posttoday

เยียวยาโควิดอืด เร่งก่อม็อบเศรษฐกิจไล่รัฐบาลบิ๊กตู่

11 มกราคม 2564

การเยียวยาผลกระทบจากโควิดรอบใหม่ช้าเป็นเรือเกลือ ทำให้ธุรกิจ ประชาชน ที่ได้รับผลกระทบหมดความอดทนกับรัฐบาลบิ๊กตู่ จนเริ่มเป็นม็อบไม่เอารัฐบาลบิ๊กตู่มากขึ้น

เป็นเวลาเกือบ 1 เดือนแล้ว ที่มีการระบาดของโควิด-19 รอบใหม่เกิดขึ้นในประเทศไทย ซึ่งวันนี้ปฏิเสธไม่ได้แล้วว่ารุนแรงกว่ารอบแรกทั้งปี 2563 ที่ผ่านมา

ตัวเลขรวมติดเชื้อโควิด-19 ของไทย วันที่ 11 ม.ค. 2564 อยู่ที่ 10,500 คน เป็นการติดเชื้อรอบใหม่ไม่ถึง 1 เดือนถึง 6,000 คน แสดงให้เห็นว่าการควบคุมการแพร่ระบาดสู้รอบแรกไม่ได้

ในแง่ของผลกระทบเศรษฐกิจไม่ต้องพูดถึง ผู้ประกอบการภาคธุรกิจล้มทั้งยืน ปิดกิจการจากคำสั่งล็อกดาวน์ของรัฐบาลปี 2563 ที่ผ่านมา ยังไม่ทันฟื้น ก็มาเจอโควิด-19 รอบใหม่ ที่รัฐบาลไม่ล็อกดาวน์ แต่ผู้ประกอบการธุรกิจก็ประสานเสียงเดียวกันว่า ไม่ล็อกก็เหมือนล็อกนั้นเอง เพราะไม่ใครเดินทาง ไม่มีใครใช้จ่าย ธุรกิจไม่มีทางอยู่ได้

ผลสำรวจของโพล สัปดาห์ที่ผ่านมาก็แสดงให้เห็นว่า รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หรือ รัฐบาล "บิ๊กตู่" แก้ปัญหาโควิด-19 รอบใหม่ ไม่เด็ดขาด ทำให้เอาไม่อยู่ทั้งการคุมโรคและการพยุงเศรษฐกิจ

ยิ่งต้นตอการระบาดของโควิด-19 มาจากแรงงานข้ามชาติไม่ถูกกฎหมาย มาจากผู้เล่นพนันในบ่อนทั่วไทย ทั้งบ่อนเล็กบ่อนใหญ่ บ่อนลอยบ่อนวิ่ง ล้วนมีข้าราชการนักการเมืองหนุนหลังทั้งนั้น ทำให้ภาคธุรกิจ ประชาชน สุดทนรัฐบาลบิ๊กตู่ ที่เป็นต้นเหตุการแพร่ระบาดโควิด-19 รอบใหม่ แต่การแก้ปัญหากับโยนภาระให้แต่ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะรายเล็กรายน้อยที่สายปานสั่น รอบแรกยังเอาตัวไม่รอดและรอบสองจะรอดไปได้อย่างไร

การที่รัฐาลไม่ล็อกดาวน์ ทำให้เจ็บแต่ไม่จบ และไม่รู้จบเมื่อไร ทำให้ธุรกิจ ประชาชน สิ้นหวัง ธุรกิจหลายแห่งถึงขนาดล็อกดาวน์ตัวเองเย้ยรัฐบาลก็มีให้เห็น ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการที่เกาะล้าน หรือ แหล่งท่องเที่ยวในจังหวัดแม่ฮ่องสอน เพราะเขาคิดว่ายอมเจ็บแต่จบดีกว่า

นอกจากนี้ การแก้ปัญหาโควิด-19 รอบใหม่ของรัฐบาลที่ให้นั่งกินข้าวในร้านได้ 6 โมงเช้า ถึง 3 ทุ่ม แต่ร้านสะดวกซื้อของนายทุนใหญ่ยังเปิดได้ทั้งวันทั้งคืน กลายเป็นจุดเปราะบางความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ จนผู้ประกอบการรายเล็กรายน้อย ประชาชนตาดำๆ หมดความอดทน และเริ่มไม่คิดจะทนอีกต่อไป

