posttoday

เสนอช่องออกพ.ร.ก.กู้เงินกันถังแตก

18 พฤศจิกายน 2563

คลัง เสนอแผนสำรอง ออกพ.ร.ก.กู้เงินเติมเงินคงคลัง ป้องกันรัฐถังแตก

นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กล่าวว่า ในปีงบประมาณ 2564 รัฐบาลยังมีช่องว่างในการกู้เงินกรณีรายจ่ายสูงกว่ารายได้ อยู่ประมาณ 1 แสนกว่าล้านบาท ซึ่งช่องว่างในการกู้เงินกรณีดังกล่าวนั้น เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดอยู่แล้วว่าสามารถทำได้ โดยกฎหมายกำหนดว่ากระทรวงการคลังสามารถกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณได้ 20% ของงบประมาณรายจ่าย บวกกับ 80% ของงบชำระคืนต้นเงินกู้ ซึ่งจะมีวงเงินอยู่ประมาณ 7 แสนกว่าล้านบาท

ทั้งนี้ ปีงบประมาณ 2564 เป็นงบประมาณแบบขาดดุล มีการกู้เพื่อชดเชยขาดดุล ประมาณ 6 แสนกว่าล้านบาท จึงยังเหลือช่องว่างอีกประมาณ 1 แสนกว่าล้านบาทดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม หากรัฐบาลมีความต้องการใช้เงินมากกว่านั้น จะต้องมีการตรากฎหมายพิเศษเป็นพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) เพื่อกู้เงินขึ้นมา ซึ่งเรื่องนี้ต้องขึ้นอยู่กับฝ่ายนโยบาย แต่ที่ผ่านมายังไม่เคยมีการตรากฎหมายพิเศษเพื่อกู้เงินชดเชยการขาดดุลเพิ่มเติม เคยมีแค่การจัดทำงบกลางเพิ่มเติมเท่านั้น

“รัฐบาลยังมีช่องว่างกู้เงินกรณีรายจ่ายมากกว่ารายได้ 1 แสนกว่าล้านบาท ส่วนจะกู้หรือไม่ ทั้งหมดต้องดูที่นโยบาย ตอนนี้ยังเร็วเกินไปที่จะพูด โดยหากดูภาพรวมของเศรษฐกิจที่ตอนนี้โตกลับมาเติบโตได้ดี ก็อาจจะเป็นไปได้ว่าผลการจัดเก็บรายได้จากภาษีก็อาจจะดีกว่าที่คาดการณ์” นางแพตริเซีย กล่าว

นางแพตริเซีย กล่าวว่า สบน. ต้องรอดูความชัดเจนเกี่ยวกับภาพรวมการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลไตรมาส 4ปีงบประมาณ 2564 ก่อน เพราะ สบน. จะเป็นหน่วยงานด่านสุดท้ายของภาครัฐที่จะดำเนินการกู้เงินหากกรณีรายได้ของรัฐบาลไม่เข้าตามเป้าหมาย จึงจะเดินหน้ากู้เงินกรณีรายจ่ายสูงกว่ารายได้

นางแพตริเซีย กล่าวอีกว่า ในปีงบประมาณ 2564 กระทรวงการคลังมีแผนการออกพันธออมทรัพย์ วงเงินรวม 1แสนล้านบาท โดยเบื้องต้นคาดว่าล็อตแรกจะดำเนินการได้ในช่วงหลังปีใหม่ วงเงิน 5 หมื่นล้านบาท ส่วนอัตราดอกเบี้ย ยังต้องรอดูแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบาย รวมถึงทิศทางตลาดด้วยว่าจะเป็นอย่างไร โดยแผนการออกพันธบัตรออมทรัพย์ของกระทรวงการคลังในปีงบประมาณ 2563-2564 อยู่ที่ 9 หมื่นล้านบาท -1 แสนล้านบาท เนื่องจากมีสถานการณ์พิเศษจากการระบาดของโควิด-19 จากปกติกระทรวงการคลังมีแผนออกพันธบัตรออมทรัพย์เฉลี่ยปีละ 5 หมื่นล้านบาทเท่านั้น

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เปิดเผยว่า การกู้เงินเพิ่มเติมเพื่อให้เพียงพอกับรายจ่ายในปีงบประมาณ 2564 ต้องรอดูภาพรวมการเก็บรายได้ทั้งการเก็บภาษี และการส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจ ถึงจะรู้ว่ายังมีเงินขาดมากน้อยขนาดไหน และต้องกู้เงินเพิ่มเติมให้เพียงพอต่อการใช้จ่ายเป็นจำนวนเท่าไร