posttoday

นักวิชการ มธ.ย้ำเก็บภาษีคริปโตฯ ต้องเสมอภาค

27 มกราคม 2565

นักวิชาการ มธ. ย้ำ เก็บภาษีคริปโตฯ ต้องเสมอภาค ‘Day trade-ถือครองยาวเกิน 1 ปี’ อาจจัดเก็บในอัตราที่ต่างกัน

ผศ.ดร.เฉลิมพงษ์ คงเจริญ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวถึงการเก็บภาษีจากการลงทุนคริปโตเคอร์เรนซี ตอนหนึ่งว่า ทุกวันนี้ในหลายประเทศก็มีการเรียกเก็บภาษีจากการลงทุนคริปโตเคอร์เรนซี เช่น สหรัฐอเมริกา ซึ่งโดยหลักการแล้ว การเก็บภาษีจากคริปโตเคอร์ เรนซีถือเป็นความเสมอภาคเท่าเทียมกับการเก็บภาษีจากการลงทุนในรูปแบบอื่นๆ เนื่องจากเป็นรายได้ประเภทหนึ่ง อีกทั้งผู้ที่มีรายได้จากการลงทุนมักจะเป็นผู้ที่มีฐานะดีกว่ารายได้ประเภทอื่น ๆ

อย่างไรก็ดี สินทรัพย์ดิจิทัล หรือเหรียญต่างๆ ที่ซื้อขายกันอยู่ในปัจจุบัน ส่วนมากมิได้ออกโดยผู้ประกอบการในประเทศ ส่วนใหญ่จะเป็นการซื้อขายทรัพย์สินที่ออกโดยหน่วยงานในต่างประเทศ ส่วนตัวคิดว่า การเก็บภาษีในอัตราที่สอดคล้องเทียบเท่าที่อื่น จะไม่ส่งผลกระทบต่อการส่งเสริมการลงทุนในคริปโตเคอร์เรนซี

“หากมองว่าการจะพัฒนาคริปโตฯ หมายถึงการออกคริปโตใหม่ๆ ซึ่งตรงนี้ จำเป็นต้องมีการซื้อขายในตลาดแลกเปลี่ยนเป็นตลาดรองเพื่อรองรับ ซึ่งหากตลาดรองมีสภาพคล่องมากขึ้น ย่อมเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการในเมืองไทยจะสามารถออกคริปโตฯ หรือสินทรัพย์ดิจิทัลใหม่ๆ ได้ ฉะนั้นในส่วนนี้เราก็อาจจะต้องสร้างสมดุลระหว่างอัตราภาษีที่จะจัดเก็บภาษี และจะต้องเทียบเคียงกับการลงทุนอื่นๆ” ผศ.ดร.เฉลิมพงษ์ ระบุ

ผศ.ดร.เฉลิมพงษ์ กล่าวว่า การลงทุนคริปโตฯ มี 2 ส่วน ได้แก่ 1. Day trade ซื้อขาย-มีรายได้ทุกวัน ซึ่งในกรณีนี้สหรัฐฯ ก็มองว่าเป็นรายได้คล้ายกับการทำงาน ซึ่งถูกจัดเก็บภาษีในอัตราเดียวกับภาษีเงินได้ 2. การลงทุนที่ถือยาวเกิน 1 ปี ในสหรัฐมองว่าเป็นการลงทุนระยะยาว ซึ่งก็จะนับเป็นอีกอัตราหนึ่งเทียบเท่ากับการลงทุนในสินทรัพย์ทางการเงินอื่น ฉะนั้นการคิดอัตราก็จะต้องเทียบเคียงว่าตรงไหนคืออัตราที่เหมาะสม