วันนี้โควิด-19 รอบใหม่ ระบาดเข้าสัปดาห์ที่ 4 แต่รัฐบาลยังไร้มาตรการช่วยเหลือเป็นชิ้นเป็นอัน ทั้งที่มีการสั่งปิดธุรกิจกิจกรรมการเสี่ยงไปแล้วหลายกิจกรรม ทำให้คนตกงานจำนวนมาก แต่ยังไม่ได้รับการเยียวยาจากรัฐบาล

ที่ผ่านมา รัฐบาลแก้ต่างว่ามีเงินช่วยเหลือเพียงพอ ไม่ได้ถังแตก การไม่ล็อกดาวน์เพราะกลัวต้องเงินจ่ายเยียวยาไม่ไหวนั้นไม่เป็นความจริง แต่ทุกคนก็งงมีเงินแต่ไม่มีมาตรการเยียวยาออกมาเสียทีเพราะมีปัญหาอะไร

ฝ่ายค้านโจมตีเรื่องการเยียวยาผลกระทบของโควิด-19 รอบใหม่อย่างหนัก และจะกลายเป็นประเด็นร้อนอภิปรายไม่ไว้วางใจการทำงานของรัฐบาล ตั้งแต่การเปิดแผลเรื่องส่วยแรงงานข้ามชาติ ส่วยบ่อนการพนัน ที่เป็นต้นตอการแพร่ระบาดโควิด-19 รอบใหม่ ไปจนถึงเรื่องใหญ่ผลกระทบเศรษฐกิจที่มีปัญหาตั้งแต่ผู้ประกอบการธุรกิจ ไปจนถึงปากท้องประชาชนรากหญ้า ที่ยังไม่ได้รับการเยียวยา ส่วนที่ได้รับแล้วก็ไม่ทั่วถึงไม่เพียงพอ

ที่ผ่านมามีข้อเสนอจากฝ่ายการเมืองมากมาย แต่รัฐบาลเหมือนไม่รับฟัง ทั้งการเสนอให้โยกเงินกู้ฟื้นฟูเศรษฐกิจ 4 แสนล้านบาท ที่เบิกจ่ายใช้จริงได้ไม่กี่พันล้านบาท มาใช้จ่ายเยียวยาประชาชนธุรกิจที่ได้รับผลกะทบเป็นการเร่งด่วนไปก่อน

การเสนอให้มีการแก้ไข พ.ร.ก.เงินกู้ซอฟท์โลนของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) 5 แสนล้านบาท ที่ปล่อยกู้ค้างอยู่ที่ 1 แสนล้านบาท มาข้ามปี ยังมีเงินเหลืออีก 4 แสนล้านบาท ที่ยังปล่อยกู้ไม่ได้ เพราะผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ได้รับความลำบากจริงๆ เข้าไม่ถึง เพราะการเขียนกฎเกณฑ์ไปตีกันคนที่เดือดร้อนจริงไว้ให้เข้าไม่ได้ หากไม่แก้กฎหมายแม่ การที่ผู้ประกอบการที่ได้รับความเดือดร้อนจริงๆ จากการระบาดโควิด-19 รอบใหม่ จะได้รับเงินสินเชื่อซอฟท์โลนนี้ก็เป็นเพียงได้แค่ฝันเท่านั้น

แม้แต่ข้อเสนอของภาคผู้ประกอบการเอง ที่ให้รัฐบาลเร่งออกมตรการเยียวยาอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 2 แสนล้านบาท โดยเสนอให้เติมเงินมาตรการคนละครึ่งจากคนละ 3,500 บาท เป็นคนละ 5,000 บาท และขยายเวลาจากสิ้นเดือนมี.ค. 2564 ไปอย่างน้อยกลางปี 2564

