posttoday

คาดเศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัว ขณะที่ตลาดยังผันผวน

26 ตุลาคม 2564

ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด คาดเศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัว ขณะที่ตลาดยังผันผวน

ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) คาดเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวและเติบโตราว 3% ในปี 2565

“เศรษฐกิจไทยกำลังอยู่ในระหว่างฟื้นตัว เราคาดว่าปี 2565 เศรษฐกิจจะดีกว่าปี 2564 อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าติดตามคือ เศรษฐกิจจะฟื้นตัวได้เข้มแข็งเพียงใด” ดร.ทิม ลีฬหะพันธุ์ นักเศรษฐศาสตร์ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) กล่าว

“เราคาดว่าการฟื้นตัวจะเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากยังไม่มีสัญญาณการฟื้นตัวที่ชัดเจนในขณะนี้ อย่างไรก็ตาม เราอาจจะทบทวนมุมมองนี้อีกครั้ง ตอนนี้เรารอดูตัวเลขชี้วัดทางเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคช่วงปลายปี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภาพรวมการเปิดประเทศหลังจากวันที่ 1 พฤศจิกายน” ดร.ทิม กล่าว

ดร.ทิม กล่าวว่า นโยบายทางการคลังยังคงเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยรวม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์หลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 น่าจะมีการกระตุ้นในภาคการบริโภคและการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่โครงการการลงทุนต่างๆ น่าจะกลับมาเดินหน้าต่อ ซึ่งมีโอกาสต่อยอดการเติบโตของเศรษฐกิจได้มากขึ้นอีก

“สิ่งที่ต้องจับตามองในปีหน้าจะอยู่ที่นโยบายทางการเงินแทน โดยตลาดอาจตั้งคำถามว่าธนาคารแห่งประเทศไทยจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับปัจจุบันเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของภาคธุรกิจไว้ได้อย่างไร ในขณะที่ธนาคารกลางประเทศอื่นๆ เริ่มขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายกันบ้างแล้ว” ดร.ทิม กล่าว

“ภาคธุรกิจจะเริ่มเห็นว่าต้นทุนการกู้ยืมสูงขึ้นเนื่องจากอัตราดอกเบี้ยในตลาดเริ่มเพิ่มขึ้นชัดเจน” ดร.ทิม กล่าวเสริม

ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดคาดว่าค่าเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2565 จะอยู่ในกรอบ 31-32 บนปัจจัยบวกต่างๆ ซึ่งรวมถึงการเปิดประเทศ และการฟื้นตัวของการท่องเที่ยว

“มีปัจจัยภายนอกและปัจจัยภายในประเทศหลายประการที่จะส่งผลต่อความผันผวนของค่าเงินบาทในปี 2565 ไม่ว่าจะเป็นแนวโน้มการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ ความสัมพันธ์สหรัฐ-จีน จะกลับมาเป็นที่จับตาอีกครั้งในยุคหลังโควิด” ดร.ทิม กล่าว

ปัจจัยภายในประเทศที่ต้องจับตามองคือพัฒนาการทางการเมือง และสถานการณ์โควิดหลังเปิดประเทศ

“นักลงทุนเริ่มมองปัจจัยอื่นๆ ในช่วงหลังโควิด เช่น ราคาน้ำมันที่สูงขึ้นจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยไหม โดยจะส่งผลต่อเสถียรภาพด้านราคา หรือภาวะเงินเฟ้อไหม รวมทั้งจับตาดูว่าการท่องเที่ยวจะฟื้นกลับมาได้อย่างที่คาดการณ์ไว้หรือไม่” ดร.ทิม กล่าว

“นอกจากนี้ มีความท้าทายเชิงโครงสร้างในแง่ที่ว่า รัฐบาลจะสามารถดึงดูดภาคธุรกิจทั้งในและต่างประเทศให้ลงทุนในประเทศเพิ่มขึ้นได้อย่างไร และการแสดงให้เห็นถึงความคืบหน้าของโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC อย่างชัดเจน”