posttoday

เคแบงก์ คาดเม็ดเงินลงทุนลดโลกร้อน 5.5 ล้านล้านดอลลาร์

31 สิงหาคม 2563

เคแบงก์ ไพรเวทแบงกิ้ง ผลักดันการลงทุนอย่างยั่งยืน คาดเม็ดเงินลงทุนลดโลกร้อน 5.5 ล้านล้านดอลลาร์

นายจิรวัฒน์ สุภรณ์ไพบูลย์ Private Banking Group Head  ธนาคารกสิกรไทย แนะเศรษฐกิจโลกกำลังเข้าสู่การปฏิวัติเพื่อความยั่งยืน (The Sustainability Revolution) และเปลี่ยนผ่านไปสู่รูปแบบที่สามารถสร้างความเติบโตโดยไม่ทิ้งร่องรอยความเสียหายให้กับโลก เพื่อมุ่งสู่ CLIC Econocy (Circular, Lean, Inclusive และ Clean) โดยภาคการลงทุนจะมีส่วนสำคัญในการสนับสนุนธุรกิจที่สร้างความยั่งยืนต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม และจากเป้าหมายร่วมของโลกในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้ได้ 50% ภายในปี 2573 ซึ่งหมายถึงโอกาสการลงทุนในอุตสาหกรรมที่เกียวข้อง โดยคาดว่าจะมีเม็ดเงินลงทุน เป็นเงิน 5.5 ล้านล้านดอลลาร์หรือประมาณ 173 ล้านล้านบาทต่อปี ในอีก 10 ปีข้างหน้า ณ สำนักงาน KBank Private Banking อาคารภิรัช ทาวเวอร์ แอท เอ็มควอเทียร์ เมื่อเร็วๆ นี้

ทั้งนี้ รูปแบบการดำเนินเศรษฐกิจที่สร้างความเติบโต โดยเน้นการผลิตและการบริโภคที่ใช้ทรัพยากรมหาศาล ก่อให้เกิดผลเสียต่อสภาวะแวดล้อมและสังคมเป็นอย่างมาก อีกทั้งยังเป็นสาเหตุหลักของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ยังถูกปล่อยออกมาในอัตราเดิมไปจนถึงสิ้นศตวรรษนี้จะสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจโลกคิดเป็นมูลค่าปัจจุบันถึง 550 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือมากกว่าขนาดเศรษฐกิจโลกโดยรวมในปี 2562 ถึง 7 เท่าเลยทีเดียว

สำหรับ การบรรลุเป้าหมายในการลดอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกต้องอาศัยทั้งการสร้างสรรค์เทคโนโลยีสะอาด ควบคู่ไปกับการปรับเปลี่ยนอุตสาหกรรมหนักที่ยังมีความจำเป็นต่อระบบเศรษฐกิจให้เปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืนมากขึ้น โดยมีแรงขับเคลื่อนหลัก 4 ประการ คือ

1) นโยบายจากภาครัฐ ที่จะเอื้อประโยชน์ต่อธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไปในทางสะอาดและควบคุมธุรกิจที่ทำลายสิ่งแวดล้อม เช่น การเก็บภาษีคาร์บอน (Carbon credit) ส่งผลให้ต้นทุนสูงขึ้น

2) ผู้บริโภค ที่มีความตระหนักรู้ต่อสถานการณ์และหลีกเลี่ยงการใช้สินค้าที่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

3) เทคโนโลยีที่พัฒนาอย่างรวดเร็วและมีราคาถูกลง เอื้อให้ธุรกิจสามารถสร้างกำไรไปพร้อมๆ กับความยั่งยืนได้

4) เงินของนักลงทุน ที่จะสนับสนุนบริษัทที่มุ่งสู่ความยั่งยืน โดยลอมบาร์ด โอเดียร์ (Lombard Odier) ผู้ให้บริการไพรเวทแบงก์ระดับโลกจากสวิตเซอร์แลนด์ที่ดำเนินธุรกิจมากว่า 220 ปี พันธมิตรของ KBank Private Banking ได้แบ่งธุรกิจที่มีศักยภาพไว้เป็น 2 ประเภท ได้แก่

1) ธุรกิจผู้ชนะในโลกที่มีการจำกัดปริมาณคาร์บอน (Carbon-constrained world) ได้แก่ ธุรกิจที่ผลิตสินค้าหรือให้บริการที่ตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Solution provider) โดยตรง เช่น พัฒนาซอฟต์แวร์ให้การใช้ไฟฟ้ามีประสิทธิภาพมากขึ้น รถยนต์ที่ใช้ไฟฟ้า เป็นต้น

2) ธุรกิจผู้ชนะในโลกที่ได้รับความเสียหายจากคาร์บอน (Carbon-damaged world) ได้แก่ กลุ่มธุรกิจที่นำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตในสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนไปจากภาวะโลกร้อน เช่น การสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่มั่นคงแข็งแรงขึ้น และธุรกิจที่วิเคราะห์ประเมินความเสี่ยงด้านการเงินจากปัจจัยด้านสภาพภูมิอากาศ เป็นต้น