posttoday

ธ.ทิสโก้ห่วงราคาสินค้าพุ่งสูงรอบ 13 ปี ทำ ‘เกษียณเงินไม่พอใช้’

12 เมษายน 2565

ธ.ทิสโก้ห่วงราคาสินค้าพุ่งสูงรอบ 13 ปี ซ้ำเติมปัญหา ‘เกษียณเงินไม่พอใช้’ แนะเอาชนะด้วย Megatrends Retirement Planning

นายณัฐกฤติ เหล่าทวีทรัพย์ ผู้อำนวยการอาวุโสที่ปรึกษาการลงทุนทิสโก้เวลธ์ ธนาคารทิสโก้ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า เทรนด์สังคมผู้สูงอายุ หรือ Aging Society เป็นเทรนด์ที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย โดยจากตัวเลขของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พบว่าประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมสูงวัยระดับสมบูรณ์ในปี 2566 โดยจะมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่า 20% ของประชากรทั้งประเทศ และก้าวสู่สังคมสูงวัยระดับสุดยอดในปี 2576 โดยมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป มากกว่า 28% ของประชากรทั้งประเทศ

อย่างไรก็ตาม ปัญหาสำคัญที่พบในประเทศไทย คือ ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ไม่ได้เตรียมพร้อมด้านการเงินสำหรับไว้ใช้จ่ายในช่วงชีวิตหลังเกษียณ ทำให้มีปัญหาด้านการเงิน สภาพความเป็นอยู่ อีกทั้งสุขภาพที่เสื่อมถอยลง มีโรคประจำตัว บุตรหลานไม่มีเวลาเพียงพอที่จะมาดูแลได้ และถึงแม้จะมีสวัสดิการจากภาครัฐฯ แต่ก็อาจจะไม่เพียงพอที่จะช่วยให้ผู้สูงอายุใช้ชีวิตได้อย่างสุขสบาย

นอกจากนี้ สิ่งที่ธนาคารทิสโก้เป็นห่วงมากที่สุดคือ “อัตราเงินเฟ้อ” ที่หนุนให้ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยล่าสุดอัตราเงินเฟ้อของไทยเดือนมีนาคม 2565 ได้พุ่งสูงถึง 5.73% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า (YoY) ถือเป็นอัตราสูงสุดในรอบ 13 ปี ซึ่งผลของราคาสินค้าที่ปรับเพิ่มขึ้นกลายเป็นภาระของผู้บริโภคทุกคนรวมถึงผู้สูงอายุที่ต้องนำเงินออมออกมาใช้เพิ่มขึ้นเพื่อคงคุณภาพการดำรงชีวิตประจำวัน ปัญหาดังกล่าวยังไม่นับรวมกับค่ารักษาพยาบาลซึ่งเป็นหนึ่งในค่าใช้จ่ายหลักหลังเกษียณมีแนวโน้มปรับขึ้นเฉลี่ยปีละ 8% อีกด้วย และถ้ามองเรื่องของการลงทุนในวัยที่รับความเสี่ยงได้ไม่มาก การพึ่งพารายได้จากดอกเบี้ยที่อยู่ระดับต่ำก็อาจไม่เพียงพอกับเงินเฟ้อ นี่จึงเป็นข้อกังวลของธนาคารทิสโก้ในฐานะที่ปรึกษาการเงิน ที่เกรงว่าเงินก้อนก่อนเกษียณของผู้สูงอายุที่เคยเตรียมมาก่อนหน้านี้อาจไม่เพียงพอต่อการใช้จ่ายไปจนถึงบั้นปลายชีวิต

“ปัญหาเงินออมไม่พอกับรายจ่ายของผู้สูงอายุเป็นปัญหาที่ธนาคารทิสโก้พยายามสื่อสารมาโดยตลอด ปัจจัยเสี่ยงมาจากแนวโน้มของประชากรไทยที่มีอายุยืนยาวขึ้นตามนวัตกรรมการแพทย์ที่พัฒนาอย่างก้าวกระโดด ซึ่งล่าสุดจากปัญหาเรื่องเงินเฟ้อที่พุ่งสูงก็เป็นอีกหนึ่งความเสี่ยงที่ทำให้เงินออมหมดเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ ตัวอย่างเช่น จากเดิมที่คาดว่า ณ อายุ 60 มีเงินเก็บ 3.6 ล้านบาทนำไปลงทุนหลังเกษียณเพื่อสร้างผลตอบแทนอีก 3% ต่อปี จะทำให้มีเงินใช้เดือนละ 20,000 บาทไปจนถึงอายุ 80 ปี แต่เมื่อราคาสินค้าปรับตัวสูงขึ้น 5% จากปัญหาเงินเฟ้อ ผู้สูงอายุจึงจำเป็นต้องนำเงินก้อนออกมาใช้เพิ่มขึ้นอีกเดือนละ 5% หรือมีการใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเป็นเดือนละ 21,000 บาท กลายเป็นว่าเงินที่เตรียมไว้จะหมดเร็วกว่าที่คาดการณ์ประมาณ 15 เดือนหรือเงินหมดเมื่อายุประมาณอายุ 78 ปี ยิ่งถ้ามีชีวิตที่ยืนยาวกว่า 80 ปีแล้ว ก็จะยิ่งกลายเป็นปัญหาที่รุนแรงมาก” นายณัฐกฤติ กล่าว

