posttoday

‘ฟรอนเทียร์ มาร์เก็ต’ เพชรในตมของคนกล้า (ลงทุน)

01 กุมภาพันธ์ 2553

คิดใหม่กับการลงทุนใน "ฟรอนเทียร์ มาร์เก็ต" หรือตลาดหุ้นชั้น 3 ที่หลายคนมองข้าม แต่ปรมาจารย์แห่งการลงทุนแนะนำ  

คิดใหม่กับการลงทุนใน "ฟรอนเทียร์ มาร์เก็ต" หรือตลาดหุ้นชั้น 3 ที่หลายคนมองข้าม แต่ปรมาจารย์แห่งการลงทุนแนะนำ  

โดย...สวลี ตันกุลรัตน์ [email protected]

คุณรู้จัก “มาร์ค โมเบียส” ไหม เขาเป็นฝรั่งตัวเล็ก สูงวัย ใส่สูทสีขาว ที่ใช้เวลาปีละ 250 วันท่องเที่ยวไปในประเทศกำลังพัฒนา ไม่รู้จักไม่เป็นไร แต่ถ้าเป็นนักลงทุนที่ติดตามความคิดความเห็นของนักลงทุนระดับโลก อย่างน้อยๆ ก็น่าจะเคยได้ยินชื่อเขามาบ้าง เพราะ โมเบียส เป็นหนึ่งในผู้เชี่ยวชาญการลงทุนในตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market) จนได้รับยกย่องว่าเป็น “ปรมาจารย์แห่งตลาดเกิดใหม่”

มาร์ค โมเบียส ประธานกรรมการ Templeton Asset Management ผู้เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์การลงทุนในตลาดเกิดใหม่มานานกว่า 30 ปี โดยเมื่อปี 2549 นิตยสารเอเชีย มันนี่ ยกย่องให้เขาเป็นหนึ่งในนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในรอบ 20 ปี

และเขาเพิ่งจะมาบรรยายสรรพคุณการลงทุนในละตินอเมริกาให้กับนักลงทุนไทยไปเมื่อไม่กี่วันนี้เอง แต่ก่อนที่จะโดดลงจากเวที มีคำถามว่า นอกจากละตินอเมริกาที่เขาเพิ่งจะยกแม่น้ำร้อยสายมาชักจูงแล้ว มีตลาดเกิดใหม่ไหนอีกบ้างที่เขาคิดว่า “น่าลงทุน” และคำตอบของ โมเบียส ทำให้ต้องตาโต เพราะนอกจากเขาตอบแบบไม่ต้องให้คนฟังรอนานแล้ว คำตอบของเขายังทำให้คนฟังอย่างเรามึนงง เพราะเป็นครั้งแรกที่ได้ยินคำว่า “ฟรอนเทียร์ มาร์เก็ต” !!!

ตลาดประเทศชายขอบ

บอกแล้วว่า นี่เป็นครั้งแรกที่ได้ยินคำว่า “ฟรอนเทียร์ มาร์เก็ต” ที่ไม่รู้ด้วยซ้ำว่า มันคืออะไร อยู่ตรงไหนของโลก และที่แย่ไปกว่านั้น คือ มันมีตลาดนี้อยู่ในพจนานุกรมของนักลงทุนด้วยหรือเนี่ย แต่รู้เพียงอย่างเดียวว่า ถ้าคำนี้ออกจากปาก “ปรมาจารย์” อย่าง โมเบียส รับรองได้เลยว่า มันต้องไม่ธรรมดา เพราะฉะนั้นต้องไปหาคำตอบมาบอกต่อให้รู้ทั่วกัน

ฟรอนเทียร์ มาร์เก็ต (Frontier Market) เป็นคำที่บัญญัติขึ้นมาตั้งแต่ปี 2535 โดยนักวิเคราะห์ของ International Finance Corporation (IFC) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ที่ชื่อ ฟาริดา คัมบาตา