หากมองในแง่ของความเท่าเทียมกัน ผู้ที่มีรายได้ก็ย่อมต้องเสียภาษีเงินได้สำหรับส่วนรายได้จากทุกแหล่งของตนเอง ฉะนั้นผู้ที่เป็นนักลงทุนในตลาดทางการเงินถ้าได้กำไรก็ต้องเสียภาษี ซึ่งอาจจะมองว่าเป็นการลงทุนระยะสั้น-ระยะยาว อย่างไรก็ตาม การซื้อขายในตลาดคริปโตมิได้ก่อให้เกิดกำไรอย่างเดียว ซึ่งในต่างประเทศเมื่อเกิดผลขาดทุนจากส่วนต่างระหว่างราคาซื้อที่สูงกว่าราคาขาย (Capital Loss) นักลงทุนสามารถนำส่วนที่ขาดทุนไปหักกับรายได้ในอนาคตที่ต้องเสียภาษี หากจะให้เกิดความเป็นธรรมก็จะต้องมีระบบที่จะสามารถจัดการในส่วนนี้ได้

“ถ้ามองในแง่ของการเป็นรายได้ เวลาทำธุรกิจก็มีช่วงที่ขาดทุน-ได้กำไร ก็สามารถนำมาชดเชยระหว่างช่วงเวลาได้ ว่าสุดท้ายแล้วรายได้สุทธิเป็นเท่าไหร่ ซึ่งแน่นอนว่าถ้าเรามีรายได้จากการลงทุนก็ควรที่จะต้องเสียภาษีเหมือนกับรายได้อื่นๆ หรือการประกอบอาชีพอื่นๆ แล้วมีรายได้” ผศ.ดร.เฉลิมพงษ์ ระบุ

ผศ.ดร.เฉลิมพงษ์ กล่าวว่า การเก็บภาษีคริปโตฯ มีบทเรียนแล้วจากในหลายประเทศ รวมไปถึงการรับฟังความคิดเห็นจากหลายกลุ่ม เช่น หากเก็บแล้วขาดทุนจะต้องทำอย่างไร ซึ่งก็กลายเป็นคำถามว่าระบบจะต้องจัดการอย่างไรเพื่อจัดเก็บข้อมูลที่จะทำให้เสียภาษีได้ง่ายขึ้น ฉะนั้นภาครัฐที่ได้เงินภาษีก็น่าจะต้องเข้ามาช่วยเหลือนักลงทุนรายย่อยและกระบวนการต่างๆ ในส่วนนี้

ขณะเดียวกันตัวกลาง (Exchange) ที่ได้ค่าธรรมเนียมก็จะต้องมีการช่วยเหลือนักลงทุน จัดข้อมูลให้ง่ายเพื่อลดต้นทุนของนักลงทุนในการจัดการเรื่องภาษี ในต่างประเทศบางตัวกลางจะมีระบบที่สามารถจัดการ คำนวณการซื้อขาย-รายรับเพื่อให้นักลงทุนสามารถเสียภาษีได้อย่างถูกต้อง

นอกจากนี้ ควรจะต้องมีการพูดคุยกันหลายฝ่ายเพื่อให้มีการจัดเก็บภาษีอย่างเหมาะสมและเป็นไปตามหลักการที่ถูกต้องอย่างมีประสิทธิภาพ รวมไปถึงสามารถตอบคำถามได้ว่าควรจะต้องจัดเก็บภาษีในอัตราเท่าไหร่และเทียบเคียงกับรายได้จากแหล่งใด

“จริง ๆ แล้วระบบภาษีของไทยก็ยังมีรายได้ส่วนอื่นที่ยังไม่ได้ถูกจัดเก็บภาษี ตัวอย่างเช่น ภาษี capital gain ในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งจริงๆ แล้วขนาดของฐานภาษีใหญ่กว่าตลาดคริปโตมาก แต่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในตลาดหลักทรัพย์มีจำนวนมาก ฉะนั้นอาจจะเป็นประเด็นที่ดำเนินการได้ยากกว่ากรณีของคริปโตฯ ถ้ามองในแง่ของความเท่าเทียมกันจริงๆ แล้วควรจะต้องไปเก็บภาษี Capital Gain Tax ในตลาดหลักทรัพย์ด้วยเพื่อให้มีความเท่าเทียมในการลงทุนระหว่างสินทรัพย์ทางการเงิน” ผศ.ดร.เฉลิมพงษ์ ระบุ