posttoday

วอนกองทัพเลิกซื้อเรือดำน้ำ เอาเงินมาช่วยกู้วิกฤตโควิด

18 กรกฎาคม 2564

สะกิดต่อมหัวใจรัฐบาล คิดให้ดีจะเอาเงินกู้ไปซื้อเรือดำน้ำ หรือ จะไปช่วยประชาชนให้พ้นความตายจากโรคโควิด

ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลังและ อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม. รังสิต เปิดเผยว่า การล็อกดาวน์การคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมาไม่ได้ผล การจะทำให้การล็อกได้ผลมากขึ้นก็ต่อเมื่อรัฐบาลตัดสินใจปรับเปลี่ยนการใช้จ่ายในงบประมาณใหม่ด้วยเลื่อนการจัดซื้ออาวุธทั้งหมด นำเงินมาใช้ในงบสาธารณสุข การตรวจโรคเชิงรุกและกักกันกลุ่มเสี่ยง การจัดซื้อวัคซีน การเตรียมรับมือกับการล่มสลายของระบบสาธารณสุข และชดเชยรายได้ให้ประชาชนและธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ

หากไม่ใช้วิธีตรวจคัดกรองเชิงรุกในครัวเรือน ชุมชนและโรงงานและเร่งฉีดวัคซีน mRNA ควบคุมการลักลอบเข้าประเทศผิดกฎหมายและชะลอการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างประเทศในพื้นที่เสี่ยงคู่ขนานไปด้วยอย่างเต็มที่ ประสิทธิผลของมาตรการขยายล็อกดาวน์จะไม่ได้ผลอะไรมากและจะทำให้วิกฤติเศรษฐกิจทรุดหนักลงไปอีก

ดร. อนุสรณ์ ยกตัวอย่างว่า หากรัฐบาลไม่ซื้อเรือดำน้ำเพิ่มอีกสองลำ เราจะสามารถแจกทุนการศึกษาให้เด็กยากจนทุนละ 5,000 บาทจำนวน 4.5 ล้านคน และทำให้เด็กๆ ไม่ต้องออกจากระบบการศึกษาจากวิกฤติเศรษฐกิจโควิด ซื้อวัคซีนมาฉีดฟรีให้ประชาชนได้อย่างต่ำ 123 ล้านโดส หรือ ซื้อเครื่องตรวจแจกฟรีให้ประชาชนได้ 64 ล้านคน หรือ ซื้อเครื่องวัดออกซิเจนได้ 22 ล้านเครื่อง หรือ ชุด PPE ให้บุคลากรทางการแพทย์ได้ 150 ล้านชุด

"ขอให้รัฐบาลตัดสินใจให้ดี ว่า เราควรเอาเงินกู้และเงินภาษีประชาชนไปทำอะไรระหว่าง การจัดซื้ออาวุธ กับ การใช้จ่ายทางด้านสาธารณสุขในท่ามกลางวิกฤติโควิด" ดร.อนุสรณ์ กล่าว

ดร.อนุสรณ์ กล่าวว่า สิ่งที่ กองทัพไทย ควรทำไม่ใช่การจัดซื้ออาวุธ แต่ควรนำเอาพื้นที่ของค่ายทหารมากมายและกำลังพลจำนวนมากมาจัดสร้างโรงพยาบาลสนามช่วยเหลือประชาชน รวมทั้ง การเร่งตรวจเชิงรุกในชุมชน และ จ่ายค่าตอบแทนให้กำลังพลชั้นผู้น้อยที่ได้ร่วมกันช่วยเหลือประชาชนมากกว่า

นอกจากนี้ รัฐบาลต้องเปิดเผยข้อมูลสถานการณ์ของโรคและคุณภาพของวัคซีนอย่างโปร่งใส และการจัดหา การบริหารและกระจายวัคซีนตามหลักสาธารณสุขและการป้องกันไม่ให้เกิดความล่มสลายทางเศรษฐกิจและสังคมมีความสำคัญอย่างยิ่ง การจัดหา การบริหารและการกระจายวัคซีนต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์ของสาธารณชน หากไม่ยึดผลประโยชน์ของสาธารณสุขและสาธารณชนแล้ว การจัดหา การบริหารและการกระจายวัคซีนก็จะบิดเบี้ยว บิดเบือนไปจากหลักการที่ถูกต้องชอบธรรม วิกฤติในหลายๆด้านจะติดตามมาอย่างไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้