้ขอสินเชื่อที่ทำประกันชีวิตประเภทนี้เสียชีวิต หรือทุพพลภาพสิ้นเชิงถาวร ในระหว่างที่ยังผ่อนชำระสินเชื่อไม่ครบ บริษัทประกันจะชำระหนี้สินเชื่อที่อยู่อาศัยให้กับธนาคารแทนทายาทของผู้กู้ โดยที่ความคุ้มครองจะทยอยลดลงไปตามวงเงินกู้ที่ลดลง

เพราะฉะนั้น จึงไม่ทำให้ “ภาระหนี้” ตกทอดไปถึงทายาท และทำให้ทายาทได้รับกรรมสิทธิ์ในบ้านหลังนั้นทันที โดยไม่ต้องผ่อนชำระต่อ

และไม่ได้มีเฉพาะสินเชื่อที่อยู่อาศัยเท่านั้น ที่มี “ประกันชีวิตคุ้มครองสินเชื่อ” ไว้คอยบริการ เพราะสำหรับ “คนธรรมดา” ยังมีสินเชื่อบุคคลอีก 2 ประเภทที่มีประกันชีวิตคุ้มครองสินเชื่อให้ลูกหนี้เลือกซื้อ ได้แก่ ประกันชีวิตคุ้มครองสินเชื่อบัตรเครดิต และประกันชีวิตคุ้มครองสินเชื่อรถยนต์

สำหรับ ประกันชีวิตคุ้มครองสินเชื่อรถยนต์ หรือประกันสินเชื่อรถยนต์ หรือประกันสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ มีรูปแบบเดียวกันกับประกันชีวิตคุ้มครองสินเชื่อที่อยู่อาศัย คือ วงเงินความคุ้มครองจะลดลงไปตามยอดหนี้ที่ลดลง ตามระยะเวลาการผ่อนชำระ

ขณะที่ประกันชีวิตคุ้มครองสินเชื่อบัตรเครดิต หรือประกันสินเชื่อบัตรเครดิตจะต่างออกไปเล็กน้อย คือ เบี้ยประกันจะขึ้นอยู่กับ “ยอดหนี้ค้างชำระ” ในวันตัดยอดของบัตรเครดิต คูณด้วยอัตราเบี้ยประกัน และจะได้รับความคุ้มครองเท่ากับมูลหนี้คงค้าง ณ วันที่เสียชีวิตหรือวันที่เริ่มทุพพลภาพสิ้นเชิงถาวร

ทำเพื่อใคร

ชื่อเรื่องก็บอกชัดอยู่แล้ว การทำประกันชีวิตคุ้มครองสินเชื่อเป็นการทำเพื่อ “คนที่เรารัก” เพราะหลังจากที่เราเสียชีวิต หรือทุพพลภาพสิ้นเชิงถาวร ก็จะไม่ทำให้คนที่เรารักเดือดร้อน ไม่ต้องวิ่งวุ่นเพื่อหาทางชำระหนี้ที่ยังค้างอยู่ ไม่ทำให้ต้องวิ่งวุ่นเพื่อขายบ้านเพื่อลดภาระทางการเงิน ไม่ทำให้ต้องย้ายออกจากบ้านไป เพราะถูกยึดบ้าน

ในอีกมุมหนึ่ง คือ ทำเพื่อตัวเราเอง เพื่อความสบายใจของเราเองว่า จะไม่ทิ้งภาระหนี้เอาไว้ให้คนข้างหลังต้องเข้ามาแบกรับ หากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน

แต่หากมองออกมาในโลกธุรกิจ ต้องยอมรับกันตรงๆ ว่า สถาบันการเงินได้รับประโยชน์จากการทำประกันชีวิตคุ้มครองสินเชื่อไปแบบเต็มๆ เพราะมีแต่ได้กันได้

อย่างแรก คือ ความเสี่ยงในการทำธุรกิจลดลง เพราะวัตถุประสงค์ใหญ่ของสถาบันการเงินที่ให้กู้เงิน คือ รายได้จากดอกเบี้ย ไม่มีสถาบันการเงินที่ต้องการให้หนี้ที่ปล่อยไปกลายเป็นหนี้เสีย จนต้องไป “ยึดบ้าน-ยึดรถ” ที่เป็นหลักประกันมาขายทอดตลาด และที่แย่กว่า คือ หนี้บัตรเครดิต เพราะไม่มีหลักประกันให้ยึด

