posttoday

มาตรการวงแตก แก้โควิดรอบใหม่ล้มเหลว

05 มกราคม 2564

รัฐบาลเมาพิษโควิดออกมาตรการสับสน ไม่หารือกันออกไปแก้ไป ทำประชาชนปวดหัวจับต้นชนปลายไม่ถูกจนหมดความเชื่อมั่นรัฐบาล

ตั้งแต่เริ่มปีใหม่ 2564 ประชาชนคนไทยอยู่ในภาวะวิกฤตหวาดกลัวการระบาดของโควิด-19 รอบใหม่แล้ว ยังต้องนั่งมึนกับมาตรการแก้ปัญหาของรัฐบาล ชนิดวันต่อวันว่าจะออกมาตรการให้ประชาชนทำตัวอย่างไร

ประเด็นร้อนหนีไม่พ้นการนั่งกินอาหารในร้าน เริ่มต้นปีใหม่วันที่ 2 ม.ค. 2564 ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง โฆษกกรุงเทพมหานคร ออกมาบอกว่า กทม. จะเสนอให้ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 (ศบค.) เห็นชอบไม่ให้คนในกรุงเทพนั่งกินอาหารในร้าน โดยให้สั่งซื้อกลับไปกินบ้านได้อย่างเดียว เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ทาง ศบค. ปฏิเสธทันที โดยให้คนกรุงเทพนั่งกินอาหารในร้านได้ปกติ สร้างความสับสนให้กับทั้งผู้ประกอบการร้านอาหาร และประชาชนที่ไปใช้บริการ มึนไปรอบแรก

หลังจากนั้นวันที่ 3 ม.ค. 2564 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีคำสั่งลงในราชกิจจานุเบกษากำหนด 8 ข้อ ในการดูแลการแพร่ระบาดโควิดในจังหวัดที่มีความเสียงสูง 28 จังหวัด ซึ่งมีเรื่องของข้อกำหนดการนั่งกินข้าวในร้านอาหารรวมอยู่ด้วย

ในวันที่ 4 ม.ค. 2564 โฆษกกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า กรุงเทพได้ออกคำสั่งให้กินอาหารในร้านได้ตั้งแต่เวลา 6 โมงเช้า ถึง 1 ทุ่ม เท่านั้น หลังจากนั้นต้องสั่งกลับไปกินที่บ้านเท่านั้น เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิดในกรุงเทพที่เพิ่มมากขึ้น

ยังไม่ทันข้ามวันการประชุม ศบค. ในช่วงบ่ายที่มี พล.อ.ประยุทธ์ เป็นประธาน ได้สั่งยกเลิกคำสั่งของกรุงเทพมหานคร และให้เลื่อนการกินอาหารในร้านในกรุงเทพไปได้ถึง 3 ทุ่ม โดยนายกอ้างว่าสมาคมภัตตาคารขอมา เพื่อลดผลกระทบทางเศรษฐกิจ

การหักกันไปมาดังกล่าว สร้างความสับสนให้ผู้ประกอบการร้านอาหาร เตรียมตัวไม่ถูกว่าจะวางแผนการค้าขายอย่างไร ขณะที่ประชาชนก็อยู่ในอาการมึนหลงอยู่ในห่วงเวลาที่เปลี่ยนไปมาว่าจะนั่งกินที่ร้านหรือสั่งกลับมากินที่บ้านดี

ที่หนักไปกว่านั้น ในวันที่ 4 ม.ค. 2564 กระทรวงมหาดไทยได้หนังสือถึงผู้ว่าราชการทุกจังหวัด โดยในจังหวัดที่เป็นสีแดงพื้นที่ควบคุมสูงสุด 28 จังหวัด การกินข้าวในร้านอาหารดูเหมือนให้ยึดเวลาของกรุงเทพเป็นหลัก ทำให้ผู้ค้าขายหลายจังหวัดมึมงง แม้ว่าอยู่ในกลุ่มควบคุมสูงสุดแต่มีผู้ติดเชื้อน้อย ทำไมต้องโดนหางเลขไปด้วย

นอกจากนี้ ในหลักการแล้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจที่จะสั่งการเพิ่มเติมในมาตรการให้เข้มข้นกว่ามาตรการของส่วนกลางได้ แต่เข้มข้นน้อยกว่าไม่ได้ ซึ่งการประกาศของกรุงเทพมหานครเรื่องการกินข้าวในร้านมีความเข้มข้นมากกว่า แต่ถูกยกเลิกท่ามกลางโควิดที่แพร่ระบาดไม่หยุด ทำให้ประชาชนกรุงเทพเกิดความหวาดหวั่นอย่างมาก

ล่าสุดวันที่ 5 ม.ค. 2564 ร.ต.อ.พงศกร ออกมาแถลงว่า ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ของกรุงเทพมหานครวันที่ 5 ม.ค.จำนวน 15 ราย เป็นติดเชื้อในประเทศ จากสถานที่เสี่ยงอื่น มีอาชีพเสี่ยง หรือสัมผัสผู้ป่วยก่อนหน้านี้ทั้งหมด รวมแล้วกรุงเทพมหานครมีผู้ติดเชื้อ 245 ราย ขอฝากถึงประชาชนที่เคยเดินทางไป 5 จังหวัด ตั้งแต่วันที่ 15 ธ.ค. 63 ถึงปัจจุบัน ได้แก่

1. จ.สมุทรสาคร

2. จ.นครปฐม ต.บางระกำ อ.นครชัยศรี ต.สระสี่มุม ต.ห้วยม่วง ต.สระพัฒนา อ.กำแพงแสน ต.บางหลวง ต.ดอนตูม อ.บางเลน