ขณะที่ภาคธุรกิจโรงแรมที่อาการหนักหนักสาหัส ก็เสนอให้รัฐบาลมีคำสั่งล็อกดาวน์ให้โรงแรงปิดเป็นการชั่วคราวไปเลย เพื่อจะได้รับเงินเยียวยาจากประกันสังคมได้ พร้อมทั้งเสนอให้รัฐบาลรักษาการจ้างงานพนักงานโรงแรมด้วยการร่วมกันจ่ายคนละครึ่งไม่เกิน 7,500 บาทต่อคนต่อเดือน จนกว่าจะกลับมาเปิดกิจการได้

ด้านผู้ประกอบอาชีพอิสระ ทั้งนักดนตรีที่ได้ผลกระทบถูกรัฐสั่งปิดผับ หรือหมอนวดแผนโบราณ ที่ถูกสั่งปิดเช่นกัน ต้องการให้รัฐบาลช่วยจ่ายเงินเยียวยา 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน เหมือนการระบาดโควิดรอบแรก แต่รัฐบาลก็ไม่ตอบรับใดๆ

ดังนั้นไม่ต้องแปลกใจ หลังจากนี้จะมีม็อบผู้ประกอบการธุรกิจต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบจากโควิดรอบใหม่ ออกมากดดันบิ๊กตู่มากขึ้น เพราะออกมาตรการช่วยเหลือเยียวยาช้าไม่ทั่วถึงไม่เพียงพอ และเป็นมาตรการที่ช่วยเหลือไม่ได้จริง มาตรการที่ออกมาเป็นมาตรการช่วยเหลือไม่ตรงจุด ซื้อเวลาไปได้ไม่นาน

รัฐบาลบิ๊กตู่ต้องไม่ลืมว่า การระบาดของโควิด-19 รอบใหม่ ไม่เหมือนรอบแรกที่มองว่ารัฐบาลบิ๊กตู่เป็นพระเอก แต่เที่ยวนี้รัฐบาลบิ๊กตู่ถูกมองเป็นผู้ร้าย เป็นต้นตอทำให้เกิดการระบาดรอบใหม่ และยังโยนภาระให้ผู้ประกอบการรายเล็กรายน้อย เอาตัวรอดกันเอง ทั้งที่เขาไม่ได้การ์ดตก ทำตามมาตรการของรัฐบาลมาอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ การประเมินของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ว่า รัฐบาลจะล็อกดาวน์ประเทศยังที่เป็นอยู่ หรือ จะล็อกดาวน์เข้นข้นมากกว่านี้ หากเอาโควิด-19 รอบใหม่ไม่อยู่ภายใน 3 เดือน เศรษฐกิจไทยจะเสียหาย 1-6 แสนล้านบาท โดยคาดว่าเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรก ปี 2564 จะยังขยายตัวติดลบ ต่อเนื่องจากปี 2563 ที่คาดว่าจะขยายตัวติดลบ 7-8%

ตัวเลขความเสียหายเศรษฐกิจดังกล่าว น่าจะสะท้อนให้รัฐบาลบิ๊กตู่เห็นได้ว่า สร้างความสาหัสกับภาคธุรกิจและประชาชนขนาดไหน โดยเฉพาะภาคธุรกิจและประชาชนที่ไม่ได้การ์ดตก แต่ต้องมารับเคราะห์จากการที่รัฐบาลการ์ดตกกันเสียเอง

รัฐบาลบิ๊กตู่รอดจากม็อบการเมืองมาได้ไม่ยาก แต่สำหรับม็อบเศรษฐกิจ ที่สิ้นเนื้อหมดตัว และคนจำนวนมากหลายล้านคนที่ตกงานกำลังอดตาย หนี้สินท่วมหัว เพราะจากพิษโควิด-19 รอบใหม่ กำลังก่อตัวเป็นสินามิกดดันรัฐบาลบิ๊กตู่ให้อยู่ยากขึ้นอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

ม็อบเศรษฐกิจ ประเมินต่ำไม่ได้ เพราะเขาไม่มีอะไรจะเสียอีกแล้ว ยิ่งกับรัฐบาลที่เป็นต้นตอการระบาดโควิดรอบใหม่ แต่ไม่ยอมเร่งเยียวยาผลกระทบที่เกิดขึ้น ถือเป็นมหาพายุลูกใหญ่ของรัฐบาลบิ๊กตู่ที่น่าจะผ่านไปไม่ได้ง่ายๆ