ดังนั้น หากโยนความเสี่ยงนี้ออกไปให้บริษัทประกันรับไป โดยมีลูกหนี้เป็นคนจ่ายค่าประกันความเสี่ยงอันนี้จึงเป็นเรื่องที่ดีที่สุด นั่นเพราะหากลูกหนี้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ (ตามเงื่อนไขของประกัน) ธนาคารจะได้เงินต้นที่ค้างชำระครบเต็มจำนวน และปิดบัญชีเงินกู้อันนั้นได้โดยไม่ต้องมานั่งกังวลว่า ทายาทของลูกหนี้จะหาเงินที่ไหนมาผ่อนต่อ

อย่างที่สอง คือ สถาบันการเงินจะได้ค่านายหน้าจากการขายประกัน เพราะประกันประเภทนี้เป็นประกันที่ขายผ่านธนาคาร หรือที่เรียกว่า แบงก์แอสชัวรันซ์ (Bancassurance) ซึ่ง “นายแบงก์” เองก็ออกมายอมรับว่า เพราะถ้าจะหวังพึ่งรายได้จากดอกเบี้ยอย่างเดียวคงไม่มากพอ โดยเฉพาะถ้าอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องตัดดอกเบี้ยแข่งกัน

อย่างที่สาม คือ รายได้ดอกเบี้ยอีกนิดหน่อยจากการให้ลูกหนี้ที่ไม่สามารถชำระเบี้ยประกันได้ในครั้งเดียวกู้เงินมาชำระเบี้ย และทยอยจ่ายคืนไปพร้อมๆ กับค่างวดในการผ่อนบ้าน หรือรถยนต์

อย่างไรก็ตาม สถาบันการเงินธนาคารทำเพื่อเราบ้าง โดยการลดดอกเบี้ยให้เป็นกรณีพิเศษสำหรับลูกหนี้ที่ตัดสินใจทำประกันชีวิตคุ้มครองสินเชื่อ

ใครควรทำ

แม้ว่าจะได้ชื่อว่า ประกันชีวิตคุ้มครองสินเชื่อ แต่ ทัศพงศ์ บุศยพลากร ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารธุรกิจประกันลูกค้าบุคคล ธนาคารกสิกรไทย บอกว่า ประกันประเภทนี้ไม่ได้ผูกติดหรือพ่วงกับการให้สินเชื่อ “ผู้กู้” จึงไม่จำเป็นต้องเป็นคนทำประกันเสมอไป แต่คนที่ควรทำประกันชีวิตคุ้มครองสินเชื่อ คือ คนที่เป็นคนชำระค่างวดจริงๆ หรือคนที่หารายได้หลักของบ้าน

“เราแนะนำให้ผู้ที่หารายได้หลักของบ้านเป็นคนทำประกัน ซึ่งในบางกรณีอาจจะไม่ใช่ผู้กู้ก็ได้” ทัศพงศ์ กล่าว

นอกจากนี้ ในกรณีที่เป็นผู้กู้ร่วมกัน 2 คน จะทำประกันคนเดียว หรือ 2 คนก็ได้ แต่เดิมธนาคารกำหนดให้ทำประกันที่มีความคุ้มครองไม่เกินวงเงินกู้ แต่ในปัจจุบันเปิดโอกาสให้ผู้กู้ร่วมแต่ละคนทำประกันที่คุ้มครองเต็มวงเงินกู้ได้ เพราะฉะนั้นเมื่อเกิดอะไรขึ้นกับอีกคนหนึ่ง ผู้กู้ร่วมก็หมดภาระการผ่อนเช่นเดียวกัน

นอกจากนี้ ยังไม่จำเป็นต้องทำทุนประกันให้เท่ากับวงเงินสินเชื่อ หรือตามระยะเวลาที่กู้ก็ได้

