posttoday

พิษโควิดทำคนไทยจนเพิ่มขึ้นอีก1.5ล้านคน

21 มกราคม 2564

พิษโควิดทำคนไทยจนเพิ่มขึ้นอีก1.5ล้านคน การจ้างงานมีความสำคัญต่อการฟื้นตัวจากโควิด-19

ธนาคารโลกออกรายงานเศรษฐกิจล่าสุด เศรษฐกิจของไทยได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการระบาดของโควิด-19 และประมาณการว่าจะลดลง 6.5% ในปี 2563 ส่วนการเติบโตของเศรษฐกิจคาดการณ์ว่าจะขยายตัว 4.0% ในปี 2564 รายงานนี้เน้นว่าการฟื้นตัวของการจ้างงานอย่างยั่งยืนจะมีสำคัญที่ช่วยให้ประเทศไทยกลับมาดีขึ้นในปี 2564 และ 2565

ในปี 2563 อุปสงค์ในตลาดโลกที่อ่อนแอ จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ลดลงอย่างรวดเร็ว และการจำกัดการเดินทางภายในประเทศกดดันการส่งออกสินค้าและบริการ รวมทั้งการบริโภคภาคเอกชน การส่งออกและการลงทุนภาคเอกชนคาดการณ์ว่าจะลดลง 18.5% และ 4.4% ตามลำดับ ขณะที่การบริโภคภาคครัวเรือนลดลง 1.3%

รายได้ที่ลดลงทำให้หลายคนมีความยากลำบากทางเศรษฐกิจ แม้ว่ารัฐบาลได้ดำเนินการค่อนข้างดีในการออกมาตรการช่วยเหลือครัวเรือนและผู้ประกอบการ แต่อย่างไรก็ตามในปี 2563 คาดการณ์ว่าจะมีประชากรที่เข้าสู่ภาวะยากจนเพิ่มขึ้นอีก 1.5 ล้านคน ตามเส้นแบ่งความยากจนที่ 5.5 ดอลลาร์สหรัฐต่อวัน (ภาวะเสมอภาคของอำนาจซื้อ 2554) เนื่องจากผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นของโควิด-19

ในปีนี้เศรษฐกิจไทยคาดว่าจะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป แม้ว่าจะมีการระบาดของโควิด-19 ครั้งที่สองเมื่อเร็วๆ นี้ และการเติบโตทางเศรษฐกิจคาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 4.7% ในปี 2565

อย่างไรก็ตามการฟื้นตัวยังคงอ่อนไหวต่อความเสี่ยงในด้านลบ ซึ่งอาจมาจากการกลับมาแพร่ระบาดซ้ำของโรค ส่งผลให้การท่องเที่ยวและกิจกรรมภายในประเทศซบเซาต่อเนื่อง การฟื้นตัวของเศรษฐกิจทั่วโลกที่อ่อนแอกว่าคาด อาจนำไปสู่ภาวะชะงักงันทางการค้าและห่วงโซ่อุปทานที่ยืดเยื้อ รวมทั้งระดับหนี้ครัวเรือนที่สูง

ผลจากการระบาดใหญ่ครั้งนี้ส่งผลกระทบต่อตลาดแรงงานของประเทศไทยอย่างมีนัยสำคัญ โดยมีการว่างงานเพิ่มขึ้นอย่างมากในกลุ่มคนวัยรุ่น จำนวนชั่วโมงการทำงานที่ลดลงทำให้รายได้ต่อเดือนน้อยลง จำนวนชั่วโมงการทำงานยังไม่ฟื้นตัวกลับขึ้นมา และการจ้างงานในหลายๆ ภาคอุตสาหกรรม รวมทั้งภาคการผลิตยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าปีก่อนหน้า นั้นหมายความว่าตลาดแรงงานยังอยู่ในภาวะที่เปราะบางต่อความไม่แน่นอนต่างๆ ในอนาคต รวมถึงการกลับมาระบาดซ้ำของโควิด-19

“วิกฤตโควิด-19 และผลกระทบทางเศรษฐกิจของวิกฤตครั้งนี้ได้ทำให้เห็นถึงจุดเปราะบางสำคัญของประเทศไทย คือจำนวนคนวัยทำงานที่ลดลง อันเป็นส่วนหนึ่งของความท้าทายในการฟื้นฟูความสูญเสียทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นเมื่อปีที่แล้ว” คุณเบอร์กิท ฮานสล์ ผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศไทย กล่าว “การเพิ่มการจ้างงาน ผลิตภาพ และรายได้แรงงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผู้ยากจน เป็นสิ่งจำเป็นต่อการฟื้นตัวอย่างยั่งยืน”

รายงานดังกล่าวยังแนะนำว่าในระยะสั้น รัฐบาลต้องจัดให้มีโครงการฝึกอบรมเพื่อเพิ่มพูนทักษะของแรงงานและให้ความช่วยเหลือทางการเงินเมื่อแรงงานกลับไปทำงาน สิ่งที่รัฐบาลจำเป็นต้องพยายามทำอย่างต่อเนื่องคือการทำให้มั่นใจว่าการให้ความรู้และการฝึกอบรมสอดคล้องกับความต้องการของผู้จ้าง

ในระยะยาวรัฐบาลสามารถเพิ่มการจ้างงานในภาคการดูแล ทำให้การดูแลเด็กเข้าถึงมากยิ่งขึ้น และลดค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อช่วยเพิ่มการจ้างงานของแรงงานผู้หญิง รายงานนี้ยังแนะนำให้ขยายอายุเกษียณออกไปและให้วางแผนโครงการจ่ายค่าตอบแทนตามผลงานและให้มีการจัดระบบการทำงานที่ยืดหยุ่นเพื่อยืดอายุการทำงานให้กับผู้สูงวัยอีกด้วย

“การลดลงของประชากรวัยทำงานจะทำให้อุปทานแรงงานและผลผลิตทางเศรษฐกิจลดลงในช่วงหลายทศวรรษข้างหน้า ประเทศไทยจะต้องสร้างตำแหน่งงานที่มีคุณภาพในภาคส่วนที่มีผลิตภาพสูงซึ่งสัมพันธ์กับเศรษฐกิจแห่งความรู้ที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศไทย การดำเนินนโยบายเพื่อเพิ่มผลิตภาพแรงงานและการมีส่วนร่วมในตลาดแรงงานของผู้สูงอายุและสตรีสามารถช่วยส่งเสริมการฟื้นตัวจากโควิด-19 ได้อย่างยั่งยืน ในขณะเดียวกันก็เป็นการรับมือกับความท้าทายที่มาพร้อมกับภาวะประชากรสูงวัยด้วย” นายเกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของธนาคารโลกประจำประเทศไทยกล่าว