3. จ.นนทบุรี หมู่ 5 หมู่ 6 ต.เสาธงหิน อ.บางใหญ่ (ตลาดกลางบางใหญ่)

4. จังหวัดชลบุรี อ.บางละมุง

5. จังหวัดระยอง อ.เมือง

รวมถึงผู้ที่เคยไปใช้บริการในสถานที่เหล่านี้ ได้แก่

6. ร้าน groove evening ถนนบรมราชชนนี แขวงอรุณอมรินทร์ ตั้งแต่วันที่ 13 ธ.ค. 63

7. ร้าน new jazz ตรงข้าม The mall ท่าพระ ตั้งแต่วันที่ 25 ธ.ค.63

8. ร้าน The sun ถ.สิรินธร ตั้งแต่วันที่ 25 ธ.ค. 63 จนถึงปัจจุบัน

9. ร้าน The roof bar. ถนน.พระราม3 ตั้งแต่ 13-30 ธ.ค. 63

10. ร้านอีสานกรองแก้ว ในช่วงวันที่ 15 - 26 ธ.ค.63

11. ร้านน้องใหม่พลาซ่า(น้องใหม่คาราโอเกะ) ซอยอยู่ออมสิน แขวงบางยี่ขัน เขตบางพลัด ในช่วงวันที่ 15 - 26 ธ.ค. 63 ให้ติดต่อสายด่วน สำนักอนามัย กทม.ได้ที่เบอร์ 02-203-2393 และ 02-203-2396 หรือเข้าระบบ BKKcovid19 http://bkkcovid19.bangkok.go.th/ หากระบบแจ้งว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงสูง กทม.จะจัดเจ้าหน้าที่ติดต่อไปโดยเร็วที่สุด

จากข้อมูลการติดเชื้อของกรุงเทพมหานคร เห็นว่าสวนทางกับมาตรการควบคุมที่รัฐบาลออกมา ที่มีความเข้มข้นไม่พอที่จะไล่ตามจับโควิดได้ทัน

นอกจากเรื่องกินข้าวที่ร้านอาหารแล้ว ยังมีเรื่องการปิดเมือง หรือ ล็อกดาวน์ ที่สร้างความสับสนให้กับประชาชนรายวันได้ไม่หยุดหย่อน และคาดว่าจะเป็นเช่นนี้ไปอีกนาน

หลังการประชุม ศบค. เมื่อวันที่ 4 ม.ค. 2564 ในเวลาประมาณ 2 ทุ่ม นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข โพสต์เฟสบุ๊ค ว่า "นายกรัฐมนตรี และที่ประชุม ศบค. ตัดสินใจล็อกดาวน์ 5 จังหวัด ที่มีตัวเลขการแพร่ระบาดโควิด 19 จำนวนมาก และมีความเสี่ยงสูง ได้แก่ สมุทรสาคร, ชลบุรี, ระยอง, จันทบุรี และตราด"

หลังจากนั้น กรมประชาสัมพันธ์ออกมาปฎิเสธข่าวดังกล่าวไม่เป็นความจริง โดยในวันที่ 5 ม.ค. 2564 พล.อ.ประยุทธ์ ออกมายืนยันว่า ไม่มีการล็อกดาวน์ทั้ง 5 จังหวัด แต่จัดกลุ่มให้ทั้ง 5 จังหวัด เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด และเข้มงวด

แน่นอกว่า ประชาชนงงกันทั้งประเทศ ว่า ตกลงจะล็อกดาวน์ หรือไม่ล็อกดาวน์ และการเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด และเติมคำว่า "เข้มงวด" เข้าไปเพิ่มอีก มันต่างจากการล็อกดาวน์อย่างไร เพราะเป็นการทำให้การเข้าออกเมืองอยากลำบากเหมือนกัน

ยังไม่รวมกับความสับสนผู้ว่าราชการหลายจังหวัด ออกมาให้ข่าวว่า คนที่เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยงสูงสุด 5 จังหวัดจะถูกกักตัว ซึ่งก็เหมือนการล็อกดาวน์กลายๆ อยู่นั้นเอง

ในภาวะที่โควิดรอบใหม่ระบาดรุนแรงรวดเร็ว ไม่มีท่าทีอ่อนแรงลงง่ายๆ แต่การแก้ปัญหาการระบาดโควิดของรัฐบาลเป็นมาตรการวงแตก ไม่หารือกันให้เสร็จเรียบร้อยเสียก่อน ต่างคนต่างทำ ทำแล้วเปลี่ยน ทำแล้วประกาศแล้วถูกยกเลิก จนประชาชนผู้ประกอบการสับสัน ไม่เชื่อถือรัฐบาลกันเพิ่มมากขึ้น

ก่อนหน้านี้มีการประเมินกันว่า ไทยหนีการแพร่ระบาดของโควิดรอบใหม่ไม่ได้ ตราบใดที่ยังไม่มีวัคซีน แต่คนส่วนใหญ่ก็คาดว่ารัฐบาลจะรับมือแก้ปัญหาได้ดีกว่านี้ เพราะมีประสบการณ์จากรอบแรกได้รับคำชมล้นหลาม ไม่มีใครคิดว่ารัฐบาลจะแก้ปัญหาโควิดรอบใหม่ได้แบบแบบวงแตกกระจายเช่นนี้ ทำให้การแก้ปัญหาโควิดรอบใหม่ในรอบ 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา ล้มเหวไม่เป็นกระบวนท่าจริงๆ