posttoday

ชงนายกออกพ.ร.ก.แก้พ.ร.ก.ซอฟต์โลน5แสนล้าน

25 มกราคม 2564

ชงนายกออก พ.ร.ก.ผ่าทางตัน พ.ร.ก.ซอฟต์โลน 5 แสนล้านบาท ปล่อยกู้อุ้มเอสอีเจอมรสุมโควิด

นายไพบูลย์ นิติตะวัน ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาติดตาม ตรวจสอบ การใช้เงินตามพระราชการกำหนด (พ.ร.ก.) 3 ฉบับ เพื่อแก้ไขปัญหาโควิด-19 ได้ทำหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ให้ออก พ.ร.ก.แก้ไข พ.ร.ก.ปล่อยเงินกู้ซอฟต์โลน 5 แสนล้านบาท ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ออกมาตั้งแต่การระบาดของโควิด-19 รอบแรก แต่การปล่อยสินเชื่อซอฟต์โลนดังกล่าวยังมีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าไม่ถึงสินเชื่ออีกจำนวนมาก

สำหรับเหตุผลที่ให้ออกเป็น พ.ร.ก. แก้ไขพ.ร.ก. ซอฟต์โลน์ของ ธปท. เพื่อให้เกิดความรวดเร็วมีผลบังคับใช้ทันที เพราะหากออกเป็นพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เพื่อแก้ไข พ.ร.ก.ซอฟต์โลน์ 5 แสนล้านบาท จะต้องใช้เวลานานถึง 8 เดือน ไม่ทันช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสอีที่ตอนนี้ได้รับผลกระทบของการระบาดโควิด-19 รอบสอง ที่เริ่มมาตั้งแต่ปลายปี 2563 ในวงกว้างและคาดว่าจะกินเวลาอีกยาวนาน

สำหรับสาระสำคัญของ พ.ร.ก. แก้ไข พ.ร.ก.ซอฟต์โลน 5 แสนล้านบาท ประกอบด้วย

1. แก้ไขนิยามผู้ประกอบการเอสเอ็มอี จากเดิมที่ต้องเป็นลูกหนี้ของสถาบันการเงิน ของใหม่ไม่ต้องเป็นลูกหนี้สถาบันการเงินก็ได้ เพื่อที่ให้เอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากโควิด และไม่เคยเป็นลูกหนี้ธนาคารเจ้ามาขอสินเชื่อซอฟต์โลนได้

2. เดิมกำหนดว่าเอสเอ็มอีจะต้องมียอดหนี้คงค้างกับสถาบันการเงิน ณ วันที่ 31 ธ.ค. 2562 ไม่เกิน 500 ล้านบาท เป็นไม่กำหนดว่าต้องมียอดหนี้คงค้าง

3. เดิมให้กู้เงินได้ 2 ครั้ง ไม่เกิน 20% ของสินเชื่อคงค้าง เป็นให้กู้ได้ 30% ของยอดสินเชื่อเดิม

4. ระยะเวลาการคืนเงินภายใน 2 ปี ให้ขยายเวลาเป็น 5 ปี และจากเดิมให้ธนาคารพาณิชย์คิดดอกเบี้ยจากลูกหนี้ได้ไม่เกิน 2% เป็นได้ไม่เกิน 5%

5. การชดเชยความเสียหายจากเดิม 70% กรณีกู้ไม่เกิน 50 ล้านบาท เป็น 80% ของลูกหนี้

นายไพบูลย์ ให้เหตุผลกับนายกรัฐมนตรีว่า การออก พ.ร.ก. แก้ไข พ.ร.ก.ซอฟต์โลน์ 5 แสนล้าน ในประเด็นสำคัญดังกล่าว จะช่วยให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีอีกจำนวนมากเข้าถึงสินเชื่อดังกล่าวได้

ทั้งนี้ ข้อมูลของ ธปท. ล่าสุด วงเงินปล่อยกู้ซอฟต์โลน 5 แสนล้านบาท ปล่อยกู้ไปได้แล้ว 1.2 แสนล้านบาท เป็นผู้ประกอบการ 7.3 หมื่นราย เป็นเอสเอ็มอีขนาดเล็ก 70% ซึ่งได้วงเงินกู้ซอฟต์โลนไป 3 หมื่นล้านบาท ที่เหลือ 30% เป็นเอสเอ็มอีขนาดกลางและขนาดใหญ่ ที่ได้วงเงินสินเชื่อซอฟต์โลนไป 9 หมื่นล้านบาท