แต่หากเป็น “คนโสด” ไม่มีคนในอุปการะที่ไม่สามารถรับภาระหนี้ต่อไปได้ หรือไม่เดือดร้อนกับบ้าน หรือรถที่จะต้องถูกยึดไป หรือหากสามารถขายบ้านเพื่อนำมาชำระหนี้ (โดยมากมูลค่าบ้านและที่ดินที่ขายได้มักจะสูงกว่าภาระหนี้ที่เหลืออยู่) ก็อาจจะไม่จำเป็นต้องทำประกันคุ้มครองสินเชื่อ เพื่อเพิ่มภาระการเงินให้กับตัวเอง

เพราะประกันชีวิตคุ้มครองสินเชื่อ ไม่ใช่สัญญาที่ผูกติดกับบัญชีสินเชื่อ ทำให้เราสามารถแยกซื้อประกันจากสถาบันการเงินอื่นก็ได้ ถ้าประเมินแล้ว “คุ้มค่ากว่า” เพราะเชื่อว่าสถาบันการเงินที่ปล่อยกู้คงจะไม่ขัดข้อง เพราะในที่สุดสถาบันการเงินจะได้รับประโยชน์จากการทำประกันของเราอยู่ดี

ทำแล้วได้อะไร

สิ่งที่จะได้รับจากการทำประกันแน่ๆ คือ “ความคุ้มครอง” เพียงแต่ประกันชีวิตคุ้มครองสินเชื่อจะให้คุ้มครองเฉพาะ 2 กรณีเท่านั้น คือ การเสียชีวิต และทุพพลภาพสิ้นเชิงถาวร

ในกรณีเสียชีวิตจะได้รับความคุ้มครองทุกกรณี (ที่ไม่อยู่ในเงื่อนไขยกเว้นการจ่ายผลประโยชน์) คือ ไม่ว่าจะเสียชีวิตจากสาเหตุอะไรก็จะได้รับความคุ้มครองตามทุนประกันที่ลดลงในแต่ละเดือนตามตารางจำนวนเงินที่กำหนดไว้ โดยบริษัทประกันจะจ่ายผลประโยชน์ให้กับสถาบันการเงินที่เป็นผู้รับผลประโยชน์

หากมูลหนี้ต่ำกว่าความคุ้มครอง เช่น ที่ผ่านมามีการผ่อนชำระมากกว่ากว่าค่างวดที่สถาบันการเงินกำหนด (กรณีสินเชื่อที่อยู่อาศัย) เงินส่วนที่เกินนั้นจะถูกนำไปชำระเงินต้น ทำให้เงินต้นคงเหลือต่ำกว่าทุนประกันที่กำหนดไว้ ทายาทจะได้รับเงินส่วนต่างนั้นด้วย

ทัศพงศ์ กล่าวว่า โดยปกติแล้วบริษัทประกันจะกำหนดทุนประกันในอัตราที่ใกล้เคียงกับวงเงินสินเชื่อที่ลดลงตามระยะเวลาหลังจากผ่อนชำระในแต่ละงวด แต่หากผู้กู้สามารถชำระหนี้หมดก่อนกำหนด เช่น กำหนดระยะเวลากู้ 10 ปี แต่ผ่อนหมดภายในเวลา 5 ปี เราสามารถเลือกที่จะคงความคุ้มครองตามกรมธรรม์ หรือเลือกรับเงินสดตามมูลค่าเวนคืนเงินสดก็ได้

“แต่เราจะแนะนำให้คงความคุ้มครองเอาไว้ เพราะลูกค้าจะได้รับความคุ้มครองชีวิตตามเงื่อนไขเดิม ซึ่งหากจะเวนคืนเงินสดก็ได้ แต่จำนวนเงินจะไม่มากนัก” ทัศพงศ์ กล่าว

นอกจากนี้ สถาบันการเงินบางแห่งยังออกแบบประกันชีวิตคุ้มครองสินเชื่อแบบพิเศษที่จะให้ความคุ้มครอง 100% ของทุนประกัน (หรือวงเงินสินเชื่อเริ่มต้น) หากเป็นการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ จากปกติที่ความคุ้มครองจะลดลงตามวงเงินสินเชื่อที่ลดลง

ในกรณีที่กรณีทุพพลภาพสิ้นเชิงถาวร (เช่น ตาบอดสองข้าง หรือ มือขาดสองข้าง) บริษัทประกันจะแบ่งจ่ายเป็น 2 งวด งวดละ 50% ของทุนประกันที่ลดลง

