posttoday

ล็อกดาวน์ยาวจีดีพีวูบ2%เสี่ยงทั้งปีติดลบ

22 กรกฎาคม 2564

แบงก์ชาติ ผวาโควิดเดลต้าระบาดยืดเยื้อ ลากล็อกดาวน์ยาว ทำจีดีพีประเทศหาย 0.8-2% ทุบจีดีพีปีนี้เสี่ยงโตติดลบ

นางสาวชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า การระบาดของโควิด-19 โดยเฉพาะสายพันธุ์เดลต้าทำให้การระบาดรุนแรง และยืดเยื้อกว่าคาดการณ์ ขณะที่ประสิทธิผลของวัคซีนหลายๆ ตัวสำหรับป้องกันไวรัสสายพันธุ์เดลต้าลดลง ส่งผลให้การบริหารจัดการทำได้ยากขึ้น

ขณะที่การประกาศใช้มาตรการล็อกดาวน์เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดล่าสุด ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มถูกกระทบใกล้เคียงกับการล็อกดาวน์แบบเต็มรูปแบบทั้งประเทศ และมีโอกาสที่จะลงลึกอย่างต่อเนื่อง โดย ธปท. ได้มีการประเมินความเสียหายของกิจกรรมทางเศรษฐกิจจากมาตรการล็อกดาวน์หากสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ดี จะส่งผลกระทบกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจ 0.8% แต่หากไม่สามารถควบคุมได้ เป็นกรณีต่ำ (โลเวอร์เคส) จะส่งผลกระทบกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจถึง 2%

"จากการประเมินล่าสุดต่อผลกระทบของมาตรการควบคุมการระบาดต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หากมาตรการควบคุมการระบาดได้ผล และสามารถทยอยผ่อนคลายได้ภายใน ส.ค. นี้ จะส่งผลต่อเศรษฐกิจประมาณ 0.8% แต่หากลดการแพร่เชื้อได้น้อย และต้องคงการควบคุมการระบาดไปจนถึงสิ้นปี จะส่งผลต่อเศรษฐกิจ 2.0% ทั้งนี้ ผลกระทบดังกล่าว ยังไม่ได้รวมปัจจัยอื่น ๆ ที่สำคัญเช่น มาตรการภาครัฐที่อาจมีเพิ่มเติม และการส่งออกที่ยังขยายตัวดี" นางสาวชญาวดี กล่าว

นางสาวชญาวดี กล่าวอีกว่า ปัจจุบันยังพูดได้ค่อนข้างลำบากว่าตัวเลขเศรษฐกิจ (จีดีพี) ในปีนี้จะขยายตัวติดลบหรือไม่ จากคาดการณ์ปัจจุบันที่ 1.8% แต่ก็มีความเป็นไปได้ทั้งหมด เพราะเศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยง และเสี่ยงมากขึ้นจากการคาดการณ์เมื่อเดือน มิ.ย. จากความยืดเยื้อของสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ดังนั้นหากผลกระทบของเศรษฐกิจออกมาเป็นโลเวอร์เคส ที่เศรษฐกิจถูกกระทบค่อนข้างเยอะ ก็จะต้องใช้ระยะเวลานานกว่าจะกลับมาเติบโตได้ ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจในครึ่งหลังของปี 2564 จะกลับมาได้เร็วแค่ไหน ยังขึ้นอยู่กับว่าสามารถหยุดยั้งการแพร่ระบาดได้มีประสิทธิภาพเพียงใด ควบคุมได้เมื่อไหร่

สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจในปี 2565 ปัจจัยเรื่องการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังเป็นประเด็นสำคัญ ซึ่งขึ้นอยู่กับวัคซีนที่ได้มาและการกระจายวัคซีนที่จะเป็นตัวสะท้อนระยะเวลาในการได้รับภูมิคุ้มกันหมู่ของประเทศไทย ซึ่งหากมองจากสถานการณ์ปัจจุบันการได้รับภูมิคุ้มกันหมู่ยังคงอีกไกล และเมื่อรวมปัจจัยเรื่องความร้ายแรงของสายพันธุ์ไวรัส ทำให้สัดส่วนประชากรที่ต้องได้รับวัคซีน ความเร็วในการกระจายวัคซีนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยจากข้อมูล ณ วันที่ 19 ก.ค. 2564 พบว่า มีประชากรได้รับวัคซีนเข็มแรก 15% และเข็ม 2 เพียง 5% เท่านั้น