posttoday

รัฐบาลหลงทาง แก้เศรษฐกิจหมดหวัง

07 กันยายน 2563

รัฐบาลหลงทางติดใจเดินสายพบนักธุรกิจ โชว์ภาพแก้เศรษฐกิจ ที่มีแต่ข้อเสนอแต่ไม่มีมาตรการตอบสนอง

การเดินสายพบกลุ่มนักธุรกิจต่างๆ ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์ โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม และทีมงาน ทำให้ได้ภาพว่า นายกเอาจริงเอาจังกับการเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจอยู่ตลอดเวลา

ส่วนจะคาดหวังว่า การเดินสายดังกล่าวจะมีมาตรการออกมาเป็นชิ้นเป็นอันเพื่อการแก้ไขเศรษฐกิจ ตามที่ภาคธุรกิจต่างๆ เสนอเป็นเรื่องยากไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด

ล่าสุด สัปดาห์ที่ผ่านมานายกรัฐมนตรี เดินหน้าเชิญเอกชนร่วม workshop ระดมความคิดและวิธีขับเคลื่อนภาคธุรกิจสู่อนาคต รวดเดียววันเดียว 3 กลุ่ม ประกอบด้วย ภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ภาคธุรกิจค้าปลีกมากกว่า และ ภาคธุรกิจอีคอมเมิร์ซและโลจิสติกส์

การประชุมไม่ได้ข้อสรุป มาตรการต่างที่ทั้ง 3 ภาคธุรกิจ ขอให้รัฐบาลดำเนิน นายกบอกว่า จะเอาเข้าที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 หรือ ศบศ. พิจารณา ซึ่งจะมีการประชุมกันวันที่ 15 ก.ย. นี้ โดย ศบศ. มีกำหนดประชุมทุก 2 สัปดาห์ครั้ง

สัปดาห์ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีโชว์ความเป็นผู้นำเศรษฐกิจอย่างมาก หลังจากที่นายปรีดี ดาวฉาย ลาออกจากตำแหน่ง รมว .คลัง ทั้งที่ทำงานได้ไม่ถึงเดือน ประชุม ครม. ได้แค่ 3 นัด ประชุม ศบศ. ไปได้เพียง 1 นัด ทำให้รัฐบาลเสียหาย นักลงทุนประชาชนไม่เชื่อมั่นเสถียรภาพ และการบริหารเศรษฐกิจของรัฐบาล

นายกรัฐมนตรี แก้เกม โดยการสัปดาห์ที่ผ่านมาประชุม ศบศ. ออก 3 มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ได้แก่แจกเงินคนละ 3 พันบาท จำนวน 15 ล้านคน เพื่อซื้อของกินของใช้ในร้านค้า ขนาดเล็กรวมถึงร้านค้าเซเว่น ใช้งบจากเงินกู้ 4.5 หมื่นล้านบาท

นอกจากนี้ยังมีมาตรการให้จ้างงานนักศึกษาใหม่ 2.6 แสนคน ใช้เงินงบประมาณจากเงินกู้ 2.3 หมื่นล้านบาท และมาตรการ ให้ข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจหยุดงานได้อีก 2 วัน ไป เที่ยวในมาตรการเราเที่ยวด้วยกัน

ทั้ง 3 มาตรการ ยังเป็นกรอบที่ยังต้องสรุปรายละเอียด และ กลับมาเสนอให้ ศบศ. ในการประชุม สัปดาห์หน้า และยังต้องเสนอเข้า ครม. ยังต้องใช้เวลาอีกนานถึงจะมีเม็ดเงินหมุนลงไปในระบบเศรษฐกิจ

หากนับตั้งแต่ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ และ 4 ยอดกุมาร ลาออก จากรัฐบาล ใช้เวลา 1 เดือน ถึงตั้ง ครม. ได้ใหม่ ทำงานมาได้ ประมาณ 1 เดือน นายปรีดี ลาออกจากตำแหน่ง รมว.คลัง รวมแล้ว 2 เดือน ที่รัฐบาลไม่มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่ออกมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่เจอวิกฤตจากโควิด-19

ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา เศรษฐกิจหยุดนิ่งทรงกับทรุด เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ในส่วนของ 6 แสนล้านบาท เพื่อเยียวยาเศรษฐกิจ มีการใช้ไป 4 แสนล้านบาท ที่เหลือ 2 แสนบาท ถูกกองทิ้งไว้ เพราะรัฐบาลไม่รู้ว่าจะเอาไปทำอะไร

ในส่วนของเงิน 4 แสนล้านบาท เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจมีคนจอง ใช้เงินมาล้นเป็นล้านล้านบาท แต่วันนี้มีการอนุมัติโครงการ และมีการเบิกจ่ายเงินได้แค่หลักร้อยล้านบาทเท่านั้น

หรือจะเป็นเงินกู้ซอฟท์โลนของ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) 5 แสนล้านบาท ที่ปล่อยไปได้ 1 แสนล้านบาท เหลือถึง 4 แสนล้านบาท ที่รัฐบาลปลดล็อกไม่ได้ ทั้งเงื่อนไขของ ธปท. ที่เขียนไว้ให้ผู้ประกอบการเข้าไม่ถึง และธนาคารพาณิชย์เองก็ไม่อยากปล่อยกู้เพราะกลัวมีหนี้เสียมากขึ้น เพราะไม่เชื่อมั่นทั้งภาวะเศรษฐกิจจะดีขึ้น และความสามารถการชำระหนี้ของลูกหนี้ที่ดูแล้วไม่น่าไว้ใจ

ศบศ. ที่รัฐบาลตั้งขึ้นมา ที่จะเป็นเรือรบสำคัญในการกอบกู้วิกฤตเศรษฐกิจจากโควิด-19 แต่ก็มีการทำงานเหมือนเรือเกลือ มีการประชุม 2 สัปดาห์ครั้ง ทั้งที่ควรจะประชุมทุกสัปดาห์หรือ ทุกวัน เพราะเศรษฐกิจวันนี้สาหัสเอกชนรอไม่ไหว ลอยคอรอวันจนน้ำตายทุกภาคอุตสาหกรรม

นอกจากนี้ ใน ศบศ. ก็มีภาคเอกชนเข้ามาร่วม ทั้งสภาหอการค้า สภาอุตสาหกรรม ก็ได้รวบรวมข้อเสนอของภาคเอกชน ในภาคธุรกิจเข้ามาให้ ศบศ. พิจารณาอยู่แล้ว และทำไมนายกรัฐมนตรียังต้องเสียเวลาเดินสายพบนักธุรกิจอีก เพราะข้อเสนอก็เดิมๆ ฟังแล้วก็สรุปไม่ได้ต้องให้ ศบศ. พิจารณาอีกที เป็นการทำงานซ้ำซ้อนกันไปมา

นอกจากนี้ การทำงานของ ศบศ. ยังมีปัญหา นอกจากตอนนี้ ไม่มี รมว.คลังแล้ว โฆษก ศบศ. ที่นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งมาทำ งานได้สัปดาห์เดียว ก็ขอลาตำแหน่งบอกว่าถนัดงานวิชาการ มากกว่า ยิ่งตอกย้ำกว่าทำงานของ ศบศ. ยังไม่เป็นเอกภาพเปลี่ยนไปมาได้ตลอดเวลา

ยังไม่รวมกับ ศบศ. มีการตั้งคณะกรรมการติดตามเร่งรัด มาตรการที่ ศบศ. จะออกมา ซึ่งมีการตั้งคนนอกมาเป็นประธาน โดยตอนนี้คณะกรรมการนี้ก็ยังไม่มีอะไรทำ เพราะตั้งแต่มี ศบศ. มายังไม่มีมาตรการที่ผ่านการอนุมัติจาก ศบศ. ที่ออกมาปฏิบัติได้จริง

ภายใต้ ศบศ. ยังมีอนุกรรมการคิดมาตรกาเร่งด่วน มาตรการระยะยาว และมาตรการรายอุตสาหกรรม ซึ่งคนที่มาเป็นอนุกรรมการก็ยังงๆ ว่า จะมีอนุกรรมการขึ้นมาให้ยุ่งยากทำไม่ เสียเวลา เพราะปัญหาและมาตรการที่ควรทำก็รู้กันหมดแล้ว ว่าต้องทำอะไร แต่มีปัญหาอยู่ที่รัฐบาลเข็นมาตรการออกมาไม่ได้

เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงไม่แปลกที่นายกรัฐมนตรีเดินสายพบนักธุรกิจอีกครั้ง เพื่อให้เกิดภาพว่ารัฐบาลดำเนินการแก้ไขวิกฤตเศรษฐกิจตลอดเวลา ก่อนที่จะให้ ภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ภาคธุรกิจค้าปลีกมากกว่า และ ภาคธุรกิจอีคอมเมิร์ซและโลจิสติกส์ เข้าพบ ก็มีการให้ตัวแทน 7 สายการบิน เข้าพบ โดยผู้ประกอบการให้รัฐปล่อยกู้ซอฟท์โลนให้ โดยนายกรัฐมนตรีโยนไปให้ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) หรือ เอ็กซิมแบงก์ เป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งตอนนี้ยังไม่รู้กฎหมายให้ทำหรือไม่

กลยุทธ์ดังกล่าว นายกใช้มาตลอด 2-3 เดือน ที่ผ่านมา การเดินทางเข้าพบผู้บริหารสมาคมธนาคารไทย ที่ขณะนั้นนายปรีดี ยังนั่งเป็นประธานสมาคมธนาคารไทย นายกรัฐมนตรีก็ บอกว่าได้ข้อเสนอดีมากมายจะไปสานต่อ

การออกจดหมายถึง 20 นักธุรกิจ เพื่อขอให้ช่วยเหลือแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ก็ไม่ได้ช่วยให้เศรษฐกิจกระเตื้องขึ้นอย่างที่ นายกรัฐมนตรีคาดไว้ และประชาชนก็ไม่ได้รู้สึกว่านักธุรกิจดังกล่าวได้ช่วยอะไรให้เศรษฐกิจดีขึ้น

ยังมีการเดินสายพบสื่อสิ่งพิมพ์และสื่อออนไลน์ ที่นายกก็บอกว่าได้ข้อเสนอดีๆ ในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ แต่วันนี้ก็ยังเห็นมาตรการต่างๆ ออกมาอย่างที่ควรเป็น

ดังนั้นการเดินสายแก้เศรษฐกิจของนายกรัฐมนตรี น่าจะเป็นกลยุทธ์ที่ใช้ไม่ได้ เพราะวันนี้เศรษฐกิจไม่ดีขึ้น นักลงทุนนักธุรกิจยังไม่มั่นใจเศรษฐกิจ จากผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นธุรกิจของ ธปท. ก็ยังอยู่ระดับต่ำกว่า 50 และภาคธุรกิจที่ยังสาหัส ก็คืออุตสาหกรรมท่องเที่ยว ทั้ง โรงแรม และร้านอาหาร ที่รัฐบาลก็รู้ปัญหาอยู่เต็มอกมาแต่ไหนแต่ก็ยังแก้ไม่ตก

ปัญหาเศรษฐกิจทั้งหมด รัฐบาลไม่ควรเสียเวลากับการเดินสายอีกต่อไป ตั้งแต่มีศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 (ศบค.) นายกรัฐมนตรีก็ได้ตั้งภาคเอกชนจำนวนมากเข้าไปเป็นที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจ แม้แต่นายปรีดีเอง ก็นั่งในตำแหน่งนี้

การยังใช้วิธีเดินสายแก้ปัญหาเศรษฐกิจ เป็นยาหมดอายุ กินได้แต่รักษาไม่ได้ แถมอาจตายเพราะยาหมดอายุเป็นพิษ

ดังนั้นหากนายกรัฐมนตรี ยังใช้วิธีเดิมๆ แก้ปัญหาเศรษฐกิจรับฟังทั่วสารทิศ แต่ไร้มาตรการที่มีประสิทธิภาพในการกอบกู้วิกฤตเศรษฐกิจจากโควิด-19 เพิ่มเติมเป็นการเร่งด่วน จะส่งผลให้เศรษฐกิจที่เหลือของปีสาหัสกว่าครึ่งปีแรก โดยที่ไม่ต้องรอให้โควิด-19 ระบาดรอบสอง