สำหรับวิธีรับมือกับปัญหาเงินไม่เพียงพอต่อการใช้ชีวิตหลังเกษียณ ธนาคารทิสโก้แนะนำให้ลูกค้า และผู้ที่กำลังวางแผนการเงินเพื่อการเกษียณอายุ ปรับเปลี่ยนจากการวางแผนเกษียณแบบเดิม เช่น ลงทุนในธุรกิจดั้งเดิมที่แนวโน้มการเติบโตสูงไม่เพียงพอต่อการสร้างเงินก้อนสำหรับเกษียณ การซื้อประกันบำนาญที่่เน้นการให้ผลประโยชน์หลังเสียชีวิต โดยเปลี่ยนมาเป็นการวางแผนเกษียณแบบ ‘Megatrends Retirement Planning’ คือ 1. สร้างผลตอบแทนให้เงินก้อนก่อนเกษียณรูปแบบใหม่ ผ่านการลงทุนในธุรกิจที่เป็นเมกะเทรนด์ของโลก (Megatrend Investment) เพื่อเพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทนที่มากกว่าลงทุนในธุรกิจแบบดั้งเดิม อย่างเช่นในช่วงที่ผ่านมาธุรกิจ e-Commerce เข้ามาพลิกโฉมการซื้อขายสินค้าแบบดั้งเดิม ทำให้หุ้นเจ้าของแพลตฟอร์มขายสินค้าออนไลน์อย่าง Amazon สามารถสร้างผลตอบแทนเฉลี่ยปีละประมาณ 36% ในตลอด 25 ปีนับจากราคา IPO เอาชนะผลตอบแทนดัชนี S&P 500 ซึ่งมีธุรกิจดั้งเดิมอยู่จำนวนมากในช่วง 25 ปีที่ผ่านมาสร้างผลตอบแทนเฉลี่ยปีละ 9%

สำหรับธุรกิจเมกะเทรนด์ของโลกที่น่าสนใจในช่วงนี้ ธนาคารทิสโก้แนะนำการลงทุนในธีม Future Trend of Technology ที่เป็นแรงขับเคลื่อนธุรกิจในโลกยุคดิจิทัล เช่น กลุ่มธุรกิจ Cloud Computing, Cyber Security ซึ่งเป็นหนึ่งในธุรกิจโลกยุคใหม่อย่าง Metaverse ซึ่งมีโอกาสเติบโตรออยู่มากโดย PWC บริษัทที่ปรึกษาชั้นนำระดับโลก ได้ประมาณการณ์มูลค่าตลาดรวม ของ Metaverse ว่ามีแนวโน้มเติบโตในระดับ 26% ต่อปี จากระดับ 1.48 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2564 เป็น 1.54 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ภายในปี 2573 และ 2. ปกป้องความเสี่ยงหลังเกษียณให้สอดรับกับกระแสโลก (Megatrend Protection) โดยใช้ประกันสุขภาพแบบเหมาจ่าย และประกันโรคร้ายแรงที่มีทุนประกันสูง ที่เพียงพอสำหรับเลือกใช้บริการในโรงพยาบาลเอกชนชั้นนำ และยังเป็นการปกป้องความเสี่ยงด้านค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาลที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องไม่ให้เงินก้อนหลังเกษียณหมดกับค่าใช้จ่ายการรักษาที่ใช้เงินจำนวนมาก รวมถึงควรมีหลักประกันจากประกันบำนาญที่เน้นผลประโยชน์ในขณะดำรงชีวิต (Living Benefit) มากกว่าผลประโยชน์เมื่อเสียชีวิต (Death Benefit) ซึ่งปัจจุบันมีประกันบำนาญที่สร้างเงินบำนาญสูงสุดถึง 36% ต่อปี* และสามารถเลือกรับเงินบำนาญเป็นรายปีหรือรายเดือน เพื่อเป็นอาวุธสำคัญในการสร้างกระแสเงินสดในระดับสูงและสม่ำเสมอให้กับชีวิตในช่วงหลังเกษียณไปจนถึงอายุ 99 ปี ลดความกังวลเรื่องเงินไม่พอใช้จนถึงสิ้นอายุขัย