posttoday

คาดปี 2564 จีดีพีพลิกกลับเป็นบวก 2.5-3%

30 ธันวาคม 2563

แนะรัฐคว้าโอกาสรับจังหวะเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว ร่วมมือค้าระหว่างประเทศดันการส่งออก

สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) มองเศรษฐกิจไทยปี 64 พลิกขยายตัว 2.5-3% แม้มีความเสี่ยงจากโควิด-19 หลังหลายประเทศเริ่มทยอยฉีดวัคซีนป้องกัน เสนอรัฐเร่งยุทธศาสตร์การค้าการลงทุนกับต่างประเทศจังหวะเศรษฐกิจโลกฟื้นไข้ ผ่านกลไกความร่วมมือข้อตกลงการค้า RCEP และ FTA ขยายตลาดกลุ่มประเทศในยุโรป อเมริกา จีนและญี่ปุ่น พร้อมเร่งดึงต่างชาติเที่ยว หวังอุตฯฟื้นตัวไตรมาสสุดท้ายของปี 64 คาดมีนักท่องเที่ยว 9 ล้านคน

รศ.ดร.มนตรี โสคติยานุรักษ์ ผู้อำนวยการหลักสูตรวิทยาการการจัดการสำหรับนักบริหารระดับสูง (วบส.) นิด้า เปิดเผยว่า จากการประเมินภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปี 2564 คาดว่ามีอัตราเติบโต 2.5-3% ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ปรับตัวดีขึ้น หลังจากหลายประเทศเริ่มดำเนินการฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชน จึงเป็นโอกาสของภาครัฐควรวางแผนยุทธศาสตร์เพื่อขยายการค้าการลงทุนกับประเทศในกลุ่มยุโรป อเมริกา จีนและญี่ปุ่น ผ่านการทำข้อตกลงทางการค้าต่างๆ ได้แก่ RCEP หรือ ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ที่เป็นข้อตกลงทางการค้าใหญ่ที่สุดในปัจุบัน มี 10 ชาติสมาชิกอาเซียน บวก จีน ญี่ปุ่น เกาหลี ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ หรือการเข้าร่วมเป็นสมาชิก CPTPP หรือ ความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก รวมถึงการทำ FTA กับประเทศอังกฤษ เป็นต้น ช่วยสนับสนุนการส่งออกของไทยให้ดีขึ้น

อย่างไรก็ตาม ปี 2564 ยังมีปัจจัยบวกอยู่หลายประการ คือ การที่สหรัฐฯ มีประธานาธิบดีคนใหม่ ‘โจ ไบเดน’ สังกัดพรรคเดโมแครต ที่มีนโยบายการค้าโดยเน้นการเจรจาภายในกรอบความร่วมมือ และการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานรวมถึงการพัฒนาวัคซีน COVID-19 มีความคืบหน้าและสามารถผลิตได้เป็นจำนวนมากในต้นปี 2564 จะช่วยการค้าระหว่างประเทศและการท่องเที่ยวได้ดีขึ้น

ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวคาดว่าจะฟื้นตัวได้ในไตรมาสสุดท้ายปีหน้า คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยรวมประมาณ 9 ล้านคน โดยภาครัฐต้องเร่งปรับยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวที่ต้องโฟกัสนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพเพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายเงินต่อหัวต่อคนให้มากขึ้น

“ปี 2564 ยังเป็นปีที่เศรษฐกิจไทยจะกลับมาเติบโตตามเศรษฐกิจโลก แต่ยังมีความเสี่ยงในหลายปัจจัยที่ต้องเฝ้าระวังทั้งโรคโควิด 19 ที่แพร่ระบาดรอบใหม่ ทำให้หนี้ครัวเรือนสูงขึ้นกดดันกำลังซื้อ หนี้สาธารณะใกล้เพดาน 60% ทำให้การใช้จ่ายภาครัฐเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ไม่มากนัก และเงินบาทแข็งค่าจะทำให้สินค้าไทยส่งออกในราคาแพงขึ้น เหล่านี้เป็นเรื่องที่ภาครัฐต้องดูแล เนื่องจากไทยมีการพึ่งพาการส่งออกและท่องเที่ยวสูงถึง 72% ของ GDP” รศ.ดร.มนตรี กล่าว

นอกจากนี้ ภาครัฐควรเดินหน้าลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศในหลายๆ ด้าน เช่น การลงทุนพัฒนาเทคโนโลยี 5G การลงทุนแพลตฟอร์มด้านการสื่อสารเพื่อรองรับยุค New Normal การสร้างบรรยากาศการลงทุนใน อีอีซี ซึ่งเหล่านี้ล้วนเป็นเรื่องที่มีความจำเป็น เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของไทยกับนานาประเทศให้ดีขึ้น และประคองเศรษฐกิจไทยในปี 2564 ให้สามารถผ่านพ้นช่วงวิกฤตโควิดไปให้ได้