posttoday

เอาไม่อยู่ โควิดพุ่งเป็นไฟลามทุ่ง เป็นวิกฤตลากเศรษฐกิจไทยดิ่งเหลว

04 สิงหาคม 2564

การทุบสถิติการติดเชื้อโควิดทุกวัน ส่งผลให้คนทั้งประเทศสิ้นหวังกับแก้ปัญหาโควิดและเศรษฐกิจที่ดิ่งลงก้นเหลวอีกครั้ง ของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

วันที่ 4 ส.ค. 2564 การติดเชื้อโควิดในประเทศไทย ได้ทำลายสถิติอีกครั้ง ทั้งยอดผู้ติดเชื้อ 20,200 คน และยอดผู้เสียชีวิต 188 ราย นับตั้งแต่การระบาดละลอกล่าสุด ที่เริ่มนับมาตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2564

หลายคนเชื่อว่าหลังจากนี้ วิกฤตโควิดยังจะมีการทุบสถิติผู้ติดเชื้อ และผู้เสียชีวิต อีกนับครั้งไม่ถ้วนไม่จนถึงสิ้นปีนี้ หรือ ต้นปีหน้า

วิกฤตของคุมระบาดโควิดไม่อยู่ แม้ว่าจะมีการล็อกดาวน์แล้วล็อดดาวน์อีก ตั้งแต่การล็อกดาวน์แคมป์คนงานใน 10 จังหวัดกรุงเทพและปริมณฑล การประกาศเคอร์ฟิวล็อกดาวน์ใน 13 จังหวัด และล่าสุดการประกาศเคอร์ฟิวล็อกดาวน์เพิ่มเป็น 29 จังหวัด แต่ก็ไม่สามารถหยุดการแพร่ระบาดของโควิดได้ลงแม้แต่น้อย

วิกฤตโควิดที่พุ่งทะลุฟ้าไม่ยอมหยุด สะเทือนกับเศรษฐกิจไทยให้ดิ่งทะลุลงเหวอีกรอบ ถึงขนาดผู้ประกอบการสุดทน ล่าสุดการประชุมคณะกรรมการร่วมเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ได้แก่ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ประชุมด่วนและออกมาระบุว่า เศรษฐกิจไทยเสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอยอีกปี ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทย ปี 2564 เป็น -1.5 % ถึง 0.0% จากเดิม 0-1.5 % ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโควิด-19 และมาตรการเพิ่มเติมของรัฐ

เรียกได้ว่า กกร. ปรับประมาณการเศรษฐกิจชนิดไม่ไว้หน้ารัฐบาลกันแล้ว เพราะการระบาดหลายครั้งที่ผ่านมาเสนอให้แก้เสนอให้ช่วยอะไรก็ไม่ค่อยได้รับการตอบสนองจากรัฐบาล ทำให้ครั้งนี้ กกร. เลยจัดหนักใส่รัฐบาลชนิดจัดเต็ม หากไม่ทำอะไรมากกว่านี้ ก็ตัวใครตัวมัน

ซึ่งว่ากันไปตามจริงแล้ว การประเมินของ กกร. ก็ไม่ได้เกินเลย เพราะการที่รัฐบาลประกาศล็อกดาวน์ไร้ทิศทาง ล็อกไปแล้ว การตรวจคัดกรองก็ทำไม่ได้ การฉีดวัคซีนก็มีไม่พอ และตอนนี้ยารักษาก็ทำท่าจะขาดอีก จนระบบสาธารณสุขของไทยล้มทั้งยืน ทำให้เห็นภาพคนเข้าโรงพยาบาลไม่ได้และต้องนอนตายอยู่ที่บ้านเพิ่มมากขึ้น ซึ่งทั้งหมดย่อมพ่นพิษเศรษฐกิจไทยสาหัสไปด้วย

ขณะที่ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็หั่นจีดีพีไทยปีนี้เหลือ 0.7% จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวได้ 1.8% โดยพิษของโควิดที่ลาดยาวจบไม่ลง ทำให้เศรษฐกิจไทยหายวูบไปถึง 1.1% ซึ่งการประเมินของ ธปท. ยังไว้หน้ารัฐบาล เพราะก่อนสิ้นปี ธปท. จะมีการปรับประเมินเศรษฐกิจอีก 1 รอบ คาดว่ามีความเป็นไปได้ที่จะให้เศรษฐกิจไทยติดลบ หากการแก้ไขปัญหาโควิดยังยืดเยื้ออย่างนี้