งวดแรก จะจ่ายหลังจากทุพพลภาพ 6 เดือน และหลังจากจ่ายงวดแรกไปแล้วความทุพพลภาพสิ้นเชิงถาวรยังมีต่อไปอีกไม่น้อยกว่า 360 วัน จึงจะจ่ายอีก 50% ของทุนประกันที่ลดลงที่เหลือจากจ่ายงวดแรกแล้ว 6 เดือน

แต่สำหรับการประกันสินเชื่อบัตรเครดิตจะแตกต่างออกไป เพราะจะให้ความคุ้มครองตามยอดหนี้คงค้าง ณ วันที่เสียชีวิต หรือทุพพลภาพสิ้นเชิงถาวรทันที นอกจากนี้ในกรณีที่ทุพพลภาพสิ้นเชิงชั่วคราว จะชดเชยให้เดือนละ 10% ของยอดค้างชำระ ณ วันที่ทุพพลภาพสิ้นเชิงชั่วคราว (ยอดหนี้หลังจากนี้ไม่คุ้มครอง) และจะจ่ายให้สูงสุดไม่เกิน 10 เดือน

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันประกันชีวิตคุ้มครองสินเชื่อยังไม่ให้ความคุ้มครองกรณี “เจ็บป่วยเรื้อรังจนไม่สามารถทำงานได้” ซึ่งส่งผลต่อการผ่อนชำระเงินกู้เช่นเดียวกัน แต่ก็แว่วๆ มาว่า ในไม่ช้านี้ สถาบันการเงินบางแห่งจะขยายความคุ้มครองออกไป ให้ครอบคลุมในกรณีดังกล่าวด้วย

นอกจากความคุ้มครองที่จะได้รับแล้ว สถาบันการเงินหลายแห่งยังจูงใจลูกค้าด้วยการ “ลดดอกเบี้ย” เป็นกรณีพิเศษให้กับลูกค้าที่ทำประกันชีวิตคุ้มครองสินเชื่ออีกด้วย โดยมากกว่าจะลดดอกเบี้ยให้ 0.2-0.5% ต่อปี ในปีใดปีหนึ่ง

จ่ายเท่าไร

ทัศพงศ์ กล่าวว่า สำหรับอัตราเบี้ยประกันชีวิตคุ้มครองสินเชื่อที่อยู่อาศัย โดยทั่วไปจะอยู่ระหว่าง 4-6% ของทุนประกัน ซึ่งจะขึ้นอยู่กับเพศ อายุ ระยะเวลาการกู้ โดยยิ่งถ้ามีระยะเวลากู้ยาวจะยิ่งเสียเบี้ยในอัตราที่สูงขึ้นด้วย

ขณะที่อัตราเบี้ยประกันสินเชื่อบัตรเครดิต เท่าที่สำรวจพบจะอยู่ระหว่าง 0.35-0.53% ของยอดหนี้คงค้างในแต่ละงวด

อย่างไรก็ตาม หลังจากวันที่ 1 ส.ค. 2554 ที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) จะนำอัตรามรณะไทยปี 2551 ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ใช้กำหนดเบี้ยประกัน มาใช้แทนอัตรามรณะไทย ปี 2540 ซึ่งในแวดวงประกันว่ากันว่า จะทำให้เบี้ยประกันชีวิตคุ้มครองสินเชื่อลดลงไปหลายเปอร์เซ็นต์ เพราะโดยเฉลี่ยแล้วอัตรามรณะไทยปี 2551 ต่ำกว่าอัตรามรณะไทย ปี 2540 ประมาณ 26-27%

แม้ว่าหลายคนจะมองประกันเป็น “ค่าใช้จ่าย” แต่ค่าใช้จ่ายส่วนนี้น่าจะเป็นประโยชน์มากกว่าค่าใช้จ่ายบางรายการที่เป็นค่าใช้จ่ายสูญเปล่า เพราะฉะนั้นอย่ามองข้ามการทำประกันประเภทนี้

เพียงแต่จำให้ขึ้นใจว่า ไม่มีธนาคารไหนบังคับให้เราทำประกันชีวิตได้ ไม่มีผลต่อการอนุมัติสินเชื่อ และหากจะตัดสินใจทำประกันก็ขอให้ทำไป เพราะเห็นความสำคัญมากกว่าทำเพราะ “จำใจ”