ฟรอนเทียร์ มาร์เก็ต ในความหมายของเธอ คือ ตลาดหุ้น ของประเทศที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ดี มีกฎเกณฑ์กำกับดูแลเหมือนตลาดทั่วๆ ไป เพียงแต่เป็นตลาดหุ้นที่มีมูลค่าตามราคาตลาดรวมและสภาพคล่องต่ำ ซึ่งเธอใช้คำนี้อธิบายถึง “ตลาดหุ้นชั้นสอง” ในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ หรือ เป็นตลาดที่ยังมีการพัฒนาต่ำกว่าตลาดเกิดใหม่ด้วยกัน

จนกระทั่งในปี 2550 บริษัท Standard and Poors (S&P) ออกดัชนี Select Frontier Index ซึ่งประกอบด้วยบริษัท 30 แห่ง จาก 11 ประเทศ ใน ฟรอนเทียร์ มาร์เก็ต หลังจากนั้นเพิ่มดัชนี Extended Frontier 150 ที่ประกอบด้วยบริษัท 150 แห่ง จาก 27 ประเทศ และในปีเดียวกันนั้นเอง MSCI Barra ก็จัดทำดัชนี Frontier Market Index ขึ้นมาเช่นกัน

และในปี 2551 ดอยช์ แบงก์ สร้าง Exchange Traded Fund (ETF) ขึ้นมาเป็นครั้งแรก และทำให้คำว่า ฟรอนเทียร์ มาร์เก็ต ได้รับความสนใจจากนักลงทุนนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ถ้าแบ่งตลาดหุ้นทั่วโลกออกเป็น 4 กลุ่ม คือ ตลาดที่พัฒนาแล้ว (Developed Market) ตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market) ตลาดชายขอบ (Frontier Market) และตลาดอื่นๆ ที่เหลือ ตามการแบ่งของ MSCI (ดูรายละเอียดภาพประกอบ) จะนึกภาพการแบ่งกลุ่มทั้ง 4 ตลาดได้ง่ายขึ้น

ทั้งนี้ จะเห็นว่า ในทวีปเอเชีย จะมีตลาดทั้ง 4 กลุ่ม โดย ญี่ปุ่น ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มตลาดที่พัฒนาแล้ว ขณะที่ จีน อินเดีย สิงคโปร์ และฮ่องกง รวมทั้งไทย อยู่ในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ และถ้าเป็น เวียดนาม ปากีสถาน จะอยู่ในกลุ่มฟรอนเทียร์ มาร์เก็ต (ที่ โมเบียส ให้ความสนใจ) แต่ถ้าเป็น พม่า ลาว เนปาล จะไม่อยู่ใน 3 กลุ่มแรก

เพราะฉะนั้นถ้าจะบอกว่า ฟรอนเทียร์ มาร์เก็ต คือ ตลาดหุ้นชั้นสาม ก็คงไม่ผิด

‘ฟรอนเทียร์ มาร์เก็ต’ เพชรในตมของคนกล้า (ลงทุน) ตลาดหุ้นเวียดนาม เป็นอีกหนึ่งประเทศที่โมเบียสถือว่าเป็น "ฟรอนเทียร์ มาร์เก็ต"

ทำไมต้อง ฟรอนเทียร์ มาร์เก็ต

แล้วทำไม “ตลาดหุ้นชั้นสาม” ในประเทศเราแทบจะไม่เคยคิดว่าจะถูกมองว่า “น่าลงทุน” ไม่ว่าจะเป็น เคนยา คาซัคสถาน จอร์แดน ไซปรัส คูเวต ปานามา เซอร์เบีย ทรีนิแดด&โทบาโก แม้กระทั่งตูนีเซีย เพราะหลายประเทศเคยได้ยินชื่อจากการประกวดนางงามระดับโลกเท่านั้นเอง จะให้ชี้ว่าอยู่ตรงส่วนไหนของโลกยังทำไม่ได้เลย

ในวันนั้น โมเบียส บอกว่า ฟรอนเทียร์ มาร์เก็ต ที่อยู่ในความสนใจของเขา คือ เวียดนาม คาซัคสถาน ยูเครน ลิเบีย อัลจีเรีย เพราะเป็นประเทศที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ และไม่ใช่ว่าเขาเพิ่งจะมาเผยไต๋ เปิดใจในประเทศไทยเป็นครั้งแรก เพราะเขาให้สัมภาษณ์เรื่องโอกาสการลงทุนในฟรอนเทียร์ มาร์เก็ต มาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว

นอกจากนี้ ยังไม่ใช่แค่ โมเบียส เท่านั้นที่มองเห็นโอกาสในตลาดหุ้นชั้นสาม เพราะผู้บริหารกองทุนในต่างประเทศ ที่เน้นลงทุนในตลาดเกิดใหม่ รวมทั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ต่างเริ่มหันมามองตลาดกลุ่มนี้มากขึ้น โดยเฉพาะในปีนี้

ลองมาดูกันชัดๆ อีกสักหน่อยว่า อะไรที่ทำให้ฟรอนเทียร์ มาร์เก็ต โดดเด่นขึ้นมาเตะตานักลงทุนชั้นเซียน ที่ได้ชื่อว่า เป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกการลงทุนในตลาดเกิดใหม่

ก่อนอื่นคงต้องขอให้ลบความทรงจำที่ถูกฝังหัวกันมาว่า ประเทศจีนเป็นประเทศที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงที่สุดในโลก เพราะจากประมาณการอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจทั่วโลกของ IMF เมื่อเดือน ก.ค. 2552 (รวบรวมโดย EconomyWatch.com) ชี้ให้เห็นว่า จีนไม่ใช่ประเทศที่จะเติบโตได้มากที่สุดในปี 2553 แต่เป็นประเทศกาตาร์ ที่คาดว่าจะมีอัตราการเติบโตมากถึง 16.4%

ขณะที่ประเทศจีนมีอัตราการเติบโต 7.51% อยู่ในอันดับ 8 ของโลก และหากมองไปที่ประเทศที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจมากที่สุด 12 ประเทศแรกของโลก จะมีเพียงประเทศจีนเท่านั้นอยู่ในตลาดเกิดใหม่ นอกจากนั้นเป็นประเทศที่ถูกเรียกว่า ฟรอนเทียร์ มาร์เก็ต ทั้งสิ้น

เพราะนอกจากจะเป็นประเทศที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นพลังงาน อาหาร ไปจนถึงโลหะที่จำเป็นของโลกแล้ว ประชากรในประเทศเหล่านี้ยังมีอัตราการเติบโตมากที่สุดในโลก ซึ่งเป็นสิ่งที่ช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจเติบโต

นอกจากเรื่องดีๆ ที่จะทำให้เศรษฐกิจของประเทศชายขอบเหล่านี้ขยายตัวแซงหน้าประเทศยักษใหญ่อย่างจีนแล้ว หากมามองที่ราคาหุ้นของประเทศกลุ่มนี้จะยิ่งเห็นโอกาสที่ชัดเจนยิ่งขึ้น เพราะเมื่อเปรียบเทียบผลตอบแทนย้อนหลังของดัชนี MSCI ทั้ง 3 กลุ่ม ได้แก่ MSCI Emerging Markets Index , MSCI World Index , MSCI Frontier Markets Index

จะเห็นว่า ในช่วงปลายปี 2550 จนถึงต้นปี 2551 ดัชนี MSCI Frontier Markets อยู่เหนือ MSCI Emerging Markets และ MSCI World Index แต่ร่วงลงรุนแรงกว่าและมากกว่าเมื่อเกิดวิกฤตการเงินโลก

จนกระทั่งทั้ง MSCI Emerging Markets และ MSCI World Index ขยับขึ้นในปี 2552 แต่ MSCI Frontier Markets Index ยังตามขึ้นมาไม่ทัน ซึ่งนักวิเคราะห์ระบุว่า นี่เป็นโอกาสดี เพราะทั้งสองตลาดปรับขึ้นมามากแล้ว และในบางประเทศเข้าขั้น “แพงเกินไป” แล้ว ขณะที่ฟรอนเทียร์ มาร์เก็ต ยังถือว่าราคาถูกอยู่มาก

สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ไม่ต่างจากสิ่งที่เคยเกิดขึ้นกับตลาดเกิดใหม่เมื่อ 10 ปี เพราะถ้าตลาดเกิดใหม่กำลังจะพัฒนาตัวเองขึ้นไปเป็นตลาดที่พัฒนาแล้ว ตลาดชายขอบกลุ่มนี้ก็กำลังจะพัฒนาขึ้นไปเป็นตลาดเกิดใหม่ (คนใหม่)

โอกาสมาก เสี่ยงมาก เป็นธรรมดา

ลองคิดดูว่า ตลาดหุ้นไทยที่แสนจะใหญ่โตในสายตาของนักลงทุนตัวเล็กๆ อย่างเรา แต่ในดัชนี MSCI Asia ex Japan ตลาดหุ้นไทยมีน้ำหนักแค่ 2% เท่านั้น แล้วตลาดหุ้นอย่างเวียดนาม จะมีมูลค่าตลาดจิ๋วหลิวแค่ไหนในมุมมองของนักลงทุนต่างชาติ

และไม่ใช่แค่จิ๋วหลิวในมุมมองนักลงทุนต่างชาติเท่านั้น เพราะหนึ่งในความเสี่ยงที่สำคัญของ ฟรอนเทียร์ มาร์เก็ต คือ สภาพคล่อง เพราะตลาดชายขอบบางประเทศยังมีมูลค่าตลาดรวมทั้งตลาดน้อยกว่าบริษัทเดียวในตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกา เพราะฉะนั้นการคิดจะซื้อง่ายขายคล่องเหมือนตลาดที่พัฒนาแล้วนั้นคงเป็นไปได้ยาก

ขณะเดียวกัน ประเทศเล็กๆ เหล่านี้ยังมีความเสี่ยงภายในประเทศที่แตกต่างกัน และด้วยความที่เป็นตลาดหุ้นชายขอบ ทำให้การติดตามข้อมูลข่าวสารที่จำเป็นกับนักลงทุนจึงไม่ได้หลั่งไหลเข้ามาท่วมท้นเหมือนตลาดพัฒนาแล้ว หรือ แม้กระทั่งตลาดเกิดใหม่

เพราะฉะนั้น ถ้าถามผู้จัดการกองทุนไทย ถึงโอกาสการลงทุนในฟรอนเทียร์ มาร์เก็ต หลายคนถึงกับส่ายหน้าแล้วบอกว่า “เสี่ยงเกินไปสำหรับนักลงทุนทั่วๆ ไป” เพราะแม้แต่กองทุนที่ลงทุนในตลาดเกิดใหม่ประเทศอื่นๆ เช่น จีน บราซิล และอินเดีย ยังมีนักลงทุนจำนวนเพียงเล็กน้อยเท่านั้นที่เข้าใจและพร้อมที่จะลงทุน

“แม้กระทั่งการลงทุนในเวียดนามยังถือว่าไกลเกินไปสำหรับนักลงทุนไทย เพราะแม้จะอยู่ใกล้กัน แต่มีค่อยมีข้อมูลด้านการลงทุนออกมามากนัก” มนรัฐ ผดุงสิทธิ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) วรรณ กล่าว

เช่นเดียวกับ วรวรรณ ธาราภูมิ กรรมการผู้จัดการ บลจ.บัวหลวง บอกว่า ไม่เหมาะกับลูกค้าของ บลจ.บัวหลวง

แต่เชื่อได้เลยว่า คงไม่นานเกินรอ นักลงทุนไทยน่าจะมีโอกาสได้สัมผัสกับกองทุนที่ลงทุนในฟรอนเทียร์ มาร์เก็ต ถ้านักลงทุนใจกล้าพอที่จะไปบุกเบิกดินแดนที่ยังไม่มีใครเคยไป แผ่นดินที่ยังไม่มีใครจับจอง ไปขุดทองเหมือนที่ชาวยุโรปรุ่นแรกที่ไปบุกเบิกอเมริกา ที่ไม่มีใครรู้ว่า เขาจะโชคดีไหม จะป่วยตายเพราะพิษไข้ที่ไม่เจอมาก่อนหรือไม่ แต่ทุกคนหวังว่า จะกลายเป็นเศรษฐีบนดินแดนใหม่