ก่อนหน้านี้ นายสมหมาย ภาษี อดีต รมว.คลัง ก็ออกมาเตือนรัฐบาลว่า ระวังวิกฤตโควิต จากเป็นวิบัติของประเทศ ส่งผลกระทบทำให้เศรษฐกิจทรุด ประชาชนชนจะลำบากจนสิ้นหวัง ซึ่งนายสมหมายยังได้ถามว่า การที่ประเทศไทยปล่อยให้วิกฤตโควิด มาถึงจุดนี้ใครจะรับผิดชอบ

ด้าน ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง มองว่า ไม่แปลกใจเลยสักนิดที่ยอดการติดเชื่อโควิดของไทยสูงทะลุวันละ 2 หมื่นคน และคาดว่าการติดเชื้อโควิดของคนไทยจะสูงต่อเนื่องไปอีกไม่น้อยกว่า 2 เดือน หลังจากนั้นคาดว่าการติดเชื้อถึงจะเริ่มทรงตัว และคาดว่าจะคุมได้ในไตรมาสแรกของปี 2565 โดยรัฐบาลอาจจะมีความจำเป็นต้องกู้เงินอีก 1-2 ล้านล้านบาท เพื่อเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจ

สอดคล้องกับ ดร.นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโสด้านนโยบายเศรษฐกิจส่วนรวมและเศรษฐศาสตร์ประยุกต์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) มองว่า รัฐบาลคุมการติดเชื้อโควิดรอบใหม่ที่ลงลึกไปถึงระดับชุมชนไม่ได้แล้ว มีวิธีเดียวคือ การเร่งฉีดวัคซีน หรือ ปล่อยให้ติดมากจนเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ โดยคาดว่ารัฐบาลน่าจะควบคุมการระบาดรอบนี้ได้ในปีใหม่ประมาณเดือน ก.พ. 2565

"การระบาดโควิด-19 ของไทยตอนนี้ยังมองไม่เห็นจุดกลับตัวของการระบาดที่จะลดลง โดยผมมองการระบาดโควิดของไทยตอนนี้เป็นรูประฆังคว่ำ ที่ผู้ติดเชื้อยังไม่ขึ้นไปสูงสุดถึงยอดระฆัง ทำให้ผมประเมินว่าประเทศไทยยังต้องใช้เวลาอีกนานหลายเดือนกว่าจะควบคุมการระบาดของโควิดให้ได้อยู่วันละ 40-100 คน รัฐบาลไม่มีทางเลือกต้องจ่ายเงินเยียวยาประชาชาให้รอดตายก่อน โดยยังไม่ต้องคิดถึงเรื่องการฟื้นฟูเศรษฐกิจ" ดร.นณริฏ กล่าว

ขณะที่ ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง ทีดีอาร์ไอ มองว่า ตอนนี้รัฐบาลไม่สามารถความคุมการแพร่ระบาดของโควิดได้แล้ว เพราะตัวเลขผู้ติดเชื้อมีมากกว่าที่รัฐบาลแถลงอยู่ทุกวันนี้

"ผมโกรธมากที่รัฐบาลไม่เร่งตรวจเชิงรุกตั้งแต่เดือน พ.ค. ที่มีคนติดเชื้อแค่วันละ 1-2 พันคน เพราะมีคน 2 คน ใน 2 พรรคการเมือง มีอำนาจแต่ไม่ร่วมมือกันแก้ปัญหา เหมือนเป็นการเล่นการเมืองบนความตายของประชาชน จนทำโควิดเอาไม่อยู่อย่างที่เห็นทุกวันนี้" นายสมชัย กล่าว

จากภาพรวมทั้งหมดจะเห็นว่า วิกฤตโควิดมาถึงจุดวิกฤตโคม่าสาหัส ที่รัฐบาลต้องแก้ปัญหาอย่างจริงจัง เป็นระบบ ไม่ได้คิดไปทำไปแก้ไป มีการเล่นการเมือง ยีงมีความไม่ชอบมาพากลในการหาผลประโยชน์จากวิกฤตโควิด และต้องหยุดเล่นการเมืองบนความตายของประชาชนทั้งประเทศ

เพราะไม่ไม่เช่นนั้น การแพร่ระบาดโควิดจะเห็นยอดทะลุฟ้าไม่หยุด เห็นคนตายหลักหลายร้อยในอีกไม่ช้า ระบบสาธารณสุขไทยจะล่มจนกู้ไม่ขึ้น และกระทบไปถึงเศรษฐกิจไทยที่ดิ่งลงเหวเป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน จากปี 2563 ที่ติดลบ 6.8% และหากปีนี้ยังมาติดลบตามที่ กกร. ประเมินไว้อีก แสดงให้เห็นว่าโควิดพ่นพิษทำให้เศรษฐกิจดิ่งลงเหวจมลึกกว่าเดิม