posttoday

คลังเร่งปรับโครงสร้างภาษีหลัววิกฤตโควิด

02 ธันวาคม 2563

คลังรับประกันมีเงินกู้เหลือ 5-6 แสนล้านบาท เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ แจงหลังจากนี้เร่งปฏิรูปภาษีครั้งใหญ่

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.การคลัง กล่าวว่า รัฐบาลยังมีเม็ดเงินเพียงพอในการฟื้นฟูเศรษฐกิจได้อย่างเต็มที่ จากพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กู้เงินฉุกเฉิน 1 ล้านล้านบาท ที่ส่วนหนึ่งแบ่งไปใช้ในด้านสาธารณสุข 4.5 หมื่นล้านบาท และมีการจ่ายเยียวยาประชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ไปแล้ว 3-4 แสนล้านบาท โดยยังเหลือวงเงินอีก 5-6 แสนล้านบาท ที่จะเป็นกระสุนในการฟื้นฟูและดูแลเศรษฐกิจในกรณีที่โควิด-19 ยังไม่ยุติได้

ขณะที่นโยบายด้านการเงิน ดำเนินการผ่านธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และระบบสถาบันการเงินต่าง ๆ ซึ่งปัจจุบันระบบสถาบันการเงินมีสภาพคล่องเพียงพอที่จะรองรับผลกระทบต่างๆ ส่วนสถานการณ์เรื่องเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่ส่งผลทำให้เงินดอลล่าร์ไหลเข้ามาในประเทศมากขึ้น ส่วนแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยปัจจุบันถือว่าต่ำมากแล้ว

“มาตรการด้านการคลังตอนนี้ เน้นให้เกิดการใช้จ่ายเป็นสำคัญ ทั้งโครงการเราเที่ยวด้วยกัน โครงการคนละครึ่ง โครงการช็อปดีมีคืน เพื่อให้เกิดการใช้จ่ายอย่างต่อเนื่อง ส่วนด้านการเงินมาตรการพักชำระหนี้ของ ธปท. ที่หมดลง ก็ได้ปรับเป็นการช่วยเหลือแบบตรงจุดเป็นรายคนมากขึ้น ส่วนของสถาบันการเงินของรัฐ คลังได้สั่งให้ขยายมาตรการออกไปถึง มิ.ย. 2564” นายอาคม กล่าว

สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจในปีนี้ เชื่อว่าจะติดลบน้อยกว่าที่คาดการณ์ หลังจากดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจเริ่มปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง โดยไตรมาส 3/2563 จีดีพีติดลบที่ 6.4% น้อยกว่าคาดการณ์ที่คาดว่าจะติดลบ 7-10% ส่วนปี 2564 คาดว่าจีดีพีจะกลับมาโตเป็นบวกได้ที่ระดับ 4-5%

นายอาคม กล่าวว่า หลังสถานการณ์โควิด-19 ประเทศไทยจำเป็นต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและโครงสร้างภาษี เพื่อให้สามารถอยู่รอดได้ในโลกอนาคต โดยนำบทเรียนที่ได้จากโควิด-19 เช่น เรื่องเทคโนโลยี ธุรกิจโฮมดิลิเวอร์รี่ การช้อปปิ้งออนไลน์มาเป็นตัวเสริมเพื่อให้ไทยแข่งขันได้ในอุตสาหกรรมที่ไฮเทคมากขึ้น รวมถึงต้องให้ความสนใจเกี่ยวกับอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อุตสาหกรรมเกี่ยวกับความก้าวหน้าด้านการแพทย์และการดูแลสุขภาพที่ทันสมัย รวมถึงการลงทุนในอีอีซีด้วย

“การปรับโครงสร้างภาษีเพื่อให้มั่นใจว่าเราจะสามารถรองรับการใช้จ่ายในอนาคตได้ เพราะงบประมาณ 70% เป็นเรื่องรายจ่ายประจำ ตรงนี้ลดยาก มีทางเดียวคือการเพิ่มประสิทธิภาพผ่านการขยายฐานภาษี” นายอาคม กล่าว