posttoday

เศรษฐกิจไทยหนักสาหัสกว่าที่คิด

12 พฤศจิกายน 2563

ผู้ว่าแบงก์ชาติ ระบุเศรษฐกิจไทยแก้ยาก เพราะเจอทั้งมรสุมโควิดและหนี้ครัวเรือน

นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ปีนี้คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ที่ติดลบ 8% ขณะที่การส่งออกคาดว่าจะติดลบ 11% โดยอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 หนักที่สุด คือ ภาคการท่องเที่ยว มีสัดส่วน 11-12% ของจีดีพี และเป็นอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการจ้างงานถึง 20% ของการจ้างงานทั้งระบบ นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทยยังมีปัญหาซ้ำเติมจากเรื่องหนี้ครัวเรือน ที่เป็นปัญหาอยู่คู่กับไทยมาตั้งแต่ก่อนโควิด-19 เนื่องจากไทยเป็นประเทศที่ใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการกู้ยืม จึงทำให้หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นมาโดยตลอด ถือเป็นจุดเปราะบางของเศรษฐกิจ ทำให้รัฐบาลมีปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไขไม่ใช่เพียงแค่รายได้ของประชาชนที่ลดลงเท่านั้น แต่ยังมีเรื่องภาระหนี้สินอีกด้วย

“วิกฤติเศรษฐกิจในรอบนี้อาการหนัก แก้ยาก และต้องใช้เวลา เพราะปัญหาไม่ได้เกิดแบบกระจุก แต่เป็นแบบกระจาย โดยเฉพาะปัญหาเรื่องการว่างงานและรายได้ลดจากอุตสาหกรรมหลักอย่างท่องเที่ยวที่ถูกกระทบจากโควิด-19 ดังนั้นการแก้ปัญหาเพื่อให้เศรษฐกิจฟื้นจะต้องถูกจุด ไม่ใช่การเหวี่ยงแหที่อาจจะสร้างผลข้างเคียงที่ไม่ดี กลายเป็นการซ้ำเติมและสร้างปัญหาเพิ่มให้แก้ลำบากมากขึ้นได้ ดังนั้นการแก้ไขจึงต้องดูภาพรวมให้ดี แก้แบบถูกต้อง ไม่ใช่ถูกใจ ไม่เอาป็อบปูล่าโหวต ภายใต้เงื่อนไขเหล่านี้การออกมาตรการทั้งฝั่งการเงินและการคลังจึงต้องบาลานซ์ให้ดี” นายเศรษฐพุฒิ กล่าว

สำหรับเสถียรภาพในระบบการเงินยังอยู่ในระดับแข็งแกร่ง ทำให้มั่นใจว่าไทยจะผ่านวิกฤติเศรษบกิจรอบนี้ไปได้ โดยทุนสำรองและสภาพคล่องในระบบอยู่ในระดับสูง ฐานะการเงินของสถาบันการเงินอยู่ในระดับแข็งแกร่ง เงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (บีไอเอส) ที่ 19% แข็งแกร่งเป็นอันดับที่ 3 ของภูมิภาค ด้านการคลังยังเข้มแข็งไม่มีปัญหาอะไร แม้คนจะกังวลเรื่องสัดส่วนหนี้สาธารณะ แต่ตอนนี้ยังอยู่ระดับต่ำกว่าปี 2540 สะท้อนว่าฐานะการคลังยังเข้มแข็ง ระบบการเงินและสภาพคล่องยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ หากรัฐบาลต้องการจะกู้เงินก็ยังมีกระสุนที่จะทำได้